กขค.ขอศาล 15 วัน แจงควบ‘โลตัส’

10 เมษายน 2564

ซีพีควบโลตัสส่อหนังยาว กขค.เตรียมทำหนังสือถึงศาลปกครองขอขยายเวลาเป็น 15 วัน ทำคำชี้แจงโต้แย้งองค์ผู้บริโภค หลังศาลมีมติรับคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายด้านมูลนิธิผู้บริโภคลุ้นศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ยังส่อยืดเยื้อหลังคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ด้วยเสียง 4 ต่อ 3 อนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมธุรกิจกับเทสโก้ โลตัส โดยเข้าซื้อในวงเงินกว่า 3.38 แสนล้านบาท และมีเงื่อนไขให้ทางกลุ่มซีพีปฏิบัติ 7 ข้อเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้าซึ่งต้องรายงานผลต่อ กขค.ทุก 3 เดือน ท่ามกลางเสียงคัดค้านขององค์กรผู้บริโภครวมถึงภาคธุรกิจบางส่วน ที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางระบุการควบรวมธุรกิจดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ล่าสุดศาลปกครองกลางได้มีมติรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมทั้ง 36 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคจากทั่วประเทศหลังพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูล โดยศาลฯได้มีหนังสือแจ้งมติดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เมื่อวันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2564 ซึ่งสขค.ได้แจ้งให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กขค.รับทราบเรื่องแล้ว

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (ประธานบอร์ด กขค.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ศาลฯได้ให้เวลา กขค. 7 วันในการทำคำชี้แจงโต้แย้งคำฟ้องดังกล่าว ซึ่งเห็นว่าเป็นเวลาที่กระชั้นชิด และต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลคำฟ้องที่หนาเป็นปึกที่ศาลฯส่งมาเพื่อดูในรายละเอียดว่ามีประเด็นอะไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้นักกฎหมายของสำนักงานฯ รวมถึงคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้มีเวลาพิจารณาศึกษารายละเอียดข้อมูลของผู้ฟ้องเพื่อจัดทำคำชี้แจงได้ตรงประเด็นมากขึ้น ในเบื้องต้นจะหารือกันในวันที่ 8 เมษายนนี้ เพื่อทำหนังสือขอขยายเวลาศาลฯในการทำร่างคำชี้แจงเป็น 15 วัน

“เมื่อศาลพิจารณาคำชี้แจงประกอบข้อมูลของผู้ฟ้องแล้ว หากสมมุติเห็นว่าชอบด้วยกฎหมาย การควบรวมธุรกิจก็จะเดินหน้าต่อไป ภายใต้ 7 เงื่อนไขที่เราให้เขาปฏิบัติ แต่หากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องอย่างไร ศาลก็ต้องบอกว่าไม่ถูกต้องประเด็นไหน จะให้แก้อะไรก็ต้องบอกมา เพราะกรรมการถือว่าได้ทำหน้าที่จบไปแล้วในการอนุญาตการควบรวมธุรกิจ ซึ่งได้ทำตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่สุดท้ายหากสมมุติว่า ศาลฯมีคำสั่งว่าให้ยกเลิก (การควบรวมธุรกิจ) ก็จะส่งผลบกระทบต่อธุรกิจที่ได้มีการควบรวมไปแล้ว ผลที่จะตามมาคือทางกขค.อาจจะถูกเอกชนฟ้องได้ ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลตัดสินของศาลจะออกมาอย่างไร อย่างไรก็ดีในขั้นตอนการพิจารณาของศาลทางกขค.ยินดีที่จะไปชี้แจงหากศาลต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

ขณะที่หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีมติรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค และผู้บริโภคจากทั่วประเทศ ซึ่งศาลฯได้ขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจงรวมถึงเอกสารประกอบว่าหากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองในเหตุพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน จะเกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาแก้ไขอย่างไร ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องได้ร้องขอให้ศาลฯ ไต่สวนและมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ศาลขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจง พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลฯภายใน 7 วัน หลังได้รับหมายนั้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า ล่าสุดทางกลุ่มได้รับหมายเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ในวันที่ 7 หรือ 9 เมษายนนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค ผู้บริโภคจากทั่วประเทศ และทีมนักกฎหมายจะนัดประชุมกันเพื่อพิจารณาทำคำชี้แจงต่อศาล

“เหตุผลหลักที่เราเห็นว่าการควบรวมธุรกิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทำให้มีอำนาจเหนือตลาด เมื่อมีอำนาจเหนือตลาดก็ควรเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่ใช่มาพิจารณาในประเด็นว่าผูกขาดหรือไม่อีก และมีประเด็นเรื่องกรรมการ กขค.เสียงข้างน้อยที่ไม่มีสิทธิ์ในกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ควบรวมธุรกิจปฏิบัติ ซึ่งคดีคงว่าไป แต่ช่วงแรกศาลจะพิจารณาว่าจะให้ความคุ้มรองชั่วคราวหรือไม่” 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กขค.รับทราบมติศาลรับคำฟ้องซีพีควบรวมโลตัสไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ตรวจการแผ่นดินรับตรวจสอบ “ซีพีซื้อโลตัส” ไม่เป็นธรรม

องค์ผู้บริโภคฟ้องศาลปค.สั่งเพิกถอนมติควบรวม“เทสโก้-บ.ซีพี”