ดอยช์แบงก์ผู้ถือหุ้นแย่ผู้ฝากไม่เป็นไร

07 ต.ค. 2559 | 14:00 น.
สัปดาห์ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์ในยุโรปราคาร่วงลงไปมาก โดยมีสาเหตุมาจาก "ดอยช์แบงก์" ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ประเทศเยอรมนี ออกมายอมรับว่า (16 กันยายน 2559) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาจะเรียกเงินคล้ายเป็นค่าปรับจากธนาคารเป็นวงเงิน 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยข้อหาดอยช์แบงก์ปล่อยขายพันธบัตร (Residential Mortgage Backed Security: RMBS) อย่างเลินเล่อ ทำให้ประชาชนเสียหาย เหตุเกิดเมื่อช่วงปี 2005-2007 ข่าวนี้ทำให้ราคาหุ้นดอยช์แบงก์ลดลงไป 8% พาเอาราคาหุ้นธนาคารในยุโรปที่ยังไม่ได้ตกลงกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯร่วงตามไปด้วย

แล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวเกี่ยวกับค่าปรับดอยช์แบงก์เกิดขึ้นมาอีก ประเด็นอยู่ตรงที่ดอยช์แบงก์จะขอให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาพิจารณาลดค่าปรับลงเหลือเพียง 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และข่าวนี้ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงินออกมาแถลงข่าว เพราะมีผลต่อการลงในในตลาดเงินตลาดทุนในไทยด้วยว่า

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้พิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดกับระบบสถาบันการเงินไทยแล้วพบว่า ธุรกรรมที่ ดอยช์แบงก์ ทำกับ ธนาคารพาณิชย์ ไทย ส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมเพื่อให้สภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ โดยเป็นตราสารอนุพันธ์ที่ไม่ซ้ำซ้อน และหากดอยช์แบงก์ประสบปัญหารายการเหล่านั้นมีข้อตกลงที่ต้องวางหลักประกันเพื่อจำกัดความเสียหายต่อคู่สัญญา

ธปท. ได้ประสานงานหารือกับ European Central Bank (ECB) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ดอยช์แบงก์โดยตรง สรุปได้ว่าฐานะและสภาพคล่องของ ดอยช์แบงก์ ยังไม่น่าเป็นห่วง เพียงแต่รายได้อาจไม่เป็นไปตามแผน โดย ดอยช์แบงก์ ยังคงมีสภาพคล่องในระดับสูง และเห็นว่ามีความเป็นไปได้ว่าค่าปรับที่ ดอยช์แบงก์ จะต้องจ่ายให้กับ กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ จะไม่สูงเท่าตัวเลขที่เป็นข่าวและน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกรณีของธนาคารอื่นที่เคยถูกปรับมาแล้ว ในช่วงนี้ ธปท. จึงจะได้มีการติดตามสถานการณ์ของ ดอยช์แบงก์ จาก ECB ให้ถี่และใกล้ชิดมากขึ้น

ความจริงเรื่องการปรับเงินแบบนี้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯก็มีการปรับเงินมาเป็นระยะอยู่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาก็โดนปรับ อาทิ มอร์แกน สแตนเลย์ จ่ายไป 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบงก์ ออฟ อเมริกา จ่ายไป 16,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนดอยช์แบงก์นั้นนักวิเคราะห์ประจำแบงก์กะว่า จะต้องจ่ายค่าปรับประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยตั้งสำรองไว้วงเงิน 5,500 ล้านยูโร หรือประมาณกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตั้งไว้สำรองเพียงครึ่งหนึ่งที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาเรียกค่าปรับ และยังมีองค์กรรัฐที่เรียกว่า Federal Housing Finance Agency ก็จะเรียกร้องอีกต่างหากด้วย เลยทำให้ดอยช์แบงก์ต้องร้องขอให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา พิจารณาลดค่าปรับลงมา และมีทีท่าว่าจะลดให้เสียด้วย แต่จะลดให้เท่าไหร่ยังไม่ทราบในเวลานี้

ปีที่แล้วดอยช์แบงก์ขาดทุนไป 6,800 ล้านยูโร ทำให้ราคาหุ้นของดอยช์แบงก์ต่ำกว่าราคาสินทรัพย์สุทธิ 30% และทุนสำรองขณะนั้นมีอยู่ 10.8% ของสินทรัพย์เสี่ยง แต่ซีอีโอของดอยช์แบงก์ก็ประกาศจะปรับทุนสำรองให้ได้ถึงระดับ 12.5% ของสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐานสากลในปี 2018 เพื่อทำให้ธนาคารดูมั่นคงยิ่งขึ้นนั่นเอง แต่การถูกเรียกค่าปรับสูงเกินประมาณการถึง 1 เท่าตัวเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารแน่นอน แต่จะไม่กระทบต่อผู้ฝากเงินครับ เพราะความเสียหายถูกจำกัดโดยการถือหุ้น ไม่ได้ลามไปถึงผู้ฝากเงิน อีกอย่าง "ดอยช์แบงก์" เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี มีหรือที่รัฐบาลเยอรมนีจะไม่เหลียวแล ที่สำคัญปัญหานี้ถูกจำกัดวงเฉพาะธนาคารแห่งนี้เท่านั้นไม่ได้รุกลามไปถึงระบบการเงินและการธนาคารของเยอรมนีแต่อย่างใด ความจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับดอยช์แบงก์ หรือธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกได้รับผลกระทบครั้งนี้ ล้วนแล้วเป็นผลกระทบมาจากวิกฤติการทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่าวิกฤติซับไพรม์ นั่นล่ะครับ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559