ธุรกิจแลกเงินล้มหาย 17 ราย

15 เม.ย. 2564 | 18:15 น.

โควิด-19 พ่นพิษ “ธุรกิจแลกเงิน” ปิดกิจการ-เปลี่ยนอาชีพ หายจากระบบ 17 ราย สมาคม TAFEX ผนึกสมาชิกนำไอที่เข้าช่วย รับสังคมไร้เงินสด แนะหาตลาดใหม่ “ตัวแทนโอนเงิน-ค้าชายแดน” ระหว่างรอท่องเที่ยวฟื้น

 

 

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้าโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย เพราะนโยบายปิดประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงักลง ความจำเป็นในการแลกเงินก็หายไปเช่นกัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานข้อมูลจำนวนบุคลากรรับอนุญาต หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (MoneyChanger) และการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 (ณ 31 มีนาคม 2564)พบว่า  มีบุคคลรับอนุญาต 2,365 ราย ลดลง 17 ราย จาก 2,382 รายเมื่อปี 2562 จากช่วงก่อนที่จะมีโควิด-19 ปี 2561 มีบุคคลที่ได้รับอนุญาต 2,260 ราย เพิ่มขึ้น 122 ราย

ขณะที่ธุรกรรมการซื้อและขายเงินตราต่างประเทศช่วง 3 เดือนแรกของปี 2464 อยู่ระหว่างการนำส่งข้อมูลต่อธปท. แต่การซื้อขายรวมสิ้นปี 2563 พบว่า มีปริมาณธุรกรรมรวมลดลง 60.66% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่ปี 2562 ปริมาณธุรกรรมรวมเพิ่มขึ้น 3.74% เมื่อเทียบกับปี 2561 

แหล่งข่าวจากผู้ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Money Changer)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมผู้ประกอบธุรกิจที่ลดลง มาจากการขอใบอนุญาตของธุรกิจโรงแรม บริษัททัวร์-นำเที่ยวที่ต้องปิดกิจการไป ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังทำธุรกิจสม่ำเสมอจะมีประมาณ 10% จากกว่า 2,000 ราย แต่หากไม่มีธุรกรรมตามที่ได้รับอนุญาตติดต่อกัน 2 ปี อาจถูกถอนใบอนุญาตอัตโนมัติตามเกณฑ์ของธปท.

กิจกรรมการท่องเที่ยวที่หายไป กระทบกับผู้ประกอบเป็นอย่างมาก และยอมรับว่า ในรอบปี 2564 ธุรกิจก็ยังมีแนวโน้มซบเซา เพราะไม่สามารถวางแผนสร้างรายได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นหลักได้เหมือนหลายปีที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกันปริมาณธุรกรรมซื้อขายเงินตราหน้าเคาน์เตอร์ทยอยลดลงด้วย เพราะคนหันไปใช้เดบิตการ์ด ทราเวลการ์ด หรือใช้วิธีการชำระเงินในรูปแบบอื่นตามพัฒนาการของระบบเทคโนโลยีและสังคมเงินสดที่ค่อยๆลดลง เห็นได้จากแม้กระทั่งธนาคารก็หันมาเล่นในตลาดนี้ เช่น ทีเอ็มบี ออกบัตรทราเวลการ์ด, Krungthai Travel Card, Kbank Journey และ SCB Planet

“ตอนนี้ทุกคนต้องดิ้น เพราะรายที่อยู่ได้ต้องมีสายป่านยาว และต้องปรับตัวหาตลาดใหม่ในรูปตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Agent) ซึ่งมี 2-3 รายได้รับอนุญาตจากธปท.แล้ว รวมถึงทำการค้าระหว่างประเทศหรือการค้าชายแดน เช่น ในกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงอินเดียและจีน บางแห่งยังชำระเงินสด” แหล่งข่าวกล่าว  

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือ TAFEX กล่าวยอมรับว่า ปริมาณธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินหน้าเคาน์เตอร์ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ลดจากหลักร้อยเหลือเพียงสิบราย แต่ขณะนี้เริ่มมีคนนำเงินสดที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศมาแลกบ้าง เนื่องจากไม่ได้เดินทางเป็นเวลานาน เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หากบางประเทศเปลี่ยนธนบัตรจะได้ไม่เสียโอกาสด้วย 

อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลเริ่มทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวในบางพื้นที่แล้ว เชื่อว่าเมื่อมีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ก็มีความจำเป็นต้องแลกเงินเป็นสกุลบาท เพราะเมืองไทยใช่ว่าจะสามารถใช้บัตรเครดิตในทุกที่ เช่น อาหารข้างทาง แต่แนวโน้มยอมรับว่า ทิศทางการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะปรับเปลี่ยนไปในช่องทางเทคโนโลยี หรือ ไอที มากขึ้น

“สถานการณ์เศรษฐกิจที่พลิกผัน จากผลกระทบทั้ง Disruption และโควิด-19 ทำให้แนวโน้มการถือเงินสดลดลง ไม่มีใครอยากสัมผัส เพราะกังวลปัญหาเชื้อโรคและความปลอดภัย สมาคมจึงมีแนวคิดที่จะปรับรูปแบบการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มาเสริมการทำธุรกิจ ควบคู่กับการรับซื้อและขายสกุลเงินต่างประเทศ หน้าเคาน์เตอร์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและปลอดภัย เพื่อรับกับสังคมไร้เงินสดด้วย” พ.ต.อ.สีหนาทกล่าว 

นายสมชาย พิพัฒนนันท์ อดีตนายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกล่าวเสริมว่า ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศต้องเตรียมความพร้อมด้านต่างๆรวมทั้งไอที เพราะแนวโน้มการท่องเที่ยวต่อไป การซื้อขายหรือให้บริการเทคโนโลยีหรือไอทีเป็นหลัก และรูปแบบการท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไป ซึ่งประเมินว่า อาจจะกินเวลาถึงปี 2566 จึงจะเห็นภาพจำนวนนักท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564