โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ฉบับที่ 3

23 ก.ย. 2563 | 12:46 น.

โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ฉบับที่ 3 เปิดทางกองทุนฯรับภาระชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ ทั้งกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของก.ก.ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร

 

วันนี้(23 ก.ย.63) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๓

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

 

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓

 

เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอม ของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๓”

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและ พัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

“มาตรา ๑๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

 

เมื่อครบกําหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและ ผู้แทนเกษตรกรขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ เข้ารับหน้าที่

 

การดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรตามวรรคสอง ให้สํานักงานดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ครบวาระ”

 

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและ พัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

“มาตรา ๒๓ ให้สํานักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีสํานักงานใหญ่อยู่ใน กรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล และอาจตั้งสาขา ณ ที่อื่นใด ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร”

 

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๓๗/๔ แห่งพระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

“เมื่อกองทุนรับภาระชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรตามวรรคหนึ่งแล้ว การจัดการหนี้ ของเกษตรกรให้ดําเนินการ ดังต่อไปนี้

 

(๑) กรณีหนี้ที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ให้ทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันการชําระหนี้ ตกเป็นของกองทุน และเกษตรกรจะได้รับทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันคืนไปจากกองทุนได้ก็แต่ โดยการเข้าซื้อหรือซื้อ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด

 

(๒) กรณีหนี้ที่มีบุคคลค้ําประกัน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกําหนด”

 

มาตรา ๖ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและ พัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ ของเกษตรกร ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดํารงตําแหน่งต่อไปจนกว่า จะครบวาระตามพระราชบัญญัตินี้ และให้นับวาระการดํารงตําแหน่งเป็นวาระแรก

 

เมื่อครบกําหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทน เกษตรกรขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทนเกษตรกรซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทนเกษตรกรซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ เข้ารับหน้าที่

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

นายกรัฐมนตรี

 

 

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกร ยังไม่อาจดําเนินการให้ครอบคลุมหนี้ของเกษตรกรบางกรณี จึงทําให้เกษตรกรบางส่วนยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้ เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่อาจรับภาระชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่ไม่มีทรัพย์สิน เป็นหลักประกันการชําระหนี้ได้ ประกอบกับวาระการดํารงตําแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร รวมถึงการกําหนดที่ตั้งของสํานักงานใหญ่และสาขาของสํานักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่กําหนด ในกฎหมายขาดความยืดหยุ่นและทําให้เกิดอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน

 

สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ ของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สามารถรับภาระชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่มีบุคคลค้ําประกันได้ และกําหนดวาระการดํารงตําแหน่ง ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งกําหนดให้คณะกรรมการมีอํานาจ กําหนดที่ตั้งของสํานักงานใหญ่ได้ในกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล และกําหนดที่ตั้งของสาขา ณ ที่ใดก็ได้ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

คลิกอ่าน: พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ฉบับที่ 3