การส่งออกเดือนมี.ค. 59 เป็นบวกต่อเนื่องที่ 1.3% YoY …ยังมีอานิสงส์หลักจากการส่งออกทองคำ และรถยนต์นั่ง

25 เม.ย. 2559 | 10:15 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง “การส่งออกเดือนมี.ค. 59 เป็นบวกต่อเนื่องที่ 1.3% YoY …ยังมีอานิสงส์หลักจากการส่งออกทองคำ และรถยนต์นั่ง”
ตัวเลขการส่งออกของไทยยืนอยู่ในแดนบวกได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยมูลค่าการส่งออกล่าสุดในเดือนมี.ค. 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.3 (YoY) ในเดือนก.พ. 2559 ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาส 1/2559 ขยายตัวร้อยละ 0.9 (YoY) ซึ่งนับเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยให้หลุดพ้นจากภาวะหดตัว คือ มูลค่าการส่งออกทองคำและรถยนต์นั่ง ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 234.8 (YoY) และร้อยละ 88.0 (YoY) ในไตรมาสแรกของปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี หากหักการส่งออกทองคำออกแล้ว ภาพรวมการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2559 ยังคงหดตัวลงร้อยละ 2.7 (YoY) ซึ่งสะท้อนว่า สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ยังคงไม่กระจายครอบคลุมออกไปยังสินค้าส่งออกตัวสำคัญอื่นๆ ของไทย
สถานการณ์การส่งออกของไทยเดือนมี.ค. 2559 ดีกว่าที่คาดติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนมี.ค. 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.3 (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน [ตลาดคาดที่ -4.6% YoY ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดที่ -1.1% YoY] นำโดย การส่งออกทองคำ (+262.5% YoY) รถยนต์นั่ง (+80.8% YoY) เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ (+28.9% YoY) แผงวงจรไฟฟ้า (+2.2% YoY) ข้าว (+7.3% YoY) และน้ำตาล (+6.0% YoY) ขณะที่ ตลาดส่งออกที่โดดเด่น คือ ตลาดอาเซียน-5 และออสเตรเลีย ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 12.4 (YoY) และ 5.2 (YoY) ตามลำดับ
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพรวมราคาสินค้าส่งออกที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ยังคงเป็นตัวฉุดรั้งกรอบการฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกของไทย โดยดัชนีราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลงร้อยละ -2.0 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2559 ซึ่งนอกจากจะสะท้อนภาพที่ติดลบลากยาวต่อเนื่องตลอดช่วง 37 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ยังลดทอนแรงหนุนของปริมาณการส่งออกสินค้าเดือนมี.ค. 2559 ที่สามารถประคองตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 (YoY)
อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดสำคัญมีสัญญาณอ่อนแอในเดือนมี.ค. ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ (-1.4% YoY) สหภาพยุโรป (-1.8% YoY) ญี่ปุ่น (-6.1% YoY) จีน (-5.4% YoY) และกลุ่ม CLMV (-6.9% YoY) ที่หดตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกัน และอาจบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่ท้าทายของการผลักดันมูลค่าการส่งออกที่เผชิญข้อจำกัดจากคำสั่งซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว และแรงกดดันในภาพรวมจากราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในระยะนี้

แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี 2559...ยังรอคอยสัญญาณการฟื้นตัวในสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากทองคำ ซึ่งอาจผันผวนตามภาวะราคาในตลาดโลก
หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำ แล้ว คงต้องยอมรับว่า ยังมีสินค้าส่งออกเพียงไม่กี่รายการ ที่อาจจะสามารถประคองสัญญาณการขยายตัวไว้ได้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี เช่น รถยนต์นั่ง ซึ่งทำราคาได้สูงขึ้นและขยายตัวได้ดีในตลาดออสเตรเลีย ตลอดจนบางประเทศในตะวันออกกลาง และอาเซียน ข้าว ซึ่งน่าจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการในตลาดจีนและอาเซียนเดิม 5 ประเทศ และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ ในตลาดอาเซียน
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณบวกดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับแรงฉุดของสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆ ที่แนวโน้มการฟื้นตัวยังไม่มีความชัดเจน โดยภาวะอุปสงค์ทั่วโลกที่ยังชะลอตัว ราคาน้ำมันตลาดโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน และปัญหาด้านโครงสร้างของภาคการผลิตในประเทศ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน (น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 10 ของการส่งออกรวม) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนกว่าร้อยละ 14 ของการส่งออกรวม) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (สัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของการส่งออกรวม)

ขณะที่ ตลาดส่งออกหลักที่ยังอาจจะหดตัวต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า น่าจะเป็นจีน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ) เพราะแม้สัญญาณเศรษฐกิจจีนจะเริ่มนิ่งมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะหลุดพ้นจากภาวะการชะลอตัว ขณะที่ การส่งออกไปญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุปกรณ์/ส่วนประกอบรถยนต์ อาจชะลอลงตามการหยุดสายการผลิตของโรงงานในญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV น่าจะยังถูกฉุดลงจากการหดตัวของสินค้าในกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2559 แม้การส่งออกในไตรมาส 1/2559 ที่พลิกกลับมาขยายตัวได้เหนือความคาดหมายที่ร้อยละ 0.9 (YoY) [จากเดิมที่คาดว่าอาจจะยังอยู่ในแดนหดตัว] จะช่วยลดโอกาสความเป็นไปได้ที่ตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปี 2559 จะหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ลง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 0 ตามเดิม (โดยมีกรอบคาดการณ์ในช่วงร้อยละ -2.0 ถึงร้อยละ +2.0) เนื่องจากประเมินว่า การฟื้นตัวของสินค้าส่งออกสำคัญของไทยอาจจะยังคงเป็นไปในกรอบจำกัดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกที่ยังอยู่ต่ำกว่าปีก่อน เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และข้อจำกัดในการตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลกของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์