กระทรวงแรงงานรุกพัฒนา SMEs เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างยั่งยืน

09 ก.ย. 2559 | 11:17 น.
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในการประธานในพิธีปิดโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยประจำปี 2559 วันนี้(9 ก.ย.0590) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ว่า  โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยประจำปี 2559 เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งที่ผ่านมานั้นสถานประกอบการมีปัญหาในเรื่องการสูญเสียต้นทุนโดยไม่จำเป็นอันเกิดจากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการของนายจ้างและแรงงานที่ขาดทักษะ

โครงการนี้จึงมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก และการสร้างความร่วมมือระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ตระหนักถึงการแก้ปัญหาร่วมกัน การพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีความรู้ ความเข้าใจ การรู้จักบทบาทของตนเอง และพัฒนาให้มีทักษะที่หลากหลาย (Multi skills) รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้สั้นลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ และการจัดการในรูปแบบ โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) มาใช้ในกระบวนการทำงาน และการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ  โดยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา มาให้ความรู้แก่สถานประกอบกิจการในการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นการสร้างองค์ความรู้แบบ ‘STEM Workforce’ (Science Technology Engineering Mathematics) ด้วยการนำความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม รวมถึงคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยปรับปรุงกระบวนงาน ซึ่งสถานประกอบการที่เข้าร่วมมีการสร้างนวัตกรรมใหม่  มีการปลูกฝังให้ลูกจ้างปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้สถานประกอบการและแรงงานมีความเข็มแข็ง เมื่อแรงงานมีประสิทธิภาพ ก็จะก่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างสมบูรณ์ โดยสามารถลดการสูญเสียต้นทุนการผลิตทีไม่จำเป็นได้ถึง 1,135,355,654.28 บาท ภายใน 8 เดือน และมีแรงงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ จำนวน 24,862 คน ทั้งนี้ มีสถานประกอบการประเภทSMEs และสถานประกอบกิจการที่มีพนักงานตั้งแต่ 201 คนขึ้นไปเข้าร่วมโครงการ จำนวน 260 แห่ง จาก 20 ประเภทธุรกิจ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้

หม่อมหลวงปุณฑริก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 กระทรวงแรงงานโดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังคงดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจ SMEs จำนวน 180 แห่ง โดยในปี 2560 นี้ มีเป้าหมายในการ Re-skill แรงงานทักษะต่ำ ไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีทักษะสูง ได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน นอกจากนี้ ยังมีกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ที่มีความประสงค์จะพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานเพิ่มเติม ก็สามารถขอยื่นกู้ต่อกองทุนฯได้ ซึ่งหากขอยื่นกู้ภายในเดือนมกราคม 2560 จะเป็นการกู้โดยปลอดดอกเบี้ย สำหรับสถานประกอบการที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ก็สามารถยื่นกู้ได้ด้วยเช่นกัน ถือเป็นกองทุนที่ส่งเสริมให้สถานประกอบการได้มีการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน