บล.KTBST มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ตลาดจับตาดูการประชุม  BOJ และ FOMC

19 ก.ย. 2559 | 04:50 น.
บล.KTBST มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (19-23 ส.ค.) ตลาดจับตาดูการประชุม  BOJ และ FOMC วันที่ 20-21 นี้ ดัชนีจึงเคลื่อนไหว sideway และมีอาจเป็นบวกใน 2 วันสุดท้ายของสัปดาห์ หาก Fed ไม่ขึ้นดอกเบี้ย แนะกลยุทธ์  “รอหุ้นขึ้นแล้วเล่นตาม”  หรือ “รอซื้อหากพักตัว”  มองดัชนีสัปดาห์นี้ แนวรับ 1,464 -1,451 แนวต้าน 1,500 - 1,521

ดร.วิน  อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST (Win Udomrachtavanich, Ph.D. Executive Chairman KTB Securities (Thailand ) Co., Ltd.)  เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ (19-23 ส.ค.) ภาพของตลาดหุ้นจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ วันจันทร์ดัชนีฯอาจลดลงจากที่ปิดตัวขึ้นไปมากเมื่อวันศุกร์ วันอังคารเป็นต้นไปตลาดจะเหมือนกับตลาดประเทศอื่นๆ คือชะลอเพื่อดูผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และสหรัฐฯ (FOMC) ทิศทางตลาดจะเคลื่อนไหวในลักษณะออกด้านข้าง (sideway) แต่ด้วยโมเมนตัมหรือแรงซื้อที่ยังมีต่อจะทำให้ดัชนีฯสูงขึ้นได้ และช่วงสุดท้ายคือหลังทราบผลการประชุม BOJ และ FOMC แล้วนั้น ตลาดสองวันสุดท้ายของสัปดาห์นี้ อาจเป็นได้ทั้งบวกและลบ แต่ บล.KTBST ประเมินว่าจะไปในทางบวกมากกว่าหากถ้า FOMC ไม่ขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ตัวแปรสำคัญๆของตลาดหุ้นทั่วโลกจะคล้ายๆกัน คือชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลการประชุมของ 2 ธนาคารกลางในวันที่ 20-21 ก.ย. แต่แรงขายหุ้นในตลาดต่างๆจะน้อยลง เพราะโอกาสที่สหรัฐฯจะปรับขึ้นดอกเบี้ยมีน้อยลง (Fed Fund Rate Implied Probability เดือน ก.ย.= 15%) อีกทั้ง BOJ นั้นอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาและปรับเพิ่ม QE จากเดิม 80 ล้านล้านเยนต่อปี (BOJ Total Assets ณ 10 ก.ย.เพิ่มขึ้น 73 ล้านล้านเยน จากปลายปีก่อน) ซึ่งผลการประชุมของธนาคารกลางทั้งสองแห่งแม้เราประเมินว่าน่าจะไปในทางบวกมากกว่า แต่คณะกรรมการของทั้งสองธนาคารอาจไม่ทำตามกระแสคาดการณ์ของนักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ ก็ได้

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบการประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้ง OPEC กับ ประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ที่กำหนดอย่างไม่เป็นทางการ 27 ก.ย. จะมีการให้ข่าวที่จะมีผลต่อราคาน้ำมันในแต่ละวัน ซึ่งจับตาดูว่าการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นในหลายประเทศของ OPEC จะมีผลให้การประชุมครั้งนี้อย่างไร อย่างก็ตามแม้จะมีการประชุมจริง แต่ผลอาจแค่พยุงราคาน้ำมันไว้ให้แกว่งในกรอบ $40-50 เหรียญเท่านั้น ไม่ขึ้นไกลกว่านี้เพราะปริมาณน้ำมันที่มีอยู่ (Supply) ไม่ได้ลดลงจากระดับปัจจุบัน จึงไม่คาดหวังอะไรกับการประชุมครั้งนี้ ดังนั้นหุ้นกลุ่มนำมัน-ปิโตรเคมี จะแกว่งตัวตามข่าวในแต่ละวัน

ส่วนกรณีที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้เรียกร้องให้ ธนาคาร Deutsche Bank จ่ายค่าปรับเป็นเงิน $1.4 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อยุติการสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (mortgage-backed securities ; MBS) ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตการเงินโลกปี 2008 กรณีนี้อาจมีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกได้

ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน ส.ค. คาดกันว่าจะทรงตัว (เดือนก่อน 60,635 คัน -0.4% YoY) จากเงินลงทุนจากภาครัฐ สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มมีสัญญาณคลี่คลาย รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จากค่ายรถยนต์ต่างๆ

ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์นี้ ทิศทางตลาดอาจจะจับจังหวะเล่นยากกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา หากวันจันทร์หุ้นปิดบวกหรือลบเล็กน้อยแนะนำถือหุ้นต่อ การเข้าลงทุนอาจรอให้หุ้นขึ้นแล้วค่อยเล่นตามหรือรอจังหวะซื้อหากมีการพักตัว โดยมองว่าหุ้นใหญ่น่าจะเคลื่อนไหวน้อยกว่าหุ้นขนาดกลาง-เล็ก จึงควรเน้นลงทุนที่หุ้นกลุ่มหลังไว้ก่อนหรือหุ้นที่นักลงทุนไทยเล่นกันเอง

"หุ้นที่แนะนำในสัปดาห์นี้ได้แก่ หุ้นที่คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลดี สม่ำเสมอ และได้ประโยชน์หาก Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปคือ  DIF , JASIF , EGCO หุ้นกลุ่มส่งออกหรือมีรายได้อ้างอิงกับดอลล่าร์ ได้แก่  KCE , TOG , BANPU หุ้นที่ระดับราคาปรับลงมาจนน่าสนใจ ได้แก่ TSE , PIMO , WICE , BCH , FSMART และหุ้นที่นักลงทุนต่างประเทศขายมากในปีนี้อย่าง DELTA , INTUCH , MAJOR กรอบดัชนีในสัปดาห์ มองแนวรับอยู่ที่  1,464 -1,451 ส่วนแนวต้านจะเป็น  1,500 - 1,521 จุด และมีจุด cut loss สำหรับคนเล่นสั้นอยู่ที่ 1,464 จุด"