แบงก์ยันไม่ทิ้งลูกค้าเอสเอ็มอี ตั้งวงเงินช่วยเหลือเต็มที่ทั้ง 4 กลุ่มสนองนโยบายแบงก์ชาติ

26 พ.ค. 2559 | 12:00 น.
แบงก์แจงผลคืบหน้าช่วยเหลือเอสเอ็มอี 4 กลุ่มสนองนโยบายธปท. ยันช่วยเหลือเต็มที ด้าน "กรุงไทย" ระบุตั้งวงเงินอุ้มลูกค้าผลกระทบเศรษฐกิจกว่า 8.76 พันล้านบาท พร้อมสนับสนุนกลุ่มขยายการเติบโตในอาเซียน เน้นให้ความรู้ค้าขาย-เชื่อมสาขาหนุนลูกค้า ฟาก "ไทยพาณิชย์-กรุงเทพ" ยัน ลูกค้าซอฟต์โลนชำระหนี้ปกติ แย้มลูกค้ามีปัญหาพร้อมยืดหยุ่น ด้านตัวเลขธปท.เผยแบงก์ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้ากว่า 1.53 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.75% ของสินเชื่อเอสเอ็มอี

[caption id="attachment_56043" align="aligncenter" width="700"] การช่วยเหลือลูกค้า SMEs 4 กลุ่มของธนาคารกรุงไทย การช่วยเหลือลูกค้า SMEs 4 กลุ่มของธนาคารกรุงไทย[/caption]

นายอุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือให้ช่วยเหลือพิเศษ 4 กลุ่มโดยเริ่มจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นกลุ่มที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ แต่อาจจะมีปัญหา

ซึ่งวิธีการเข้าไปช่วยเหลือ จะเป็นเรื่องของการลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการผ่อนชำระตามกระแสเงินสดของลูกค้า เพราะถ้าลูกค้ามีสภาพคล่องจากการยืดหยุ่นการชำระหนี้ให้ จะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ประกอบที่ผ่านมามีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) อัตราดอกเบี้ย 4% ยิ่งทำให้ต้นทุนลูกค้าลดลง ซึ่งธนาคารได้มีทีมงานเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด โดยธนาคารแก้ปัญหาให้ลูกค้ากลุ่มนี้กว่า 150 ราย วงเงินรวม 8 พันล้านบาท รวมถึงโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกปี 2557/2558 วงเงิน 760 ล้านบาท

ส่วนกลุ่ม 2 กลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ (New/Start-up) ที่มีนวัตกรรม (รวมทั้งกลุ่มที่เคยประสบปัญหาหรือเลิกกิจการ และต้องการเริ่มกิจการใหม่) ลูกค้ากลุ่มนี้จะเริ่มใช้วงเงินสินเชื่อกับธนาคารไม่สูงมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ล้านบาท ซึ่งหากลูกค้าเข้ามาสินเชื่อธนาคารก็พร้อมพิจารณา อย่างไรก็ดี อาจจะต้องดูว่าลูกค้าทำธุรกิจอะไร เช่น สิ่งทอ ที่แนวโน้มยังไม่ดี ธนาคารก็จะแนะนำอย่าเพิ่งลงทุน รวมถึงการแนะนำความรู้เรื่องการทำบัญชี หรือการจับคู่ธุรกิจผ่านโครงการ KTB- MMS และการหาตลาดให้ผู้ประกอบการ โดยกลุ่มนี้ธนาคารมีโครงการสินเชื่อ SME Innovation ตั้งวงเงินไว้จำนวน 224 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตไปสู่ขนาดกลาง ธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเติม และหากลูกค้ารายใดมีแนวโน้มที่จะสามารถส่งออกได้ธนาคารจะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ในการช่วยเหลือและผลักดัน ประกอบกับการให้ความรู้เรื่องการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) หรือการทำหนังสือค้ำประกันเพื่อการส่งออก (L/C) โดยการเชื่อมโยงสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ในต่างประเทศในการช่วยเหลือทั้งในด้านตลาดและกฎหมายต่างๆ ซึ่งต่อยอดไปยังกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่มีความประสงค์จะขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) และตลาดต่างประเทศอื่น ซึ่งระยะแรกอาจจะต้องเป็นเรื่องการศึกษาตลาดและกฎหมาย แต่ระยะต่อไปธนาคารจะแนะนำลูกค้าขนาดใหญ่ของธนาคารให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้ามารับงานต่อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนเองในต่างประเทศ ซึ่งหากลูกค้าเอสเอ็มอีรายใดรับงานต่อจากลูกค้าขนาดใหญ่ ธนาคารจะปล่อยวงเงินสินเชื่อสนับสนุนเพิ่มเติม หรือลูกค้ารายใดต้องการขยายการลงทุนเองธนาคารก็พร้อมสนับสนุนการเติบโต

