มาตรการภาครัฐดันดัชนีเชื่อมั่น SMEs กันยายนปรับเพิ่มขึ้น

19 พ.ย. 2563 | 11:20 น.

"สสว." เผยดัชนีความเชื่อมั่น "SMEs" เดือนกันยายน 2563 ปรับเพิ่มขึ้น จากมาตรการภาครัฐ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศกำลังฟื้นตัว

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) ประจำเดือนกันยายน 63 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 63 ที่ระดับ 51.2 มาอยู่ที่ระดับ 52.9 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากลดลงเล็กน้อยในเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวเนื่องทั้งบริษัทจำหน่ายตั๋วเดินทาง โรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร และบริการรถเพื่อท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศกำลังฟื้นตัว จากการขยายตัวของกำลังซื้อในทุกภูมิภาค เนื่องจากประชาชนสามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตได้เป็นปกติมาก ขึ้น อีกทั้งการลดลงของความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ปรับตัวดีขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้  ปัจจัยที่ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต การค้าและการบริการ กำไร การลงทุน และการจ้างงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.8 57.9 56.3 52.1 และ 49.8 ตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบด้านต้นทุน ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.4 โดยเป็นผลจากราคาวัตถุดิบและสินค้าหลายรายการเพิ่มขึ้น

มาตรการภาครัฐดันดัชนีเชื่อมั่น SMEs กันยายนปรับเพิ่มขึ้น

โดยภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการบริการ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.9 52.6 และ 52.6 ตามลำดับ โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและสิ่งทอ รวมไปถึงกลุ่มการท่องเที่ยวที่ได้อานิสงส์จากการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ เช่น บริษัทจำหน่ายตั๋วสายการบินและเหมาทัวร์ โรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร และบริการรถเช่าเพื่อท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท่องเที่ยวที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงซบเซาต่อเนื่อง และยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวตลอดปลายปี 63
 

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SMEs ทุกภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 51.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.8 จากการขยายตัวของธุรกิจกลุ่มค้าปลีก โดยเฉพาะการค้าอุปโภค/บริโภค ทั้งแบบค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) และแบบดั้งเดิม

และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 54.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.0 เป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและมาตรการวันหยุดยาว ทำให้เกิดการเดินทาง และจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มการท่องเที่ยวในประเทศและสาขา  ที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบกับผลของกำลังซื้อภาคการเกษตรปรับตัวดีขึ้นจากราคายางพาราที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้สาขาการก่อสร้างและการค้าวัสดุก่อสร้าง มีการหดตัวเล็กน้อยจากปัจจัยฤดูกาล

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 55.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.5  เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือก ทำให้กำลังซื้อในภาคการเกษตรปรับตัวดีขึ้นส่งผลดีต่อสินค้าและบริการกลุ่มอุปโภค/บริโภค รวมไปถึงสินค้าคงทน เช่น รถจักรยานยนต์

ดัชนีความเชื่อมั่นฯของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 51.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.8 โดยมีการขยายตัวในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ อาทิ ชลบุรี และระยอง

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 52.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.8 จากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดยาว และการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมและที่พักจากการจองล่วงหน้า รวมไปถึงการผลิตและจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ชุมชนในกลุ่มของฝากที่ระลึก

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 54.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.6 เพราะมีการขยายตัวในกลุ่มการผลิต โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม และเสื้อผ้าและสิ่งทอ รวมไปถึงกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 57.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า  ที่ระดับ 56.9 แนวโน้มความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของกำลังซื้อในปัจจุบัน และความคาดหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติม แม้จะยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตและผลกระทบต่อการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 แต่ผลกระทบคาดว่าจะอยู่ในวงจำกัดและไม่รุนแรงเท่ากับช่วงวิกฤตก่อนหน้า

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SMEs ประเทศในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน 2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค 3. มาตรการในด้านต่างๆ ของรัฐบาล 4. การแข่งขันในตลาด และ 5. ราคาต้นทุนสินค้า/ค่าแรงงาน