กระทรวงคลังเตรียมเสนอโครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุ

19 เม.ย. 2559 | 09:36 น.
รายงานข่าวจากสำนักบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์กระทรวงการคลัง   เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 เห็นชอบกรอบการดำเนินโครงการบ้านประชารัฐ โดยกระทรวงการคลังจะเสนอแนวทางและรูปแบบการดำเนินโครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป

โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ มีกรอบการดำเนินโครงการในหลักการเดียวกับกรอบการดำเนินโครงการบ้านประชารัฐตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบการดำเนินโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบนที่ดินราชพัสดุ ในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ,เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว,เพื่อให้ผู้ที่ต้องการซ่อมแซมและหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ,เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านการพัฒนาโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์

ระยะเวลาโครงการ ระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ  กลุ่มเป้าหมาย  เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน รวมทั้งผู้ที่ต้องการซ่อมแซมและหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุ โดยคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ  เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน รวมทั้งผู้ที่ต้องการซ่อมแซมและหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุ โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสินทำหน้าที่คัดกรองคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ สามารถดำเนินการได้ทันที จึงได้กำหนดโครงการนำร่องปี พ.ศ.2559 บนที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของกรมธนารักษ์ จำนวน 6 แปลง เนื้อที่ 105-0-86 ไร่  ดังนี้ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร สองแปลง เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา, ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 1 แปลง เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา, อ.แม่จัน จ.เชียงราย 1 แปลง เนื้อที่ 30 ไร่, อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี สองแปลง เนื้อที่ 59 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา
กระทรวงการคลังคาดว่าการดำเนินโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ จะเพิ่มโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง มีการดำเนินการซ่อมแซมและหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุ  เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ (Value Chain) ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจจากที่ดินราชพัสดุที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าที่ดินราชพัสดุ