‘ฟู้ดสตาร์’ จ่อขยายพอร์ตเครื่องดื่มสายเขียว

22 พ.ค. 2564 | 22:35 น.

ฟู้ดสตาร์ ปรับแผนรุกตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จ่อเปิดตัวเครื่องดื่มผสมกัญชา กัญชงปลายปีนี้ ล่าสุดปั้น Deedo Max C ชิงตลาดน้ำผลไม้ผสมวิตามินซี หวังดันยอดขายรวมโต 20%

นางสาวจันทรา พงศ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ภายใต้แบรนด์ “ดีโด้” และ “มิกกุ” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมและมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมาตลาดน้ำผลไม้ Medium (น้ำผลไม้ 26-89%) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 34% สวนทางกับตลาดน้ำผลไม้โดยรวมที่ลดลง สะท้อนว่า ทั้งสองตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก

ฟู้ดสตาร์ จึงเล็งเห็นโอกาสการขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคใหม่ รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภคเดิมที่ภักดีต่อแบรนด์ดีโด้ ซึ่งเติบโตขึ้นและมีพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม Deedo Max C มาเพื่อตอบโจทย์นี้ โดยเพิ่มความเข้มข้นของน้ำผลไม้ขึ้นมาเป็น 40% ทำให้มีวิตามินซีเพิ่มขึ้นจากตัวน้ำผลไม้เองและวิตามินที่เติมลงไปเพิ่ม ส่งผลให้เซ็กเมนต์เปลี่ยนจากเดิมที่อยู่ในกลุ่ม super economy และ economy Fruit juice ขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม Mega แทน

การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ข้ามมาเล่นในเซ็กเมนต์ใหม่นี้เป็นไปตามแผนการปรับตัวของบริษัท หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิดตั้งแต่การระบาดในระลอกแรกต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้ในปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายราว 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายจากในประเทศ 80% ต่างประเทศ 20% ลดลงจากเดิม 30% และมีมาร์เก็ตแชร์ 36%

จันทรา พงศ์ศรี

ซึ่งเป็นผลจากการล็อกดาวน์ทำให้การขนส่งสินค้าเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะการส่งออก โดยตลาดหลักยังคงเป็น CMLV และเอเชียแปซิฟิก ส่วนในปีนี้บริษัทตั้งเป้าที่จะมีการเติบโต 20%
 

นอกเหนือจาก Deedo Max C บริษัทยังมีแผนส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาดในครึ่งปีหลังอย่างน้อย 4 รายการ ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ใหม่และช่องทางการจำหน่ายใหม่ที่บริษัทไม่เคยทำมาก่อนภายใต้แบรนด์ ดีโด้มิกกุ และแบรนด์ใหม่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชง กัญชา ที่คาดว่า ภายในสิ้นปี 2564 จะมีความชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ใด

อย่างไรก็ตามการเข้ามาของโควิด-19 ยังทำให้โอกาสในการทำการตลาดยากขึ้น เพราะแบรนด์ไม่สามารถจัดอีเว้นท์หรือสร้างการรับรู้ในกลุ่มโลคอลได้ บริษัทจึงหันมาใช้การสื่อสารในระบบดิจิทัล ควบคู่ไปกับการส่งหน่วยรถกระจายสินค้า เข้าไปถึงพื้นที่เล็กๆตามหมู่บ้านต่างๆเพื่อสร้างการรับรู้และกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภครวดเร็วขึ้น ทำให้บริษัทมีโอกาสเติบโต

“นอกจาก Deedo Max C บริษัทยังคงมีการพัฒนาสินค้าใหม่ทั้งในเซ็กเมนต์ใหม่ไปจนถึงแบรนด์ใหม่ แต่ก็ยังคงอยู่ในกลุ่มของน้ำผลไม้เป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้เพิ่มวิตามินซีลงไปในไลน์สินค้าเดิมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสอดรับกับเทรนด์การดูแลสุขภาพของผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มที่มีทั้งยักษ์ใหญ่และรายเล็กเข้ามาร่วมในตลาดโดยเฉพาะเมื่อมีเทรนด์กัญชา กัญชง ที่เข้ามาเกี่ยวเนื่องในเรื่องของสุขภาพ ก็ยิ่งทำให้การแข่งขันสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับกำลังการซื้อของผู้บริโภคด้วย”

จากข้อมูลนีลเส็น ระบุว่า ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มในปี 2563 มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท “ติดลบ” 5% ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือฟังก์ชันนอลดริ้งค์มีการเติบโต 9% โดยตลาดเครื่องดื่มวิตามินซีแบบช็อต เติบโตมากกว่า 106% และตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินเติบโต 106% เช่นกันส่งผลให้มูลค่าตลาดปิดปีที่ 2,159 ล้านบาท จาก 1,065 ล้านบาทในปีก่อน 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :