บิ๊กค้าปลีก มองโอกาสในวิกฤติโควิด รีโพซิชั่นนิ่ง ท่องเที่ยวไทย

25 พ.ย. 2563 | 00:25 น.

วิกฤติโควิด-19 การบาลานซ์การป้องกันการแพร่ระบาด กับเดินหน้าเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้า และไทยจะพลิกวิกฤตสร้างโอกาสได้อย่างไร อ่านได้จากมุมมองของบิ๊กธุรกิจค้าปลีก

      ท่ามกลางวิกฤติ โควิด-19 ที่ยังคงต้องอยู่กับเราไปอีกนาน การบาลานซ์การป้องกันการแพร่ระบาด กับเดินหน้าเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้า การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไทยจะพลิกวิกฤตสร้างโอกาสได้อย่างไร อ่านได้จากมุมมองของบิ๊กธุรกิจค้าปลีก นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และผู้บริหารคาเฟ่ เดอ มา

ศุภลักษณ์ อัมพุช

บาลานซ์คุมโรค-ศก.

         การบาลานซ์ระหว่างการป้องกันโรค กับเศรษฐกิจที่ต้องเดินหน้า เป็นจุดโฟกัสสำคัญ ซึ่งจะต้องมีการ ปรับมายด์เซ็ท (Mindset) ให้คนไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะโควิด-19 ยังต้องอยู่กับโลกไปอีกนาน ซึ่งก็เหมือนโรคซาร์ส  เราต้องสู้ ไม่เช่นนั้นไทยก็ต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งคู่แข่งเราคือ เวียดนาม กำลังแย่งหลายสิ่งไปจากเรา

         ทำให้รู้สึกว่าเราต้องทำอย่างไงที่จะทำให้จุดเด่นที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นอันดามัน อ่าวไทย ทำให้ไทยเป็นฮับ ไม่ว่าจะเป็นฮับด้านวัฒนธรรม, Sea Sand Sun , ช้อปปิ้งพาราไดซ์ แต่ปัญหาของไทยคือไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็น Manmade (มนุษย์สร้างขึ้น) เหมือนอย่างสิงคโปร์ ที่เขาสร้างขึ้น อย่างมารีนา เบย์ แซนด์ หรือ จีเวล ที่ สนามบินชางงี เพราะแม้สิงคโปร์จะเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน แต่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว เขาก็สร้างขึ้น เพื่อดึงรายได้จากการท่องเที่ยว

            ขณะที่ภาคเกษตรกรของไทยก็มีหลายปัญหาเกิดขึ้น ทำให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดโควิด-19 เป็นปีที่บาดเจ็บกันทั่วโลกรวมถึงไทยได้ ต้องรอวัคซีน แต่วันนี้เราก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง เพราะในวิกฤตก็มีโอกาส โดยเฉพาะความสวยงามของทะเลไทย ฮอสพิทาลิตี้ของคนไทย

        อาเซียนมีประชากร 600 ล้านคน ทำไงจะดึงให้กลับมาเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากโควิด-19 การเดินทางท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิม นักท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มคุณภาพ จะเป็นจุดเน้นหลัก ซึ่งจากฐานลูกค้าที่เคยมาช้อปปิ้งที่เดอะมอลล์ เราก็เห็นว่าหลายประเทศ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา ก็มีกลุ่มที่เป็นระดับท็อปสเปนเดอร์ และการใช้เงินในไทย(กรุงเทพ, ภูเก็ต, พัทยา) ก็อยู่ในระดับท็อปของโลก จากผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ดก่อนเกิดโควิด 

        นอกจากนี้จากเน็ตเวิร์คที่จะเกิดขึ้นจากโครงการไฮสปีดไทย-จีน เชื่อมต่อลาว ต่อไปจีน ตามยุทธศาสตร์ One Belt One Road  ทั้งยังมาถึงอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งคนต้องการแย่งตลาดอาเซียน ไทยได้เปรียบมากที่สุด

บิ๊กค้าปลีก มองโอกาสในวิกฤติโควิด รีโพซิชั่นนิ่ง ท่องเที่ยวไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ไทย”เสียแชมป์แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนจีน
บิ๊กทัวร์อินบาวด์ ร้องรัฐเยียวยา หวั่นธุรกิจหาย 40%
บิ๊กธุรกิจโรงแรมไทยจี้รัฐเปิดประเทศรับต่างชาติ ตั้งกองทุนแสนล้านอุ้มธุรกิจ
ซีไนน์ เผย รัฐล้ม “ภูเก็ต โมเดล” ท่องเที่ยวไฮซีซันทรุด
ท่องเที่ยวไทย หากยังฟื้น เป็นรูปตัว K ปีหน้าธุรกิจ 50% ปิดตาย

 

 

 จี้รัฐหนุนเปิดตลาดครูซไลน์

       การผลักดันศักยภาพของไทยเพื่อดึงตลาดนักท่องเที่ยว มีหลายด้านที่จะขยายกลุ่มตลาดที่มีกำลังซื้อสูงได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ภูเก็ตและอันดามัน เป็น ริเวียร่า ออฟ เดอะ อีสต์ ให้กลายเป็นเส้นทางเดินเรือสำราญ (ครูซ ไลน์) โดยส่งเสริมให้จ.ภูเก็ต ลงทุนท่าเรือนํ้าลึก ให้แล้วเสร็จ   วันนี้คนอเมริกา เดินทางโดยครูซไลน์ อันดับ1 ไปยุโรปได้ 6 เดือนเพราะติดหน้าหนาว แต่ของเราเดินเรือได้ดึง 360 วัน การเดินทางจึงไม่ใช่แค่ทางอากาศ หรือทางรถไฟเท่านั้น หากเราเชื่อมครูซไลน์ เข้าสู่อันดามันและอ่าวไทย

บิ๊กค้าปลีก มองโอกาสในวิกฤติโควิด รีโพซิชั่นนิ่ง ท่องเที่ยวไทย

             ถ้าเราได้ตลาดครูซเข้ามา จะเป็นตลาดใหญ่มาก มีคนกว่า 6 พันคน จะมาจากจีน ต่อจากเวียดนาม มาอ่าวไทย อันดามัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ย่างกุ้ง ศรีลังกา ไปถึงมัลดีฟส์ ซึ่งด้วยความสวยงามของเกาะแก่งต่างๆรอบอันดามัน และศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ต ที่มีโรงแรมระดับเวิล์ดคลาส ท่าเรือยอชต์ รวมถึง CafeDel Mar บีชคลับระดับโลก ที่เราเองเข้าไปลงทุน ก็ทำให้ภูเก็ต เป็นเดสติเนชั่นที่เหมาะสมในการรองรับกลุ่มตลาดนี้เป็นอย่างมาก

บิ๊กค้าปลีก มองโอกาสในวิกฤติโควิด รีโพซิชั่นนิ่ง ท่องเที่ยวไทย

      รวมไปถึงการสนับสนุนเรื่องเรือยอชต์ ภูเก็ตเป็นทำเลที่เหมาะสมเป็นอย่างมาก สำหรับสร้างอู่ต่อเรือและบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง BOI สามารถเข้ามาสนับสนุนได้ โดยจากสถิติพบว่า เรือยอชต์ 1 ลำที่เข้ามาในไทย ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จุดพลุฮับเอ็นเตอร์เทนเมนต์

       เราต้องรีโพซิชั่นนิ่ง เรื่องการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง โจทย์ใหญ่คือ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามา โดยพัฒนาจุดขายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครูซไลน์ หรือการสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์ระดับโลกให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง  ไม่งั้นต่อไปเวียดนามก็เอาไปหมด ซึ่งปัญหาของบ้านเราคือโรงแรมถูกมาก โรงแรมหรูตกคืนละ 6 พันบาท แต่โรงแรมที่มัลดีฟส์ คืนละเป็นแสนบาท

        ถ้าเราอยากให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น การส่งเสริมเรื่องเอ็นเตอร์เม้นท์จะช่วยได้ ขยายเวลาเปิดให้บริการไปถึงตี 5  เพราะยุโรปก็เที่ยว คนจีนรุ่นใหม่ ก็จะเที่ยว ถ้าเรามีมิวสิค เฟสติวัล เหมือนเข้าไปอยู่ในเทศกาล ทูมอโรว์แลนด์ หรืออย่างบาหลี ทะเลไม่สวย แต่เขามีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ระดับโลก เป็นตัวดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มกำลังซื้อสูง หรือในมาเลเซีย สิงคโปร์ เอง ก็เปิดได้ถึงตี5 การเปิดเราก็อาจจัดเป็นโซนได้

