กรมสบส.ประชุมผู้ประกอบการสปา-นวด ก่อนกฎหมายสปามีผลบังคับใช้ 27ก.ย. นี้

19 พ.ค. 2559 | 04:20 น.
วันนี้ (19 พฤษภาคม 2559) ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กทม.นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมสัมมนาผู้ประกอบการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กทม.และผู้ที่สนใจจะเปิดกิจการรวมกว่า 300 คน เพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เป็นไปตามมาตรฐานที่พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 หรือเรียกว่ากฎหมายสปา ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 131 วัน ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2559 ที่จะถึงนี้

นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า ตามกฎหมายฉบับนี้ จะมีผลควบคุมสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 3 ประเภท ได้แก่ 1.กิจการสปา ซึ่งเป็นการเสริมสร้างสุขภาพโดยใช้น้ำบำบัด นวดร่างกายเป็นหลัก และมีบริการอื่นเสริมอีกอย่างน้อย 3 อย่าง เช่น การประคบหินร้อน การอบซาวน่า (Sauna) แอโรบิก ฟิตเนส เป็นต้น 2) กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม เช่น นวดหน้า พอกหน้า และ3.กิจการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ที่ไม่ใช่การบำบัด รักษาโรค เช่น เนิร์สซิ่งโฮมดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ห้ามนำชื่อสถานประกอบการเหล่านี้ ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต กำหนดให้ผู้ที่ดำเนินกิจการดังกล่าว ต้องขึ้นทะเบียนและขอรับในอนุญาตจากกรมสบส. เพื่อคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์ของประชาชน เชื่อมั่นบริการว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง รวมทั้งเพิ่มโอกาสการแข่งขันด้านบริการสุขภาพในระดับนานาชาติด้วย

“ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการฯ ทุกแห่งทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมในการขอรับอนุญาตขึ้นทะเบียนสถานประกอบการฯ  โดยต้องมีมาตรฐาน 5 ด้านได้แก่ ด้านสถานที่ ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ การให้บริการ และความปลอดภัย ผู้ดำเนินการจะต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้ให้บริการ (therapist) ทุกประเภทจะต้องได้รับใบรับรองคุณวุฒิด้านการบริการเพื่อสุขภาพและขึ้นทะเบียนจากกรมสบส.กำหนดให้ทุกแห่งต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการในที่เปิดเผยเห็นง่าย มีผู้ดำเนินการอยู่ประจำ แสดงชื่อผู้ให้บริการทุกคน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ ผู้ดำเนินการรายใหม่ ยื่นขอรับใบอนุญาต จากกรม สบส.ได้ทันที ส่วนรายเก่าที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ต้องยื่นขอรับอนุญาตใหม่ภายใน 180 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี ชำระค่าธรรมเนียมทุกปี” นายแพทย์ธงชัยกล่าว

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 นี้ มีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรม สบส.ทั่วประเทศ รวม 1,605 แห่ง อยู่ในกทม. 253 แห่ง ที่เหลืออยู่ในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ร้อยละ 67 ให้บริการนวดเพื่อสุขภาพ รองลงมาคือสปา ร้อยละ 32 ในปี 2558 สำนักธุรกิจบริการและโลจิสติกส์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานมีชาวต่างชาติมาใช้บริการสปาในไทย มูลค่า 30,000 ล้านกว่าบาท เพิ่มจากปี 2556 ที่มีมูลค่า 25,000 ล้านกว่าบาท มั่นใจว่าเมื่อเรามีกฎหมาย มีการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มงวด จะทำให้ความเชื่อมั่นของไทยมากขึ้น

ด้านนายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวว่ากองสถานประกอบการฯ กำหนดจัดการประชุมชี้แจงผู้ประกอบการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประชาชนผู้สนใจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศดังนี้ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 3 มิถุนายน ภาคใต้ที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 7 มิถุนายน  ภาคกลาง ที่จังหวัดชลบุรี วันที่ 14 มิถุนายน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 20 มิถุนายน และวางแผนกำหนดจัดสอบผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ เพื่อออกใบอนุญาตผู้ดำเนินการประมาณเดือนพฤศจิกายน 2559