สบส.ส่งทีมวิศวกรโยธาประเมินความพร้อมรับแผ่นดินไหวของ รพ.ในพื้นที่เสี่ยง 22 จังหวัด

19 เม.ย. 2559 | 09:45 น.
บ่ายวันนี้ (19 เมษายน 2559) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในเขตรอยต่อของเปลือกโลก แต่ก็มีพื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อน หรือเป็นดินอ่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวถึง 22 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้ให้กองแบบแผน จัดโครงการเสริมกำลังต้านแผ่นดินไหว โดยส่งทีมวิศวกรโยธา เข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคารของโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเริ่มในพื้นที่เสี่ยงใกล้รอยเลื่อนทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก เฝ้าระวังความมั่นคงโครงสร้างอาคารเก่าของโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2540 และอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้มีความแข็งแรงสามารถต้านทานการสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหวได้ ซึ่งในระยะแรกของโครงการจะเน้นที่การปรับปรุงโครงสร้างของอาคารหอผู้ป่วยหนัก ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง หลังจากนั้นจะขยายผลไปยังอาคารผู้ป่วยนอกและหอพักผู้ป่วย-เจ้าหน้าที่ต่อไป ส่วนอาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ขณะนี้ได้ออกแบบให้เป็นอาคารต้านแผ่นดินไหว ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจแก่บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนผู้ใช้บริการของโรงพยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมง

“จากการตรวจสอบเบื้องต้นขณะนี้พบว่าอาคารของโรงพยาบาลมีความมั่นคงเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามทีมวิศวกรโยธาจะดำเนินการ ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และหากพบว่าอาคารใดมีความเสี่ยงก็จะดำเนินการออกแบบปรับปรุงให้มั่นคงและก่อสร้างให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างมั่นใจ” อธิบดีกรม สบส.กล่าว

นอกจากนี้กรม สบส.ได้จัดทำคู่มือการตรวจสอบงานออกแบบสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ออกแบบโดยบุคคลภายนอก เพื่อใช้เป็นกรอบมาตรฐานในการออกแบบการก่อสร้างโรงพยาบาล ที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ในพื้นที่ 22 จังหวัดได้ ภาคเอกชนที่สนใจสามารถนำคู่มือนี้ไปใช้ได้เช่นกัน โดยติดต่อที่กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