         วันนี้ต้องยอมรับว่าไทยยอดการส่งออกลดลง70% ฐานการผลิตก็ย้ายไปอยู่เวียดนาม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก็เป็นของต่างชาติ  แล้วไทยจะเหลืออะไรคนตกงานเพิ่มขึ้นคนจบใหม่ 5 แสนคนจะไปทำแต่จุดเด่นด้านการท่องเที่ยว ที่เรายังมีอยู่สามารถขยายตลาดได้เราก็ต้องมาดูว่าการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการท่องเที่ยวต่อจากนี้

        ต้องดูว่าการท่องเที่ยวต้องการอะไร จะขายแต่ไปทะเลมากเกินไปก็เป็นการทำลายประการัง การจะไปวัด จะไปเที่ยวได้กันกี่ครั้ง แต่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ถ้าเราขยายเวลาเปิดออกไปอีก 4 ชั่วโมง ถ้าเราถูกต้องตามกฏหมาย ทุกฝ่ายก็ได้ประโยชน์ ไม่ต้องไปจ่ายนอกระบบ และเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ระดับโลกก็ไม่ได้ไปแข่งกับใคร

        เรื่องเหล่านี้รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งในส่วนของเราเองก็มองเห็นโอกาสในธุรกิจนี้ และเริ่มจุดพลุให้เกิดอีเวนต์เพื่อดึงกลุ่มกำลังซื้อสูงเข้ามา ด้วยการเริ่มจากธุรกิจส่วนตัวของตนเอง คือ Cafe Del Mar ที่หาดกมลา ภูเก็ต โดยการร่วมมือกับพันธมิตร จัดงาน Cafe Del Mar Phuket Charity Festival ในที่ 20-22 พฤศจิกายน2563  บีชปาร์ตี้เอ็กซ์คลูซีฟการกุศล ที่จะมีลูกค้าระดับอีลิท โมเดล กลุ่มมิลเลียนแนร์ เข้ามาร่วมงาน

บิ๊กค้าปลีก มองโอกาสในวิกฤติโควิด รีโพซิชั่นนิ่ง ท่องเที่ยวไทย

        รวมถึงในส่วนของกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ก็ยังมีโครงการร่วมลงทุนกับ AEG เอ็นเตอร์เทนเมนต์เบอร์ 1 ของโลก ลงทุนพัฒนาอารีน่าสำหรับการจัดคอนเสิร์ต จุได้ 1.2 หมื่นคน ที่กรุงเทพฯ 2 แห่ง คือ โครงการบางกอกมอลล์ และเอ็มสเฟียร์ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า และมองที่จะนำไปลงในภูเก็ตด้วย

บิ๊กค้าปลีก มองโอกาสในวิกฤติโควิด รีโพซิชั่นนิ่ง ท่องเที่ยวไทย

10 กลยุทธดันไทยเป็นฮับ

            นอกจากนี้เรายังได้เสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ถึงการผลักดันศักยภาพให้ไทยเป็นฮับของโลก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ โดยมองว่ามี 10 ยุทธศาสตร์ ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา คือ 1.ไทยเป็นสวรรค์ของการช้อปปิ้งระดับโลก 2.ไทยเป็นศูนย์รวมอาหารของโลก 3.ไทยเป็นศูนย์กลางความบันเทิงในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 4.ไทยเป็นศูนย์กลางการประชุมสัมมนาและจัดแสดงสินค้าระดับโลกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

        5.ไทยเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย 6.ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดเทศกาลแห่งความสุขสนุกระดับโลก 7.อ่าวไทยและคาบสมุทรอันดามัน เสมือนเป็นริเวียร่า แห่งโลกตะวันออกและเส้นทางเดินเรือสำราญที่สำคัญของเอเชีย 8.ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ สุขภาพ ความงาม และสปา ในภูมิภาคเอเชีย 9.ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ เชื่อมโยงธุรกิจต่อยอดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และ10.ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

          ทั้งหมดล้วนเป็นการสะท้อนมุมมองของบิ๊กธุรกิจค้าปลีกต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,629 วันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563