ผู้โดยสารเครื่องบิน“โตต่อเนื่อง” อุดรฯยืนแผน“สมาร์ทแอร์พอร์ต”

12 เม.ย. 2564 | 06:10 น.

คนเดินทางผ่านสนามบินอุดรธานีฟื้นต่อเนื่อง 5 สายการบินขอเที่ยวบินเพิ่มจนมีตารางบินไป-กลับทะลุ 60 เที่ยวบินต่อวัน สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ยันการพัฒนายกระดับสนามบินยังเดินตามแผนสู่ปี 2570 รับผู้โดยสารปีละ 7.2 ล้านคน  

คนเดินทางผ่านสนามบินอุดรธานี ฟื้นต่อเนื่อง 5 สายการบินขอเที่ยวบินเพิ่มจนมีตารางบินไป-กลับทะลุ 60 เที่ยวบินต่อวัน สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ยันการพัฒนายกระดับสนามบินยังเดินตามแผนสู่ปี 2570 รับผู้โดยสารปีละ 7.2 ล้านคน

 

นายกำแหง สายวิภู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุดรธานี เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถิติผู้โดยสารใช้บริการของท่าอากาศยานอุดรธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2562 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากจำนวน  722,587 คน  มาอยู่ที่ 2,647,392 คน มีเที่ยวบินให้บริการในปี 2562 จำนวน 18,815 เที่ยวบิน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบรุนแรง เกิดการล็อกดาวน์ คนหยุดการเดินทาง จนแทบต้องปิดสนามบิน บางวันมีเที่ยวบินไป-กลับเพียง 6 เที่ยวบินเท่านั้น  กำแหง สายวิภู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุดรธานี

ตั้งแต่ต้นปี 2564 สถานการณ์การเดินทางในประเทศกระเตื้องเป็นลำดับ ล่าสุดเมื่อ 2 เม.ย.2564 มีเที่ยวบินขาเข้า 25 เที่ยว ขาออก 25 เที่ยว รวมเป็น 50 เที่ยวบิน/วัน  สายการบินต่าง ๆ ยื่นขอตารางบินเพิ่มถึงคณะกรรมการจัดสรรตารางบินกรมท่าอากาศยาน เฉพาะของท่าอากาศยานอุดรธานี ที่มีสายการบินให้การบริการทำการบินจากท่าอากาศอุดรธานี 5 สาย ได้ยื่นขอตารางบิน ไป-กลับ เพิ่มอีกเป็นจำนวน 60 เที่ยวบิน/วัน 

“ซึ่งจะทำให้มีเที่ยวบินมากกว่าก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 เพื่อเตรียมรองรับการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และมาตรการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงโควิค-19 ในรูปแบบ  New Normal และมาตรการ Next Normal ของรัฐบาล” ผอ.ท่าอากาศยานอุดรธานีกล่าว

 

ส่วนการพัฒนายกระดับท่าอากาศยานอุดรธานีที่ผ่านมานั้นกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ได้มีการดำเนินไปตามแผนการ
โครงการที่วางเอาไว้มาโดยตลอด ทำให้ในปัจจุบันนี้เป็นท่าอากาศยานที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ชั่วโมงละ 1,200 คน หรือปีละ 3.4 ล้านคน มีเส้นทางทำ
การบินจากท่าอากาศยานอุดรธานี ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศจำนวน 7 เส้นทาง มีหลุมจอดเครื่องบินขนาดแอร์บัส เอ 320 ได้พร้อม ๆ กันถึง 11 หลุมจอด  

ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ผู้รับเหมาที่ได้รับสัญญางานซ่อมบำรุงผิวทางวิ่งทางขับตามวาระ งานก่อสร้างทางเดินเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสาร Aและ B การปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร งานก่อสร้างห้องน้ำเพิ่ม 5 แห่ง งานก่อสร้างบันไดเพิ่มอีก 5 ตัว จะเริ่มเข้ามาดำเนินการตามสัญญา เมื่อแล้วเสร็จจะอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ และเพิ่มประสิทธิภาพศักยภาพของท่าอากาศยานอุดรธานีได้อีกมาก  

ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 (แผนงานปี  2565-2570) ด้วยเงินงบประมาณ 2,035 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ชั่วโมงละ 2,500 คน หรือปีละ 7.2 ล้านคน อยู่ในแผนการพัฒนาในระยะต่อไป แม้การแพร่ระบาดเชื้่อโควิด-19 ที่คาดกันว่าธุรกิจกิจการบินจะกลับมาเป็นปกติในปี 2567 แต่การเดินทางผ่านสนามบินอุดรธานีฟื้นตัวเร็ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องยืดแผนพัฒนาสู่การเป็นสมาร์ทแอร์พอร์ตออกไป 

สนามบินอุดร

“อุดรธานีมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากที่ชาวอุดรธานีออกไปทำงานต่างประเทศสูงที่สุดของประเทศ นำเงินรายได้เข้ามาสู่จังหวัดเป็นจำนวนมาก ทำให้จังหวัดสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ด้วยตนเอง แม้เจอผลกระทบด้านเศรษฐกิจ แม้ไม่หวือหวาแต่ก็มั่นคง ส่งผลดีมายังธุรกิจการบินด้วย เพราะการเดินทางด้วยเครื่องมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งมาเลือกใช้การเดินทางด้วยเครื่องบิน เนื่องจากประหยัดเวลา รวดเร็ว แม้กระทั่งคนงานที่จะต้องเดินทางไปตรวจโรคที่กรุงเทพฯเพื่อการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก็ยังใช้บริการของเครื่องบิน” นายกำแหงฯกล่าว 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง