7 แอร์ไลน์ รอความหวังซอฟท์โลน 1.4หมื่นล้าน ไทยแอร์เอเชีย ดันสร้างรายได้ airasia.com

30 พ.ย. 2563 | 11:23 น.

ไทยแอร์เอเชีย ยังรอความหวังซอฟท์โลน หลัง7สายการบิน ปรับลดวงเงินกู้จาก2.4หมื่นล้านบาทเหลือ1.4หมื่นล้านบาท ทั้งดันสร้างรายได้จาก airasia.com รุกอีคอมเมอร์ซ ตอกย้ำเป็นมากกว่าแค่สายการบิน

     

     นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สายการบินไทยแอร์เอเชีย ยังคงรอความหวังการขอซอฟท์โลนจากรัฐบาล หลังจาก 7สายการบิน เอกชนของไทย ได้ขอปรับลดการขอสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน จากรัฐบาลลดลงจาก2.4หมื่นล้านบาทเหลือ1.4หมื่นล้านบาท 
     โดยขอกู้เงินสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงานของทั้ง7สายการบินเท่านั้น เพื่อพยุงการจ้างงาน เฉพาะไทยแอร์เอเชีย มีพนักงานกว่า7พันคน ส่วนไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์อยู่ราว900-1,000คน
      ทั้งนี้ 7สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยเวียตเจ็ท ไทยสมายล์ บางกอกแอร์เวย์ส ได้ยื่นข้อเสนอซอฟท์โลนใหม่ที่ได้มีการปรับลดลงจากเดิมให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเมื่อ2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
     โดยตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ปฏิเสธ ทั้ง7สายการบินก็ยังรอความหวังอยู่ และอยากให้รัฐบาลอนุมัติซอฟท์โลนโดยเร็ว เพราะแม้สายการบินจะทำการบินเส้นทางบินในประเทศได้ แต่คาดว่าในปีนี้จะผู้โดยสารเพียง9.3ล้านคน จากปีที่ผ่านซึ่งอยู่ที่22.15ล้านคน

7 แอร์ไลน์ รอความหวังซอฟท์โลน 1.4หมื่นล้าน ไทยแอร์เอเชีย ดันสร้างรายได้ airasia.com
     แม้นับจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สายการบินจะสามารถใช้เครื่องบินได้เพิ่มเป็น40-42ลำแล้ว แต่ก็ยังต้องจอดอยู่อีกร่วม20ลำ เพราะยังไม่เปิดบินได้ตามปกติ และก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะฟื้นเหมือนเดิมเมื่อไหร่

    วันนี้ยอมรับว่าการเปิดบินในประเทศที่เกิดขึ้น แม้เราจะมีผู้โดยสารในประเทศที่ดีขึ้น คาดว่าจะอยู่ที่ 4ล้านที่นั่งในเดือนธันวาคมปี63 ใกล้เคียงกับเดือนมกราคมปี63ก็ตามแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เกิดขึ้น เพราะรายได้หลักมาจากการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ 
    "ปีนี้คาดว่าสายการบินไทยแอร์เอเชีย จะมีรายได้ปี63 เกิดขึ้นอยู่ที่1.6หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น40%ของรายได้ในปี62ซึ่งอยู่ที่4.1หมื่นล้านบาท โดยในช่วง9เดือนแรกปีนี้สายการบินมีรายได้1.2หมื่นล้านบาท ขาดทุน3.6พันล้านบาท"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 แอร์ไลน์ ลดซอฟต์โลนเหลือ 1.2 หมื่นล้าน ขอกู้จ่ายเงินเดือนพนักงานข้ามปี

     สิ่งที่ไทยแอร์เอเชียทำได้คือการบริหารกระแสเงินสด รักษาสมดุลเงินเข้ามาและออกไป แต่ก็ยอมรับว่าพึ่งแต่ตลาดในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกวันนี้เงินก็ไหลออกอยู่ จึงอยากให้รัฐพิจารณาซอฟท์โลน โดยเร็ว เพราะวันนี้สำหรับไทยแอร์เอเชียก็พยามยามที่จะยืนให้ได้นานที่สุดหรือLast man standing

      ส่วนการขายตลาดต่างประเทศ ไทยแอร์เอเชียก็ทำได้ในบางเที่ยวบิน เช่น การลูกค้ากลุ่มเมดิคัลจากมาเก๋า (จีน)จำนวน49คนเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลของกลุ่มบีดีเอ็มเอส ซึ่งเป็น1ใน11กลุ่มต่างชาติที่รัฐบาลผ่อนปรนให้เดินทางเข้าไทยได้

    ดังนั้นนอกจากรายได้จากการบิน เราก็มองหารายได้จากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะ airasia.com ที่จะเป็นซุปเปอร์แอพ ที่ขายทุกอย่าง ที่จะพัฒนาให้เป็นอีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบ และ ฟินเทค ไม่ใช่เฉพาะการขายตั๋วเครื่องบินของแอร์เอเชียเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต

7 แอร์ไลน์ รอความหวังซอฟท์โลน 1.4หมื่นล้าน ไทยแอร์เอเชีย ดันสร้างรายได้ airasia.com
    โดยมุ่งเป้าว่าในช่วง5ปีข้างหน้า airasia.com จะทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน50%ของรายได้ทั้งหมดของแอร์เอเชีย กรุ๊ป
    airasia.com เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของแอร์เอเชีย ที่ตอกย้ำความเป็นมากกว่าสายการบิน โดยเปิดให้บริการหลายอย่าง เน้นความเป็นอีคอมเมิร์ซ เช่น  “SNAP” บริการตั๋วเครื่องบินพร้อมโรงเเรมที่พัก “HOTEL” บริการโรงเเรมที่พัก “FlyBeyond” บริการจองตั๋วเครื่องบินไปยังจุดหมายปลายทางที่มากกว่าเส้นทางบินของแอร์เอเชีย “ACTIVITY” กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ และ “UNLIMITED DEAL” ดีลสุดคุ้มหลากหลาย ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ ซื้อง่ายสบายผ่าน airasia.com ได้ในที่เดียว
     ลูกค้าสามารถวางแผนทริปได้ครบวงจรผ่านแอร์เอเชีย ทั้งนี้พร้อมตั้งเป้า ปี 2564 เพิ่มบริการด้านสุขภาพ สินค้าเกษตรเเละชุมชน หวังช่วยเสริมทัพความเเข็งเเกร่งของแอร์เอเชีย ที่ไม่หวังพึ่งพาเเค่ธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว

   “วันนี้คู่เเข่งของเราจะไม่ใช่เฉพาะสายการบินเท่านั้น เราเชื่อมั่นว่าจะเติบโตในการก้าวสู่ธุรกิจไลฟ์สไตล์ อีคอมเมิร์ช ฟินเทค การค้าปลีกออนไลน์ยุคใหม่ได้ โดยให้ airasia.com เป็นเเพลตฟอร์มทางเลือกเเรกๆ ที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน คิดถึงความคุ้มค่า ไม่ว่าจะเรื่องการบินหรือไลฟ์ไตล์ต้องเข้ามาที่ airasia.com ก่อน”
     สำหรับจุดแข็งของ airasia.com ที่โดดเด่นคือการที่เรามีเครื่องบินของตัวเอง ที่ผู้ประกอบการรายอื่นไม่มี ทำให้เราสามารถกำหนดราคา ควบคุม และทำแพคเกจนำเสนอลูกค้าได้ในราคาที่คุ้มค่าที่สุด รวมถึงลูกค้าที่เป็นสมาชิก BIG ยังสามารถนำ BIG point ที่มีอยู่มาใช้เป็นส่วนลดต่างๆ ในการซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือสินค้าและบริการอื่นๆ ได้ จึงเป็นจุดดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาจอง เลือกซื้อสินค้าและบริการกับ airasia.com

    ในประเทศไทย ปัจจุบัน airasia.com ได้เปิดตัวบริการใหม่ๆ เเล้วอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก “SNAP” ที่เป็นการผนวกรวมของ “ตั๋วเครื่องบินเเละโรงเเรมที่พัก” ในราคาคุ้มค่า พร้อมโปรโมชั่นที่มีตลอดทั้งปี “Hotel” บริการจองเฉพาะโรงเเรมที่พักในราคาประหยัด  “FlyBeyond” ไม่ว่าจะบินไปไหนในโลกกับสายการบินอะไร ก็จองตั๋วในราคาประหยัดได้ “Activity” กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ เช่น บัตรเข้าสวนสนุก และ “Unlimited Deal” ดีลสุดคุ้มหลากหลาย ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ เช่น สปา ทำเล็บ ช้อปปิ้ง

