กลุ่มทีวีดิจิตอลส่งสารถึงคสช.ร้อง 9 ข้อ /ขอใช้ม.44 บังคับกสทช.แก้ปัญหาลดผลกระทบหนัก

12 พ.ค. 2559 | 04:00 น.
ส.วิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์-ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ยื่นหนังสือต่อคสช. เรียกร้อง 9 ข้อ ขอให้คณะทำงานใช้อำนาจรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 แก้ไขปัญหาความล้มเหลวการเปลี่ยนผ่านทีวีเมืองไทย ส่งผลกระทบหนัก คาดใช้เวลา 15-20 วันได้ข้อสรุป

[caption id="attachment_51754" align="aligncenter" width="354"] เขมทัตต์ พลเดช  อุปนายกสมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี เขมทัตต์ พลเดช
อุปนายกสมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี[/caption]

นายเขมทัตต์ พลเดช อุปนายกสมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการ ประกอบด้วย บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน จำกัด บริษัท ทริปเปิลวี บรอดคาสท์ จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด บริษัท ไบร์ท ทีวี จำกัด บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด และบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลรวม 8 ราย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของการเปลี่ยนผ่าน การรับชมโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลของประเทศไทย ทั้งนี้ขั้นตอนการยื่นหนังสือจะใช้กระบวนการพิจารณาและให้ข้อสรุปประมาณ 15-20 วันนับจากวันที่ยื่น

“ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมาหลังจากผู้ประกอบการทั้ง 8 รายได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช.กับกลุ่มทำงาน ไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลได้ ตลอดจนยังมีการละเว้นและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร รวมถึงจงใจประมาทเลินเล่อให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่ไม่อาจดำเนินการได้ ขณะเดียวกันยังจัดประมูลผิดจากหลักเกณฑ์และหลักปฏิบัติสากลทั่วไป อันเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาต และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ประโยชน์สาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และประชาชน”

ธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง นอกจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีแล้ว ยังมีค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลเดือนละหลายล้านบาท ค่าจ้างพนักงาน ค่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ค่าสตูดิโอ อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งมูลค่าการลงทุนตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการจนถึงขณะนี้รวมมูลค่าที่ใช้จ่ายแล้วกว่าหลายพันล้านบาท ขณะเดียวกันธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากก่อให้เกิดการจ้างงานบุคลากรและสร้างรายได้ของประเทศจำนวนมาก รวมถึงข้อมูลข่าวสารและการรับชมช่องรายการที่มีคุณภาพอันเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านต่างๆได้

ทั้งนี้จากปัญหาต่างๆที่กลุ่มผู้ประกอบการจึงเข้ายื่นหนังสือถึง คสช.เพื่อให้หัวหน้าคณะ คสช.พิจารณาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ สั่งการดังต่อไปนี้ 1. ผ่อนผันกำหนดชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่งวดที่ 3 และงวดถัดๆไปโดยขยายระยะเวลาอีก 1 ปีโดยไม่คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 2.ขยายระยะเวลาใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ออกไปอีก 5 ปี เพื่อชดเชยกับระยะเวลาที่เกิดความล้มเหลวการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์ที่ผ่านมา 3.ออกประกาศกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปีแบบขั้นบันได 4.สนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณดาวเทียม

5.สนับสนุนการจัดทำระบบสำรวจความนิยม (Rating) และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดทำระบบสำรวจความนิยมใหม่ตามความเป็นจริงเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี 6.ควบคุม กำกับดูแล ตรวจสอบคุณภาพโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX) โดยเคร่งครัดและให้มีการเก็บค่าบริการโครงข่ายในอัตราที่เท่ากันทุกราย 7.ขยายระยะเวลาหมดอายุของคูปองสนับสนุนประชาชนไปจนกว่าการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลจะเสร็จสมบูรณ์ 8.จัดทำแผนการยุติการส่งสัญญาณระบบอะนาล็อกให้สมบูรณ์โดยเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือล้มเหลว และ9.มีมาตรการเกี่ยวกับการยุติการให้บริการทีวีดิจิตอล และการคืนใบอนุญาตเพื่อลดความเสี่ยงเชิงธุรกิจให้กับผู้รับใบอนุญาตในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่อาจประกอบธุรกิจต่อไปได้

การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ในการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอล ซึ่งน่าเสียดายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากสทช.กับคณะทำงานกลับไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการทั้ง 8 รายโดยกล่าวอ้างปัญหาข้อกฎหมาย ทั้งไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการดังกล่าวได้ เนื่องจากกลัวเป็นการเอื้อเอกชนรายใดรายหนึ่ง ทั้งๆที่การผ่อนผันและกำหนดมาตรการในการเยียวยากลุ่มผู้ฟ้องคดีจะเป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการรายใหม่ให้เท่าเทียม

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559