"ธนาคารให้การช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง แต่หากอยู่ในกลุ่มที่ธปท.ต้องการให้ช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจก็จะมีทั้งการปรับวงเงิน ตารางการผ่อนชำระ หรือการให้วงเงินเพิ่มเติม ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของลูกค้า เช่น ธุรกิจสิ่งทออาจจะเหนื่อย เพราะออร์เดอร์หาย เราก็เข้าไปช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี เวลาแก้หนี้ จะต้องดูเป็น Case by Case ไม่มีสูตรสำเร็จในการช่วย แม้จะเป็นธุรกิจเดียวกันก็ตาม"

นายอุดมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนทิศทางธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เช่น การส่งออกจากเดิมที่เติบโตติดลบ ปัจจุบันเริ่มกลับมาขยายตัวได้ ราคายางดีขึ้นจากเดิมไม่ถึง 40 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 50-60 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงราคาข้าวและมันสำปะหลังก็มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้เป็นช่วงการลงทุน ซึ่งจะเห็นรายได้กลับเข้ามาในช่วงปลายปี เพราะมีการเก็บเกี่ยวพืชผล ส่วนธุรกิจปกติที่ไม่เกี่ยวข้องกับพืชไร่ ธุรกิจเหมา-ก่อสร้าง ค้าวัสดุก่อสร้าง ค่อนข้างดี เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการลงทุนของภาครัฐผ่านโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงสถานพยาบาล-สุขภาพ และความงาม ค่อนข้างขยายตัวได้ดี จะเห็นว่าประเทศไทยได้รับความนิยมจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น จากปัจจัยเหล่านี้เชื่อว่าธุรกิจเอสเอ็มอีมีทิศทางที่ดีขึ้น

นายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า คุณภาพลูกค้ากลุ่มที่ใช้วงเงินซอฟต์โลนอัตราดอกเบี้ย 4% ปัจจุบันยังไม่พบปัญหา โดยลูกค้ายังคงชำระปกติ เนื่องจากลูกค้าที่เข้าโครงการส่วนใหญ่ถือเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ และสถาบันการเงินคัดกรองมาแล้ว อย่างไรก็ดี อาจจะมีบางกลุ่มที่จ่ายช้าบ้าง เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มจ่ายล่าช้าบ้าง ซึ่งธนาคารได้ให้ความยืดหยุ่นกับลูกค้า โดยขยายการพักชำระเงินต้นไว้ และให้ลูกค้าชำระดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันเดือนพฤษภาคมลูกค้าได้กลับมาชำระตามปกติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

[caption id="attachment_56042" align="aligncenter" width="326"] ศิริเดช เอื้องอุดมสิน ศิริเดช เอื้องอุดมสิน[/caption]

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า คุณภาพสินเชื่อในส่วนของโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่ธนาคารมีวงเงินรวม 2 รอบ อยู่ที่ประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันลูกค้าเริ่มทยอยชำระคืนปกติ ซึ่งอาจมีบางรายที่เข้ามาขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม เนื่องจากลูกค้าได้ประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ซึ่งธนาคารได้มีการพิจารณาปล่อยสินเชื่อตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี มีลูกค้าบางรายที่มีปัญหาเข้ามาขอความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ซึ่งธนาคารได้มีโปรแกรมที่ช่วยเหลือตามปกติ

อนึ่ง รายงานตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ามูลค่าการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์(ตั้งแต่ 19 พ.ค. 58) หลังจากที่มีประกาศให้ช่วยเหลือดูแลลูกหนี้เอสเอ็มอีมีมูลค่าทั้งสิ้น 153,902 ล้านบาท คิดเป็น 3.75% ของสินเชื่อเอสเอ็มอี ถือว่าเยอะพอควรเมื่อเทียบกับหนี้เสียของสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ 3.69% ทั้งนี้มูลค่านี้นับรวมการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วย โดยรูปแบบการปรับโครงสร้างหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการขยายระยะเวลาการชำระหนี้และการลดดอกเบี้ยเป็นหลัก

ขณะที่อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเอสเอ็มอีในไตรมาสที่ 1 สะท้อนการชะลอตัว โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.5% คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้าง 4.47 ล้านล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.6% เป็นผลมาจากการเร่งใช้วงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนตามมาตรการรัฐในช่วงปลายปี โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 1.72 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) มียอดคงค้าง 1.04 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559