เทียบฟอร์ม ‘สายการบินโลก’ งัดกลยุทธ์ดิ้นฝ่าวิกฤติโควิด-19

24 ต.ค. 2563 | 05:40 น.

เปิดกลยุทธสายการบินโลก ดิ้นรนฝ่าวิกฤต เอาตัวรอดช่วงโควิด-19 โฟกัสแผนลดค่าใช้จ่าย ด้านบุคคลกร –ปลดระวางเครื่องบิน เร่งปั๊มรายได้ มุ่งดันรายได้เสริม ทั้งการจัดเที่ยวบินพิเศษ บินวนแบบไม่ลงจอด ขยายบริการอาหาร ขายหน้ากากอนามัย ปรับปรุงระบบดิจิทัล ดันรายได้ ทราเวล ดิจิทัล แพลตฟอร์ม พัฒนาเทคโนโลยีมุ่งสู่ดิจิทัล แอร์ไลน์

            เมื่อธุรกิจสายการบินของโลก ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ จากวิกฤตโควิด-19 โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า) คาดว่ากว่าจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับปี62 เดิมคาดไว้ว่าปี66 กลายเป็นปี67 ทั้งยังคาดว่าในปี64 ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 75% ของปี63 เท่านั้น ขณะเดียวกันเฉพาะในปีนี้ มีสายการบินทยอยล้มละลาย/ปิดกิจการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

          ที่ผ่านมาแม้จะมีหลายสายการบิน ที่ส่วนใหญ่เป็นสายการบินแห่งชาติ ก็จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล อาทิ เงินช่วยเหลือ และเพิ่มทุน อาทิ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ได้รับเงินช่วยเหลือ 1.3 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ,เวียดนาม แอร์ไลน์ส ได้รับ 518 ล้านดอลล่าร์หรัฐ,ลุฟท์ฮันซ่า 9 พันล้านยูโร แลกกับการที่ให้รัฐบาลเยอรมันถือหุ้น 20% ,การูดา อินโดนีเซีย ได้รับ 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

            เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้กินเวลาที่ยาวนาน และยังมีอีกหลายสายที่ก็ยังไม่ได้การช่วยเหลือจากรัฐบาลดังนั้นสายการบินชั้นนำของโลกที่ต่างยังคงเปิดทำการบินอยู่ ล้วนมีแผนกลยุทธ์ธุรกิจการบินเพื่อความอยู่รอดช่วงโควิด-19 ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งหลักๆจะมี 2 เรื่องที่ทุกสายการบินนำมาใช้ คือ 1. แผนการลดค่าใช้จ่าย และ 2.แผนการเพิ่มรายได้         

            กลยุทธลดค่าใช้จ่าย หลักๆจะโฟกัสใน 3 เรื่อง ได้แก่
           1.การลดเงินเดือนพนักงาน การเปิดให้เกษียณอายุก่อนกำหนด ให้ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน ซึ่งทุกสายการบินใช้มาตรการนี้       

            2. การปลดพนักงาน ของหลายสายการบินที่เกิดขึ้น อาทิ เดลต้า แอร์ไลน์ส,บริติซ แอร์เวย์ส, แควนตัส, สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส,เอมิเรสต์,แอร์แคนาดา, ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส,แอร์ฟรานซ์,ลุฟฮันซ่า, สแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ส,เคแอลเอ็ม,แอร์เอเชีย, กาตาร์ แอร์เวย์ส, เอธิฮัด, ไทยไลอ้อนแอร์, นกแอร์ คาเธ่ย์ แปซิฟิก 

      รวมถึงการยกเลิกการดำเนินธุรกิจของสายการบินในเครือ เช่น ล่าสุด คาเธ่ย์ แปซิฟิก ยกเลิกการดำเนินธุรกิจของสายการบินคาเธ่ย์ ดราก้อน หรือแม้แต่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ก็ควบรวมสายการบินซิลค์ แอร์

          3. การปลดระวางเครื่องบิน ของลุฟท์ฮันซ่า,แอร์ฟรานซ์,เดลต้า แอร์ไลน์ส,แควนตัส,เคแอลเอ็ม,เอมิเรสต์

           กลยุทธการเพิ่มรายได้ ที่จะเน้นใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การหารายได้เสริม  ไม่ว่าจะเป็นการจัดเที่ยวบินพิเศษ บินวนแบบไม่ลงจอด ของ ออลนิปปอน แอร์ไลน์ส,แควนตัส,รอยัล บรูไน การขายที่นั่งตรงกลาง สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเว้นระยะห่างทางสังคม ของสายการบินยูโรวิงส์ การขายหน้ากากอนามัย/อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ของ ไรอันแอร์ การจัดเที่ยวบินพิเศษ ในลักษณะเช่าเหมาลำ เพื่อรองรับการเดินทางระหว่างประเทศตามที่รัฐบาลแต่ละประเทศวางหลักเกณฑ์ไว้

เทียบฟอร์ม ‘สายการบินโลก’ งัดกลยุทธ์ดิ้นฝ่าวิกฤติโควิด-19

            การขยายการให้บริการอาหาร ทั้ง เดลิเวอรี่อาหาร ของการบินไทย, แอร์เอเชีย การเปิดร้านอาหาร ในลักษณะPop up Dining เช่น การเปิดภัตตาคารของการบินไทย ภายในอาคารสำนักงานของสายการบิน และล่าสุดสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ได้ปรับเปลี่ยนเครื่องบินแอร์บัสเอ 380 มาให้บริการร้านอาหารแบบ Fine Dining  หรือโครงการ “Restaurant A380 @ Changi” ที่จะเปิดให้รับประทานอาหารได้ในวันที่ 24 และ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา

           การดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า(คาร์โก้) อาทิ ลุฟฮันซ่า, โคเรียนแอร์, แอโร เม็กซิโก, เตอร์กิซ แอร์ไลน์ส, ฟินแอร์,เอมิเรสต์, ออสเตรียน แอร์ไลน์ส, สวิส แอร์, ไหหนาน แอร์ไลน์ส

            การปรับปรุงระบบดิจิทัล เช่น แอร์เอเชีย หันมาเปิดให้บริการ ทราเวล ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ขายที่พัก รถเช่า บัตรคอนเสิร์ต ตั๋วรถไฟ พัฒนาให้เป็น Super App บริการทางการเงิน ฟินเทค และการเดินทาง, เจแปนแอร์ไลน์ส ทดลองใช้ระบบเช็คอินอัตโนมัติรุ่นใหม่ ไร้สัมผัส ผ่านระบบอินฟาเรด

            ทั้งนี้การที่สายการบินต่างๆหันมาพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ดิจิทัล แอร์ไลน์” มากขึ้น เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ลดขั้นตอนการดำเนินงาน  การพัฒนาเทคโนโลยี  บิ๊กดาต้า บล็อกเชน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และการพัฒนาแอพลิเคชั่น จะถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อสื่อสารกับผู้โดยสาร และเพิ่มรายได้ให้แก่สายการบิน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการบริการ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,618 วันที่ 15 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไออาต้า ประเมินล่าสุด คาด ธุรกิจการบินโลก ฟื้นตัวเท่าเดิมต้องรอถึงปี67
แอร์ไลน์รีสตาร์ตบินในปท. ไออาต้าจี้รัฐบาลทั่วโลกเร่งอุ้มธุรกิจ
แค่ปีเดียว สายการบินโลกหนี้เพิ่ม 1.2 แสนล้านดอลล์
ส่อง "การบินโลก" 4 เดือนหลัง โควิด