“การบินไทย”ลุ้น“ศาลล้มละลายกลาง”นัดพิจารณาแผนฟื้นฟูวันนี้

27 พ.ค. 2564 | 18:30 น.

“การบินไทย”ลุ้นเฮือกสุดท้ายรอ"ศาลล้มละลายกลาง"นัดพิจารณาแผนฟื้นฟูวันนี้ หลังเจ้าหนี้ไฟเขียวโหวตผ่านแผน เสนอตั้ง 5 ผู้บริหารแผน 7 คณะกรรมการเจ้าหนี้

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2564) ศาลล้มละลายกลาง มีกำหนดนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คดีหมายเลขแดงที่ ฟฟ20/2563 ในเวลา 09.00 น.ซึ่งเป็นไปตามนัดหมาย หลังจากการประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ประมาณ 140,000 ล้านบาท ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติตามมาตรา 90/46 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

โดยมีเจ้าหนี้รวมกันร้อยละ 91.56 ของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหมด ที่เข้าร่วมประชุมและร่วมออกเสียง ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และแผนของเจ้าหนี้ 2 ราย คือธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด

รวมถึงยังมีมติขอแก้ไขแผนผู้บริหารแผนฟื้นฟู ที่จะมีทั้งหมด 5 คน ประกอบไปด้วย 1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย 2. นายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวงการคลัง 3. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการธนาคารกรุงเทพ 4. นายไกรสร บารมีอวยชัย อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และที่ปรึกษาด้านกฎหมายธนาคารกรุงเทพ5.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)

ทั้งยังแต่งตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้ทั้ง 7 คน ประกอบไปด้วย1.ตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2.กระทรวงการคลัง 3.นายชาติชาย โรจนรัตนางกูร (ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์) 4.พลตำรวจโทวิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล (ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์) 5.ดร.ประชา คุณธรรมดี (ตัวแทนกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์) 6.นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ ตัวแทนบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ7.ธนาคารออมสิน

การนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทยในวันนี้ ศาลล้มละลาย จะพิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยแผนการฟื้นฟูของการบินไทย ซึ่งอาจจะมีมติเลยในวันนี้ หรืออาจจะนัดหมายวันให้มารับฟังผลการพิจารณาในวันนัดครั้งถัดไป ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าในวันนี้จะมีใครมายื่นคำคัดค้านการพิจารณาดังกล่าวหรือไม่ หรือมีมาก-น้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตามหากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบด้วยแผน การบินไทยก็จะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ ภายใต้การดำเนินงานของผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งแผนทั้ง 3  ฉบับที่ผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหนี้ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน ก็เหมือนกับเอาทั้งหมดมากรุ๊ปรวมกัน และลงตัวพอดี ก็ทำให้การบินไทยเดินแผนฟื้นฟูได้ตามที่วางไว้

TG

โดยการโหวตผ่านแผนฟื้นฟูการบินไทยรวม 3 ฉบับของเจ้าหนี้ จากแผนฟื้นฟูมีการขอแก้ไขรวม 15 ฉบับ (ของเจ้าหนี้ 14 ฉบับ และการบินไทย 1 ฉบับ) ได้แก่

1.แผนฟื้นฟูของการบินไทย ที่ผู้ทำแผนเสนอไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม2564 รวมกับฉบับขอแก้ไขแผนเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ที่ขยายเพิ่มเรื่องแหล่งเงินใหม่และการตั้งคณะกรรมการกำกับสินเชื่อใหม่

2.แผนแก้ไขของธนาคารกรุงเทพ จำกัด  (มหาชน) ที่ขอเสนอผู้บริหารแผน 2 คนคือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ และนายไกรสร บารมีอวยชัย

3.แผนแก้ไขของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ที่มีเรื่องการแปลงดอกเบี้ยเป็นทุน การเสนอให้พิจารณาแยกบิสิเนส ยูนิตของการบินไทยเป็นบริษัทลูก และการเสนอตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์,นายพรชัย ฐีระเวช และผมเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู

อย่างไรก็ตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย หลังจากศาลศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผน ตามแผนฟื้นฟูระบุว่าภายใน60 วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผน การบินไทยจะปรับโครงสร้างทุน โดยลดทุนจดทะเบียนจาก 26,989.01 ล้านบาทเหลือ 21,827.72 ล้านบาท ด้วยการตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่าย 516.13 ล้านหุ้น จากนั้นจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 218,277.19 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 19,644.95 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท รวมมูลค่า 196,449.47 ล้านบาท

โดยจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้นให้เจ้าหนี้กระทรวงการคลังและหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้นและจัดสรรหุ้นไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้น ให้เจ้าหนี้สินเชื่อใหม่ภาคเอกชน (เจ้าหนี้สถาบันการเงิน)และหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

“การบินไทย”ลุ้น“ศาลล้มละลายกลาง”นัดพิจารณาแผนฟื้นฟูวันนี้

รวมถึงแนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นสินเชื่อใหม่ทั้งหมด มาจาก 2 ส่วนคือ 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินให้กู้ยืม และ/หรือ การคํ้าประกัน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐ หรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท

ส่วนอีก 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนจากเอกชนและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐหรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท

ข่าวเกี่ยวข้อง: