ผู้นำ 3 แบบ

22 มิ.ย. 2564 | 23:00 น.

Designing Your Family Business โดยรศ.ดร.เอกชัย  อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]     

สำหรับคนเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นการทำความเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้นำประเภทไหนเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจมาก เพราะการรู้ถึงจุดแข็งและลักษณะบุคลิกภาพจะสามารถช่วยกำหนดว่าคุณต้องการความช่วยเหลือในด้านใดมากที่สุด และสามารถช่วยในการเลือกพนักงานและผู้นำที่สามารถเติมเต็มข้อบกพร่องของคุณได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดความสามารถในการรองรับการขยายตัว การเติบโต และความคาดหวังที่สูงขึ้น

จึงอาจกล่าวได้ว่าการรู้ว่าตัวเองเป็นผู้นำแบบไหนคือกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร Solomon Thimothy ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ OneIMS แนะนำว่าในฐานะซีอีโอการมีคนรอบตัวที่ช่วยเสริมความสามารถในการเป็นผู้นำของคุณ เป็นวิธีเดียวที่จะเติบโตและขยายขนาดของธุรกิจได้ ทั้งนี้เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักมีรูปแบบภาวะผู้นำ 3 ประเภท ดังนี้

ช่างเทคนิค (The Technician) หากพิจารณาตามชื่อแล้วช่างเทคนิคก็คือ “คนงาน” (worker) ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน เจ้าของธุรกิจทุกคนต้องเป็นช่างในบางจุดหรือมากกว่านั้น แต่การใช้เวลากับธุรกิจมากเกินไปหมายความว่าคุณจะไม่ได้มีเวลามองไปข้างหน้า และหากคุณไม่ได้ทำงานในธุรกิจนี้ แสดงว่าคุณกำลังจำกัดศักยภาพและอนาคตของธุรกิจตัวเอง นอกจากนี้การเป็นช่างเทคนิคตลอดไปอาจส่งผลเสียต่อศักยภาพของธุรกิจ

แม้ว่าความต้องการเบื้องต้นทางการเงินและธุรกิจอาจทำให้คุณต้องเป็นหนึ่งในช่างเทคนิคด้วย แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าการเป็นช่างเทคนิคไม่ใช่บทบาทสูงสุดของคุณ คุณต้องสามารถสอนและมอบหมายงานให้คนอื่นได้ เพื่อที่จะได้ออกจากโหมดช่างเทคนิคและมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ และในฐานะช่างเทคนิค พันธมิตรที่ดีที่สุดของคุณคือผู้จัดการที่สามารถดูแลงานประจำวันได้ ดังนั้นการจ้างผู้จัดการที่ยอดเยี่ยมจะสามารถรับประกันได้ว่างานจะได้รับการดำเนินการ บรรลุเป้าหมาย และตรงตามกำหนดเวลา

ธุรกิจครอบครัว

ผู้จัดการ (The Manager) ผู้จัดการเปรียบเหมือนผู้อำนวยการของวงซิมโฟนี ที่ทำงานเพื่อให้ทุกเครื่องดนตรีทำงานประสานกัน ตั้งแต่การประสานงานไปจนถึงการจัดระเบียบและการสร้างระบบ ผู้จัดการจะทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ เหมือนเป็นเครื่องมือในการทำให้ภาพใหญ่มีชีวิตขึ้นมา แต่ทักษะการจัดการที่แข็งแกร่งในบางครั้งหายาก เนื่องจากการทำงานให้สำเร็จมักจะยากที่สุด แม้ว่าความสามารถในการจัดการทีมหรือทั้งแผนกเป็นสิ่งสำคัญ แต่เจ้าของธุรกิจต้องไม่มุ่งเน้นไปที่การประสานงานและการจัดการคน แต่ต้องมุ่งเน้นเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจ

หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจประเภทผู้จัดการ คุณต้องเปลี่ยนตัวเองและเริ่มมุ่งเน้นไปที่แผนธุรกิจในอนาคต ซึ่งอาจหมายถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือที่ตั้งใหม่ และจำเป็นต้องทำงานในธุรกิจนี้เพื่อก้าวไปสู่ระดับต่อไป นี่คือจุดที่ต้องมีฝ่ายปฏิบัติงานและคณะกรรมการเข้ามาช่วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะทำให้วิสัยทัศน์ระยะสั้นเกิดขึ้น และยังช่วยชี้นำหลายแผนกหรือหลายทีมให้ไปสู่เป้าหมาย
ร่วมกันได้
 

ผู้ประกอบการ (The Entrepreneur) ผู้ประกอบการหรือคนที่มี “ความคิดที่ยิ่งใหญ่” หรือ big idea เป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ เจ้าของธุรกิจประเภทผู้ประกอบการจะสร้างแนวคิดที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับสิ่งที่ธุรกิจสามารถทำได้และควรจะเป็น สร้างความน่าตื่นเต้นและเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนรอบตัวได้ พวกเขาต้องใช้เวลาอย่างมากในการคิดและมีพื้นที่ในการลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ได้แนวคิดที่ยิ่งใหญ่ต่อไป แต่การเป็นผู้นำประเภทผู้ประกอบการมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ในทางหนึ่งคือ การคิดไอเดียและความฝันที่ยิ่งใหญ่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่ความคิดที่ยิ่งใหญ่ก็อาจทำให้หงุดหงิดได้เช่นกัน หากไม่สามารถทำให้มันเป็นจริงได้ นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันที่จะต้องสร้างวิสัยทัศน์ทั้งในช่วงเวลาที่ดีและไม่ดีด้วย โปรดตระหนักว่าหุ้นส่วนที่ดีที่สุดของคุณคือผู้จัดการที่แข็งแกร่งซึ่งสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ เพราะหากไม่มีพวกเขา ความคิดของคุณจะสูญเปล่า ดังนั้นผู้จัดการที่มีความสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จได้จึงมีความสำคัญต่อเจ้าของธุรกิจประเภทนี้

ทุกธุรกิจต้องอาศัยทั้งช่างเทคนิค ผู้จัดการ และผู้ประกอบการจึงจะประสบความสำเร็จได้ ควรพิจารณาดูว่าคุณยังขาดคนประเภทใดและหาคนประเภทที่คุณต้องการมาไว้รอบตัว อย่าท้อแท้หากยังไม่มีคนทั้ง 3 ประเภทพร้อมกัน จงเชื่อว่าธุรกิจจะมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ เพราะการรู้ถึงสิ่งที่ขาดนั้นถือเป็นข้อได้เปรียบอยู่แล้ว

ที่มา: Thimoth, S. 2016. How Your Personality As A Business Owner Predicts Your Future Growth. Available: https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/2016/03/28/how-your-personality-as-a-business-owner-predicts-your-future-growth/?sh=5ab7cac84be8 ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :