หนังสือพิมพ์มิใช่อำนาจเพื่ออำนาจ

26 ต.ค. 2559 | 08:15 น.
พระบรมราโชวาทรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะกรรมการผู้บริหารสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม 2515 มีข้อความบางตอนว่า

.....“กิจการของสมาคมตามที่ได้รายงาน ก็ คือ ได้ขยายแผ่ออกไปภายในวงการกุศลด้านหนึ่ง และได้กล่าวถึงความมั่นคงของประเทศอีกด้านหนึ่ง สำหรับหน้าที่ของนักหนังสือพิมพ์ก็ค่อนข้างจะกว้างมาก และการกุศลกับการป้องกันประเทศ ก็อยู่ในหน้าที่เดียวกัน เพราะว่าอยู่ในบริการที่3 คือ บริการข่าว บริการเกี่ยวกับวิชาการ และเกี่ยวข้องกับในทางความคิดความเห็น ความมั่นคงของประเทศอยู่ที่ประชาชนแต่ละคนจะมีความเข้าใจดีในความเป็นประเทศในความสำคัญของการที่จะอยู่ด้วยกันด้วยความสามัคคี

ฉะนั้นหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ก็คือ จะต้องส่งเสริมความสามัคคี จะต้องอยู่ด้วยความอยู่เย็นเป็นสุขด้วยความสบาย คือ ประชาชนทั้งหลายต้องพยายามหาความสบาย และความสบายนั้นจะต้องไม่เบียดเบียนเพื่อนร่วมชาติพี่น้องร่วมชาติ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายหนังสือพิมพ์ที่จะบริการและที่จะส่งเสริมความสามัคคีนี้ โดยที่จะทำให้รู้จักซึ่งกันและกันในประเทศให้มากขึ้นในด้านการกุศล หรือการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย และมาฝึกในการบรรเทาสาธารณภัยนั้น ก็เป็นหน้าที่ของหนังสือพิมพ์อยู่เหมือนกัน เพราะว่าเกิดสาธารณภัยที่ไหน มีความเดือดร้อนที่ไหน ก็ต้องเสนอข่าวโดยเร็วเพื่อที่จะให้ผู้อื่นซึ่งไม่ประสบภัย และมีเจตนาที่จะมาช่วยเหลือสามารถที่จะทราบได้

ฉะนั้น งานของหนังสือพิมพ์กว้างขวางมาก มีหน้าที่รับผิดชอบในงานการของตนมาก และเมื่อมีงานการขึ้นมา ก็เป็นความรับผิดชอบของตนเองได้ตั้งเอาไว้เป็นการรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ถ้าดูในรายนี้และวิธีคิดนี้ คือ หนังสือพิมพ์และชาวหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย ทั้งผู้ที่ทำงานที่เรียกว่านักหนังสือพิมพ์ นักข่าว และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือพิมพ์ จึงมีหน้าที่ตั้งไว้ให้แก่ตัว ความรับผิดชอบที่ตั้งไว้ให้แก่ตัวนั้นเป็นความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ต่อส่วนรวม ถ้าคิดในแนวนี้และมาพิจารณาเปรียบเทียบกับที่ได้ฟังจากต่างประเทศว่า หนังสือพิมพ์มีอำนาจต่างๆ ที่จะจำอะไรๆ มีหน้าที่และมีเกียรติโดยเฉพาะมีอำนาจนี่เราต้องมาพิจารณาให้ดีว่า เหมือนกันหรือต่างกันกับที่เขาตั้งชื่อว่าหนังสือพิมพ์เป็นอำนาจอย่างหนึ่งในหมู่ชน และควรจะใช้อำนาจนี้ในทางไหน ถ้ามาสรุปดูเองก็คงเห็นได้ว่า มีความแตกต่าง คือ ถ้าเราคิดอย่างตรงไปตรงมาว่า หนังสือพิมพ์มีหน้าที่อย่างไร และตั้งหน้าที่อย่างที่กล่าวมา ตั้งหน้าที่แก่ตัวอย่างนั้น ก็ต่างกับที่เราฟังจากต่างประเทศว่าหนังสือพิมพ์เป็นอำนาจ

ความจริงก็เป็นอำนาจแต่เป็นอำนาจมิใช่เพื่ออำนาจ เป็นอำนาจเพื่อที่จะสามารถบริการส่วนรวมเพื่อสร้างความสามัคคี และสร้างสังคมที่มีชื่อมีแปมีความปึกแผ่น ถ้าใช้อำนาจเพื่ออำนาจ เพื่อที่จะขึ้นมาเหนือผู้อื่นก็ไม่ใช่เป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ขอให้ไปพิจารณาดูว่า การหนังสือพิมพ์นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างไร หรือเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างไร เสมือนกับได้แผ่เมตตาได้ช่วยเหลือผู้อื่น ได้กรุณาผู้อื่นนั้นเป็นกุศลกรรมและถ้าได้ทำตามหน้าที่ที่สมควรได้ตั้งแก่ตัวเองก็ได้ปฏิบัติกุศลกรรม เมื่อได้ปฏิบัติกุศลกรรมแล้ว ก็ย่อมต้องได้รับผลที่ดี คือ ความก้าวหน้า ความมั่นคง ความพอใจที่จะมีได้ แต่ถ้ามาตั้งรากฐานของหนังสือพิมพ์เป็นอำนาจเพื่ออำนาจ เพื่อที่จะอยู่เหนือคนอื่นแล้ว ก็ไม่ใช่กุศลกรรมแน่ เพราะว่าต้องเป็นการเบียดเบียน ขึ้นชื่อว่าอำนาจ และจะบังคับผู้อื่นให้อยู่ใต้อำนาจ ย่อมเป็นอกุศลกรรมแน่นอน เพราะว่าเบียดเบียนเสรีภาพของผู้อื่น

ข้อนี้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณา แต่เท่าที่ทราบจากรายงานก็เห็นว่า ตั้งมติไว้และตั้งจุดประสงค์เอาไว้ในทางที่ดีงาม ในทางที่สมเหตุแล้ว ก็ขอให้ปฏิบัติต่อไปด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความเห็นแก่ส่วนรวม และด้วยความเสียสละ ด้วยความตรงไปตรงมา จะได้เป็นประโยชน์ จะเป็นกุศลกรรมที่แต่ละคนที่เป็นสมาชิกของสมาคม และที่เกี่ยวข้องกบสมาคม ได้ทำที่ถูกต้องเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติและในที่สุดตนเองก็สามารถที่จะอยู่ในประเทศชาติที่เจริญ ที่มีความเรียบร้อยและมีความปึกแผ่นแนวความคิดนี้”.......

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559