ไตรมาส2“เหนือ” นอนก้นเหว ลุ้นทยอยฟื้นครึ่งปีหลัง

22 พ.ค. 2564 | 00:10 น.

ธปท.ภาคเหนือ สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1 ยังคงหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน และช่วงถัดไปยิ่งหนักจากเชื้อโควิด-19 รอบเม.ย. ถ้าคุมเชื้อ-ฉีดวัคซีน ควบคู่รัฐเยียวยา-กระตุ้นต่อเนื่อง จะทยอยฟื้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 

ธปท.ภาคเหนือ สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1 ยังคงหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน และช่วงถัดไปยิ่งหนักจากเชื้อโควิด-19 รอบเม.ย. ถ้าคุมเชื้อ-ฉีดวัคซีน ควบคู่รัฐเยียวยา-กระตุ้นต่อเนื่อง จะทยอยฟื้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1/2564 และแนวโน้ม โดยชี้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1/2564 ยังคงหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกสอง ที่เริ่มกระทบมากตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค. 2563-ม.ค. 2564 แต่ละจังหวัดได้ใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวจากไตรมาสก่อน 

อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว รวมทั้งรายได้เกษตรกรปรับดีขึ้นตามผลผลิตที่ขยายตัว ขณะที่ราคาอ้อยโรงงาน ข้าว และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ช่วยให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทยอยหดตัวน้อยลง โดยการใช้จ่ายปรับดีขึ้นในกลุ่มสินค้าจำเป็น ขณะที่ความต้องการซื้อรถยนต์ขยายตัวในกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ จากลูกค้ากลุ่มเกษตรกรและการขนส่งสินค้าการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ผลผลิตน้ำตาลมีอ้อยเข้าหีบเหลื่อมมาเก็บเกี่ยวในไตรมาสนี้มากขึ้น 

 

 

ไตรมาส2“เหนือ”  นอนก้นเหว  ลุ้นทยอยฟื้นครึ่งปีหลัง

แต่หมวดเครื่องดื่มหดตัวเพราะกิจกรรมนอกบ้านและการท่องเที่ยวลดลง ขณะที่อาหารแปรรูปส่งออกลดลงเพราะมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ขนส่งล่าช้า การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดีแม้จะชะลอลงบ้าง โดยรายจ่ายประจำหดตัวเพราะปีก่อนฐานสูง ส่วนรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงต่อเนื่อง จากการเร่งเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมชลประทาน และกรมทางหลวงชนบท หมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหมวดครุภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข 

ด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง ตามการลงทุนก่อสร้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม สอดคล้องกับพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างบ้านเดี่ยวหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนเพื่อการผลิตกลับมาขยายตัวเล็กน้อย จากกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้า e-Commerce และสินค้าเกษตร รวมทั้งธุรกิจรายใหญ่บางรายยังนำเข้าเครื่องจักรอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคเหนือติดลบมากขึ้นจากไตรมาสก่อน ราคาสินค้าหมวดอาหารสดลดลงตามราคาข้าว ไข่ และผักสด ส่วนหมวดพลังงานปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง จำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 38 ยังอยู่ในเกณฑ์สูง

 

ไตรมาส2“เหนือ”  นอนก้นเหว  ลุ้นทยอยฟื้นครึ่งปีหลัง

นายธาริฑธิ์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2564 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย.มากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน เครื่องชี้เร็ว เช่น Facebook Movement Range ที่แสดงการเคลื่อนไหวของคน และ SiteMinder ที่แสดงการจองห้องพัก มีทิศทางหดตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มการระบาด อย่างไรก็ดี ผลผลิตภาคเกษตรยังมีแนวโน้มดี จากข้าวนาปรังตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง และสุกรยังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการผลิต

ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะทยอยฟื้นตัว โดยสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลุ่ม IC, PCB และ Semiconductor ได้รับผลดีจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกเป็นช่วงขาขึ้น และกระแส Work from Home ขณะที่สินค้าอาหารแปรรูปมีความต้องการต่อเนื่องจากต่างประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจภาคเหนือจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 ภายใต้ข้อสมมติว่า สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 และมีการกระจายวัคซีนได้ดี รวมทั้งภาครัฐใช้มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเหนือทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ 

ไตรมาส2“เหนือ”  นอนก้นเหว  ลุ้นทยอยฟื้นครึ่งปีหลัง

นภาพร ขัติยะ/รายงาน

ที่มา ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ไตรมาส 1 ปี 2564 ภาคเหนือ

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564