    เห็นชัดว่าเป็นความท้าทายครั้งใหม่ ในการชิงส่วนเเบ่งตลาดจากแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ โดย airasia.com มองว่าตลาดนี้ยังเติบโตได้อีกมาก เเละคุ้มค่าในการลงทุน ถือเป็นการสร้างเสถียรภาพที่ดีให้กับธุรกิจในอนาคต และเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าที่เเสวงหาความตื่นตาตื่นใจใหม่ๆ เพราะเมื่อเเอร์เอเชียเลือกที่จะเข้ามาในธุรกิจ เราก็ตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนเเปลงเเละพัฒนาสิ่งใหม่เสมอ

   ทั้งนี้จากผลตอบรับที่ผ่านมา หลังเริ่มปรับโฉม airasia.com เราเห็นเทรนด์ที่น่าสนใจ เช่น SNAP ที่ขายตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พัก ตั้งเเต่เปิดตัวในไตรมาส 3 ก็เติบโตต่อเนื่องมากกว่า 100% โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เเม้ยังคงให้บริการได้เฉพาะเส้นทางภายในประเทศ แต่ SNAP มียอดผู้ทำรายการ(transaction) สูงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 176 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ AirAsiago.com (แพลตฟอร์มจำหน่ายตั๋วเเละโรงเเรม แยกจาก AirAsia.com) เคยทำได้

     นอกจากนี้ airasia.com ยังต่อยอดการมีฐานลูกค้าเเละกลยุทธ์การตลาดที่เเข็งเเกร่ง โดยการสร้างพันธมิตรใหม่ๆมาจำหน่ายสินค้า บริการ เเละดีลพิเศษคุ้มค่า ซึ่งมั่นใจว่า airasia.com จะสร้างโอกาสให้กับบริษัท เเละตอบโจทย์เทรนด์ลูกค้าในอนาคตได้อย่างดี

   นายสันติสุข ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2564 เเละอย่างน้อยต่อไปอีก 3 ปี แอร์เอเชียจะเดินหน้ารุกในการพัฒนาแพลตฟอร์ม airasia.com เต็มที่ โดยเฉพาะการเพิ่มสินค้าเเละบริการใหม่ เช่น ธุรกิจด้านบริการ สุขภาพ การเเพทย์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มีเเนวโน้มเติบโตหลังสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจด้านเกษตร สินค้าบริการชุมชนท้องถิ่น

7 แอร์ไลน์ รอความหวังซอฟท์โลน 1.4หมื่นล้าน ไทยแอร์เอเชีย ดันสร้างรายได้ airasia.com
    รวมทั้งธุรกิจด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ โดยใช้จุดเเข็งของเครือข่ายสายการบินในกลุ่มแอร์เอเชีย และเมื่อเริ่มเปิดให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศได้ในอนาคต จะยิ่งเห็นการเติบโตด้านการขนส่งโลจิสติกส์เเละคาร์โก้ โดยเฉพาะการให้บริการที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่แอร์เอเชียขยายเครือข่ายเพิ่มเข้าไปแล้วตั้งเเต่ปลายเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้จำนวนมากต่อไป
     ทั้งอยู่ระหว่างขออนุญาติสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)เพื่อขอปรับ เครื่องบินขนส่งสินค้า เบื้องต้น 1ลำเพื่อเป็นเครื่องบินคาร์โก้ และผู้ให้บริการขนส่งสินค้าอันตรายได้ ถ้ากพท.เห็นชอบก็คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปีหน้า

    “อย่าปล่อยให้วิกฤตผ่านไปโดยไร้ความหมาย พวกเราทุกคนต่างเรียนรู้เเละได้ประสบการณ์มากมายจากโควิด-19 ใช้จุดเเข็งที่มีอยู่ต่อยอดโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งผมมั่นใจว่าแอร์เอเชียเดินมาถูกทางเเล้ว” นายสันติสุข กล่าวทิ้งท้าย