อุดรสนองรัฐจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรเพิ่มผลผลิต

18 พ.ค. 2559 | 13:00 น.
หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดอุดรธานี สนองนโยบายรัฐ นำโครงการโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร และการทำเกษตรแปลงใหญ่ ลงพื้นที่พร้อมถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตรรูปแบบใหม่ให้เกษตรกร ตั้งเป้าเป็น Smart Farmmer

[caption id="attachment_53963" align="aligncenter" width="700"] แผนที่ความเหมาะสมพืชเศรษฐกิจอ้อยโรงงานจังหวัด อุดรธานี แผนที่ความเหมาะสมพืชเศรษฐกิจอ้อยโรงงานจังหวัด อุดรธานี[/caption]

นายรักสกุล สุริโย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าได้ดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลเรื่อง“การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เพื่อส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูก ลดพื้นที่เพาะปลูก หรือการรวมแปลงและทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยตัวเกษตรกรจะทำหน้าที่บริหารจัดการกันเอง ส่วนฝ่ายราชการจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงตามแผนที่รัฐบาลกำหนดคือ ตั้งแต่ ปี 2558-2564

สำหรับแนวทางนั้นจะต้องจัดทำแผนที่และรายงาน เพื่อเสนอแนะแนวทางการใช้พื้นที่ประโยชน์ของที่ดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรกรรมในระดับตำบล/หมู่บ้าน โดยคาดว่าหากมีการดำเนินการแนวทางดังกล่าวไป จะทำให้มีแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติระดับตำบล-หมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน จะทำให้เขตพื้นที่เกิดการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในระดับตำบล/หมู่บ้าน เป็นไปอย่างยั่งยืน

ซึ่งโครงการแนวทางดังกล่าวของจังหวัดอุดรธานี ได้มีการลงมือดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ด้วยการทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลด้านศักยภาพ ด้านเศรษฐกิจและสังคม สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ ชลประทาน และการประเมินความเหมาะสมของที่ดินด้านการเกษตร เพื่อนำเอาไปจัดทำแผนที่และจำแนกความเหมาะสมของที่ดินในแต่ละพื้นที่ว่าพื้นที่ใด ควรเพาะปลูกพืชประเภทใด

ขั้นตอนที่ 2 (ปี 2559) ตั้งแต่เดือนมกราคม- กันยายน จัดส่งคณะทำงานระดับจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมดเพื่อให้ได้ความชัดเจนเหมาะสมว่า พื้นที่หรือเขตใดมีความเหมาะสมในระดับดับใด โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ระดับคือ ระดับมีความเหมาะสมมาก(S1) เหมาะสมปานกลาง(S2) เหมาะสมน้อย (S3) และไม่มีความเหมาะสมเลย (N) โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิต ด้วยการดำเนินการถ่ายทอดสู่เกษตรกรผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ 7 แปลง หรือศูนย์เรียนรู้ 20 ศูนย์ และในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกในระดับเหมาะสมน้อย (S3) และ ไม่เหมาะสมเลย(N) จะให้การแนะนำเพาะปลูกพืชเกษตรชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ หรือแนะนำให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่/เขต ไปประกอบอาชีพชนิดอื่นที่เหมาะสมแทน(ดูตัวอย่างแผนผังโซนนิ่งอ้อยประกอบ)

ขั้นตอนที่ 3 ตั้งแต่ปี 2560-2564 จะเป็นลักษณะการขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ หรือศูนย์เรียนรู้ โดยนำเอาวัตถุประสงค์ อุปสงค์ อุปทาน ทั้งหลายจากระดับตำบล/หมู่บ้านไปสู่ระดับประเทศ

นายรักสกุล กล่าวต่อว่าสำหรับศูนย์เรียนรู้จำนวน 20 ศูนย์ของจังหวัดอุดรธานี ได้มีการจัดตั้งไปครบทุกอำเภอ 20 อำเภอแล้วตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะให้มีการจัดตั้งทุกอำเภอจำนวน 882 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอทำหน้าที่เป็นประธานศูนย์ และมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง เป้าหมายคือการทำให้เกษตรกรเป็น สมาร์ทฟาร์มเมอร์( Smart Farmmer) ที่จะทำให้การเพาะปลูกพืชการเกษตรที่สำคัญของชาติ มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำการเกษตรจากรูปแบบเดิม เป็นเกษตรกรที่มีความรู้อย่างแท้จริงในการทำการเกษตร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559