“สสว.” ดัน “THAILAND SURE 2020” กู้ชีพอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

24 ก.ย. 2563 | 08:30 น.

“สสว.” ดัน “THAILAND SURE 2020” กู้ชีพอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เสริมความเชื่อมั่นผู้บริโภค

นายวีระพงศ์  มาลัย  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) ระดับกลางหรือระดับเติบโตที่มีศักยภาพ และมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ

“ปี 63 สสว. ได้มุ่งเน้นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับศักยภาพของธุรกิจให้เข้าถึงระบบมาตรฐาน ทั้งการตรวจประเมินเพื่อให้ได้รับใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล พร้อมรับมือและปรับตัวกับวิถีธุรกิจ New Normal ในสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19)”

ทั้งนี้  มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ยกระดับธุรกิจหรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ก้าวไปสู่สากล ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริม SME ตามนโยบายรัฐบาล และเป็นไปตามพันธกิจของ สสว. ในการผลักดันการส่งเสริม SMEs ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล  โดยได้ดำเนินการ อบรมเชิงปฏิบัติการเฉพาะด้านเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรทางธุรกิจ เช่น

“สสว.” ดัน “THAILAND SURE 2020” กู้ชีพอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

อบรมผู้ควบคุมกระบวนการผลิตและแปรรูปอาหารในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้รับใบรับรองคุณสมบัติจากหน่วยงานที่ U.S. FDA ให้รับการยอมรับ ฯลฯ ให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยที่ปรึกษา ณ สถานประกอบการ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในธุรกิจแยกตามรายกลุ่มอุตสาหกรรม ต่อยอดการพัฒนาเพื่อให้ได้รับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เช่น มาตรฐาน ISO มาตรฐานท่องเที่ยว มาตรฐานฉลากทางเลือกสุขภาพ มาตรฐานฉลากทางเลือกสำหรับหน้ากากผ้า ฯลฯ

สนับสนุนการจัดทำฉลากโภชนาการ และตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ หรือสอบเทียบเครื่องมือวัดในโรงงานอุตสาหกรรม หรือตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ตรวจวิเคราะห์มาตรฐานชุดป้องกัน (Personal Protective Equipment : PPE) หน้ากากผ้า ในช่วงสถานการณ์ โควิด – 19 เป็นต้น

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการดังกล่าว สสว. ได้ดำเนินการร่วมกับ14 หน่วยร่วมประกอบด้วย สถาบันอาหาร (กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มและเกษตรแปรรูป) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve เน้นกลุ่ม Green Business ) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว/โรงแรม/สปา เครื่องมือแพทย์/แปรรูปสินค้าประมงภาคใต้)

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (กลุ่มแฟชั่น สิ่งทอ ไลฟ์สไตล์) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการยกระดับมาตรฐาน) สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะ) สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ที่ต้องการยกระดับมาตรฐาน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม (ภาคเหนือ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ธุรกิจการค้าและบริการ (ภาคใต้)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (กลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โรงแรม และผู้ประกอบการขนส่ง) สมาคมสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย (เกษตรแปรรูป/ภาคบริการ)
 

อย่างไรก็ดี ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในครึ่งปีหลัง 2563 -2564 จึงได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสนอกิจกรรมเร่งด่วน เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณาการรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19  ในชื่อ “THAILAND SURE 2020” โดยเน้น 7 กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวหลัก คือ

​1. มาตรฐานร้านของฝาก (SURE Souvenir Shop Standard)

2. มาตรฐานที่พัก โรงแรม (SURE Accommodation Standard)

3. มาตรฐานร้านอาหาร (SURE Restaurant Standard) 

4. มาตรฐานบริการขนส่งรถบัสและรถตู้ (SURE Bus and Van Standard)

5. มาตรฐานตัวแทนการท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยว (SURE Travel Agency Standard)

6. มาตรฐานของกลุ่มสปา และความงาม (SURE Spa & Beauty Standard)

7. มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว (SURE Tourist Attraction Standard) ผู้ประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยว ที่จะได้รับตรามาตรฐาน ดังกล่าว ต้องนำความรู้ไปปฏิบัติจริงในกิจการของ และที่สำคัญต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงาน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะผ่านเกณฑ์การพิจารณา ได้รับตราสัญลักษณ์ “Thailand SURE 2020” จากสสว. และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า จากการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ในปี 2563 ในภาพรวมทำให้เกิดผลลัพธ์ คือ 1.การปรับตัวของ SMEs ในรูปแบบวิถีธุรกิจแบบใหม่รองรับ New Normal ที่ต้องสามารถเชื่อมโยงและสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัย การใช้เทคโนโลยี การมีมาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

และ2.เกิดผลผลิตที่เป็นรูปธรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) Eco Design : ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม พัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (Innovation Organization) IOT DEMO รูปแบบจำลอง IOT Solution ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปด้วยเทคโนโลยี และได้รับมาตรฐาน หรือใบรับรองสัญลักษณ์ทางโภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ผลิตภัณฑ์สิ่งทอแฟชั่นที่มีนวัตกรรม ได้รับมาตรฐานและรับรองฉลากต่าง ๆ อาทิ ISO / GMP / GMP Codex / HACCP / Smart Fabric / CoolMode / เสื้อประหยัดไฟเบอร์ 5 / Thailand Textiles Tag ผลิตสมุนไพรไทยจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน รวมทั้งผู้ประกอบการที่ได้รับตรามาตรฐานความปลอดภัย Thailand SURE 2020 โดยรวมสามารถคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมผลักดัน SMEs ระดับเติบโตในโครงการก้าวสู่ SME SMART FORWARD ในอนาคต