ไม่หวั่นโควิดระลอก 3 ลุ้นกำลังซื้อ Q2 โต

14 เม.ย. 2564 | 20:15 น.

ลุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคฟื้น หลังโควิด ระลอก 3 ถล่มเมือง มั่นใจรัฐบาลนายกตู่เอาอยู่ หลังกระจายฉีดวัคซีน พร้อมออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย ส่งผลไตรมาส 2 ยังเป็นบวก ก่อนขยับตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แนะธุรกิจปรับตัว เพิ่มมาตรการเซฟตี้ เรียกความเชื่อมั่น

การกลับมาระบาดของโควิด ระลอก 3 ในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เริ่มผงกหัวขึ้น กลับชะลอตัวอีกครั้ง

นายสุภัค หมื่นนิกร ประธานและผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร (Food Franchise Institute : FFI) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เชื่อว่าการระบาดของโควิด ระลอก 3 จะจบลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับรอบ 2 ด้วยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและการบริหารจัดการของรัฐบาล เพื่อจะให้ไม่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และกำลังซื้อของคนไทยที่มีอยู่ในขณะนี้

การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย แต่เชื่อว่าจะมาเร็ว เคลมเร็ว และรัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆออกมาเป็นยาแรง ที่บล็อกทุกอย่างให้จบภายใน 1-2 เดือน จึงไม่ส่งผลกระทบทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังคงเป็นบวก

ปัจจัยบวก-ลบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

“เชื่อว่ารัฐบาลเอาอยู่และต้องเร่งให้จบอย่างรวดเร็ว ด้วยมาตรการต่างๆที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นทั้งการฉีดวัคซีน มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศและการเปิดประเทศได้เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา
ซึ่งผู้ประกอบการ SME เริ่มฟื้นตัว จากการจับจ่ายของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น”

แนะปรับตัวสู้วิกฤติ

อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะเดินหน้าต่อจากหลายปัจจัยไม่ว่า การขยายธุรกิจในต่างจังหวัดซึ่งปัจจุบันมีแฟรนไชส์ร้านอาหารจำนวนมากที่เริ่มมองหาโอกาสในการขยายตลาดในต่างจังหวัด ซึ่งมีแพลต ฟอร์มดีลีเวอรีเข้าไปให้บริการจำนวนมาก ทั้งในจังหวัดหัวเมืองหลัก เมืองรอง และเมืองเล็ก ทำให้ธุรกิจยังมีการเติบโต , การตลาดนอกห้างที่ยังเติบโต ซึ่งพบว่าเชนร้านอาหารขนาดใหญ่เริ่มขยายสาขาไปยังนอกห้างมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นร้านสแตนด์อะโลน รวมถึงร้านในสถานีบริการน้ำมัน ยังเติบโต รวมถึงเทศกาลต่างๆที่กำลังจะตามมาทั้งช่วงเปิดภาคเรียน ที่จะมีเงินสะพัดอีกระลอก

ทั้งนี้ผู้ประกอบการเองต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถาน การณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ประกอบการขนาดกลาง สามารถเพิ่มการให้บริการแบบดีลีเวอรี คูปอง เป็นต้น ขณะที่รายเล็กก็ต้องปรับตัวเพื่อพยุงธุรกิจ ซึ่งภาพรวมเชื่อว่าจนถึงสิ้นปีเศรษฐกิจโดยรวมยังมีการ
เติบโตเพิ่มขึ้น

เดินหน้าร้านอาหาร

ขณะที่นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า การระบาดระลอก 3 ที่มาจากสถานบันเทิงและกระจายในหลายจังหวัด ทำให้กรุงเทพมหานครสั่งปิดสถานบันเทิงใน 3 เขตหลักได้แก่ เขตคลองเตย , วัฒนา และบางแค ตั้งแต่วันที่ 6 -19 เม.ย. เพื่อควบคุมการระบาดนั้น หากเหมารวมธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารให้ปิดบริการไม่เกิน 21.00 น. และห้ามขายแอลกอฮอล์ จะไม่เป็นธรรม เพราะสาเหตุไม่ได้เกิดจากร้านอาหาร แต่เกิดจากสถานบริการที่เปิดเกินเวลา และมีจำนวนคนเข้าไปใช้บริการแออัด

แตกต่างจากร้านอาหารและภัตตาคารที่ได้ทำตามกฏระเบียบของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด มีการเว้นระยะห่าง ตรวจเช็ควัดอุณหภูมิ สวมแมส มีการบริหารจัดการ ทำให้มั่นใจว่าร้านอาหารไม่เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโควิดอย่างแน่นอน และเพื่อเป็นการประคอง
ระบบเศรษฐกิจภาคเอสเอ็มอี ธุรกิจร้านอาหารและพนักงานลูกจ้าง จำนวนหลายหมื่นราย รวมถึงสตรีทฟู้ดอีกว่าแสนราย จึงอยากขอความเป็นธรรมและให้ดำเนินกิจการต่อไป

ปรับแผนปลุกมู้ด

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า เชื่อมั่นว่ากำลังซื้อและมู้ดของลูกค้ายังมีอยู่ แม้จะมีความกังวลบ้างแต่ลูกค้าจะยังคงมาทำธุระที่มีความจำเป็นที่ศูนย์ การค้าตามปกติ แม้ว่าทราฟฟิกอาจปรับตัวลดลงบ้าง จากที่ก่อนเกิดการระบาดอีกครั้งสามารถทำให้ทราฟฟิกกลับมามากกว่า 80% (ยกเว้น tourist mall) อย่างไรก็ดีศูนย์ยังให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมการตลาด เช่น Live Shopping เพื่อสร้างกระตุ้นยอดขาย รวมถึงการจัดอีเว้นต์ต่างๆ

เครื่องใช้ไฟฟ้าสะพัด

นายกฤษฎา วัฒนารักษ์สกุล ผู้อำนวยการ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า เดิมหลายคนกังวลเรื่องกำลังซื้อว่าจะมีปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ แต่กลายเป็นว่าความต้องการของลูกค้ากลับเพิ่มมากขึ้น ความต้องการที่เกิดขึ้นในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปีที่แล้วสูงมากเพราะฉะนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ สินค้าหลายๆ ตัวเริ่มขาดตลาด ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก

ดังนั้นคาดว่าในแง่ของดีมานด์และกำลังซื้อยังคงมีอยู่ แต่การเลือกซื้อสินค้าพิจารณามากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องดูสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งหลังจากเทศกาลสงกรานต์ และคนเริ่มเดินทางได้เพราะขณะนี้คนเดินทางไม่ได้คนก็เอาเงินมาใช้ซื้อของเข้าบ้านแทน
แต่เมื่อเริ่มเดินทางคนใช้เงินในการท่องเที่ยวมากขึ้นอาจจะทำให้เม็ดเงินที่นำมาซื้อของใช้เข้าบ้านลดลง 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564