‘เบลลินี่’  เขย่าตลาดเบเกอรี่  ปูพรม 100 สาขาในไทย  

19 เม.ย. 2564 | 10:12 น.

“ซีพี ออลล์” สยายปีกรุกตลาดเบเกอรี่ ปูพรม “เบลลินี่” ในไทย เมียนมาร์ กัมพูชา คาดปีนี้ขยายสาขาได้ 100 แห่งทั้งรูปแบบ Bake&Brew และ Grab&Go

นายชรัส ลิขิตคุณวงศ์ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและความสะอาดจึงมองหาสินค้าอบสด ปรุงใหม่ มากขึ้น โดยเฉพาะสาขาในทำเลพิเศษเช่น โรงพยาบาล โซนที่อยู่อาศัย ตลาดพรีเมี่ยม ที่มีการเติบโต 30-40% ทำให้บริษัทตัดสินใจรุกตลาดเบเกอรี่อย่างจริงจัง และเริ่มขยายสาขามากขึ้นจนถึงปัจจุบันมีสาขาราว 50 สาขา และมีแผนขยายเพิ่มอีก 100 สาขาภายในปีนี้ ทั้งในรูปแบบที่บริษัทลงทุนเองและแฟรนไชส์ในรูปแบบของร้าน Bake&Brew และ Grab&Go

โดยปัจจุบันเบลลินี่มีสัดส่วนร้าน Bake&Brew 90% และ ร้าน Grab&Go 10% ซึ่งบริษัทมองว่าการขยายร้านรูปแบบ Grab&Go เป็นโมเดลที่สามารถได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะเป็นร้านขนาดเล็กพื้นที่ 20 ตรม. ใช้ใช้งบลงทุนต่ำเหมาะกับย่านที่มีการจราจรหนาแน่นแต่พื้นที่จำกัด นอกจากการขยายสาขาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว บริษัทยังถึงโอกาสขยายสาขาในพื้นที่จังหวัดห่างไกลมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนสาขาในเขตกรุงเทพฯ 80% และต่างจังหวัด 20% ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์เดียวกับเซเว่นอีเลฟเว่น ทำให้สามารถกระจายวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งรักษาคุณภาพของวัตถุดิบให้สดใหม่และพร้อม อบสด ทุกวัน

เบลลินี

นอกจากนี้บริษัทมีแผนขยายการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น หลังจากได้รับความสนใจมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาร่วมลงทุนจำนวนมาก ด้วยจุดแข็งด้านระบบการบริหารจัดการ รวมถึงการช่วยดีไซน์ ตกแต่งร้าน คัดเลือกสินค้าและปรับให้เหมาะสมกับแต่ละโลเคชั่น มีแผนการทำตลาด เมนูพิเศษเฉพาะสาขา รวมถึงการใช้ซัพพลายเออร์ท้องถิ่น และการฝึกอบรมพนักงานร้านค้าจนมีความชำนาญ ทำให้ง่ายต่อการลงทุนและบริการจัดการ

อย่างไรก็ดีบริษัทมีแผนขายไลเซ่นส์ร้านเบลลินี่ให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศต่อเนื่อง โดยสาขาแรกในประเทศเมียนมาร์ และล่าสุดได้เซ็น MOU กับนักลงทุนเพื่อขยายสาขาในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

ชรัส ลิขิตคุณวงศ์

“ปีนี้จะเป็นอีกปีที่เบลลินี่รุกขยายตัวเร็วขึ้น เพราะผลดำเนินการเป็นบวกมาตลอด อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ยอดขายเติบโตต่อเนื่องคือเรื่องของสินค้า ด้วยเบเกอรี่ที่หลากหลายเป็นตัวนำและไม่หยุดพัฒนาสินค้าใหม่ๆตลอดเวลา แตกต่างจากแบรนด์อื่นในตลาดทั้งในเรื่องของเบเกอรี่อบสด ซึ่งความสดใหม่ของสินค้าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คนระมัดระวังในเรื่องของสุขอนามัย และวิถีชีวิตในรูปแบบนิว นอร์มอล ทำให้อาหารประกอบสดเป็นที่ต้องการและยังเติบโตได้อีกเยอะมาก”

สำหรับเบลลินี่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของร้านคัดสรร คาเฟ่ ธุรกิจเบเกอรี่อบสดและเครื่องดื่มในเซเว่น อีเลฟเว่นก่อนขยายออกมาเป็น เบเกอรี่ เฮ้าส์ ซึ่งมีสินค้าหลักคือ เบเกอรี่อบสด เมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งได้รับการตอบรับและมียอดขายเติบโตทุกปี ซึ่งภายหลังมีการเพิ่มเมนูเครื่องดื่มและอาหารเข้ามา เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 เบลลินี่จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักและยังมีการเติบโตส่งผลทำให้ธุรกิจโดยรวมเติบโตไปด้วย

เบลลินี

ทั้งนี้เชื่อว่าตลาดเบเกอรี่ในไทยยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบาย ต้องการอาหารพร้อมรับประทานและพกพาได้ง่าย ขณะเดียวกันเบเกอรี่ยังกลายเป็นเทรนด์ ที่ผู้บริโภคยุคใหม่ใช้รับประทานเป็นอาหารว่างทดแทนอาหารมื้อหลัก 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :