เศรษฐกิจใต้ไตรมาส1 ส่งออก ‘ฟื้นชัด’ ดึงอุตสาหกรรม “เร่งเครื่อง” เล็กน้อย

18 พ.ค. 2564 | 19:05 น.

ส่องเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2564 ยังหดตัว แต่อัตราลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ยอดส่งออกขยายตัวมากขึ้น จากความต้องการต่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นชัดเจนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ฉุดให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเล็กน้อย กำลังซื้อครัวเรือนเปราะบางคนยังตกงาน ภาคเกษตรฯเริ่มชะลอ ท่องเที่ยวยังติดกับ “โควิด”

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 หดตัวลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวมากขึ้นจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเล็กน้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 พฤษภาคม 25654 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2564 ยังคงหดตัว แต่มีอัตราลดลงจากไตรมาสก่อน โดยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกสอง ส่งผลให้กำลังซื้อครัวเรือนยังคงเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากแรงงานในระบบประกันสังคมที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงรายได้เกษตรกรขยายตัวชะลอลง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจึงยังหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเข้ามาช่วยพยุง 

นอกจากนี้การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงต้นไตรมาส อีกทั้งการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูง อย่างไรก็ดี อุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวมากขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย สอดคล้องกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวชะลอลง

เศรษฐกิจภาคใต้

เศรษฐกิจใต้ไตรมาส1 ส่งออก ‘ฟื้นชัด’ ดึงอุตสาหกรรม “เร่งเครื่อง” เล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน ตามกำลังซื้อครัวเรือนที่ยังคงเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากแรงงานในระบบประกันสังคมที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง เราชนะ รวมถึงรายได้เกษตรกรที่แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อน แต่ยังขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ช่วยพยุงกาลังซื้อได้บางส่วน โดยการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการด้านการท่องเที่ยว ของนักท่องเที่ยวชาวไทยหดตัวมากขึ้น จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกสอง ส่วนการใช้จ่ายหมวดยานยนต์หดตัวน้อยลง

ผลผลิตเกษตรกลับมาขยายตัวเล็กน้อย จากที่หดตัวในไตรมาสก่อน โดยผลผลิตทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน กลับมาขยายตัวเล็กน้อย ด้านผลผลิตกุ้งขาวหดตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวชะลอลงจากราคาปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับราคากุ้งขาว ส่วนราคายางพารายังขยายตัวได้ดี จากผลผลิตที่ยังมีไม่มากเมื่อเทียบความต้องการ ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวชะลอลงส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวชะลอลง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ ด้านการท่องเที่ยวในประเทศของชาวไทยแผ่วลงจากไตรมาสก่อน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกสองเป็นสำคัญ 

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวมากขึ้น จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเล็กน้อย จากที่หดตัวในไตรมาสก่อน ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้การผลิตในหมวดสินค้ายางพาราแปรรูป อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตถุงมือยางและการผลิตไม้ยางแปรรูปและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวชะลอลง หลังจากที่เร่งไปมากในไตรมาสก่อน

 

สัญญาณบวก

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวมากขึ้นเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพอิสระที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับมูลค่าจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาคก่อสร้างหดตัวมากขึ้น โดยผู้ประกอบการส่วนหนึ่งชะลอการลงทุนใหม่ จากความไม่แน่นอนเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคCOVID-19 ที่กระทบต่อกาลังซื้อของลูกค้าเป็นสำคัญ

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง จากราคาพลังงานที่หดตัวน้อยลงเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สะท้อนจาจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม ที่ยังอยู่ในระดับสูง

สมชาย สามารถ/รายงาน

 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง