โชว์เคส 4 กลุ่ม ‘ทราเวล เทค สตาร์ตอัพ’ หนุนธุรกิจปรับตัว

20 ก.ย. 2563 | 08:18 น.

ททท.สร้างวัคซีนการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 เปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการกับ 4 กลุ่ม ทราเวล เทค สตาร์ตอัพ รวม 17 ราย นำนวัตกรรมสร้างโมเดลใหม่ธุรกิจ

    ททท.รุกสร้างวัคซีนการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 หนุนธุรกิจท่องเที่ยว ปรับตัวก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ลดความเสี่ยงเทคโนโลยี ดิสรัปต์ เพิ่มศักยภาพแข่งขันให้อยู่รอด  เปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการกับ 4 กลุ่ม ทราเวล เทค สตาร์ตอัพ รวม 17 ราย นำนวัตกรรมสร้างโมเดลใหม่ธุรกิจ 
      จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ประสบกับปัญหาอย่างรุนแรง ประกอบกับรูปแบบของสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องมีการเปลี่ยนแปลง จากการถูกแทรกแซง ด้วยเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ในขณะที่ผู้ประกอบการ

        อาทิ บริษัทนำเที่ยว การจองทัวร์ บริการมัคคุเทศก์ อาจประสบปัญหาด้านการปรับตัวในหลายๆด้านจากเทคโนโลยี ดิสรัปต์

      การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. จึงมุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านไอที ปฏิรูปการดำเนินงานเสริมศักยภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

       โดยเปิดเวที “เที่ยวไทยไฮเทค” แลกเปลี่ยนและให้ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวด้วยนวัตกรรม ระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  และ Travel Tech Startup 

      โดยหวังผลักดันให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆของธุรกิจ และนำนวัตกรรมมาสร้างผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการใหม่ที่มีมูลค่าสูง (High Value Service) ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และสร้างวัคซีนการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19

โชว์เคส 4 กลุ่ม ‘ทราเวล เทค สตาร์ตอัพ’ หนุนธุรกิจปรับตัว
     นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์  รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และ Travel Tech Startup ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

      ได้แก่ กลุ่ม Travel Tech กลุ่ม Tourism Lifestyle กลุ่ม Community Based Tourism and Local Tour Experiences และกลุ่ม Transportation รวมกว่า 17 ราย
ไม่ว่าจะเป็น Golfdigg (บริการจองสนามกอล์ฟ ออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน), Tuk Tuk Hop (แอปขึ้นลง รถตุ๊กตุ๊ก), TraveliGo (ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ หรือ OTA), KORBOK (ขอบอก) เครื่องมือช่วยผู้ประกอบการ ซึ่งต้องการรู้ว่าลูกค้ามีความรู้สึกเช่นไรต่อธุรกิจ

      RUBIK HEALTH (แพลตฟอร์มด้านสุขภาพและความงาม),Mamy Booking (เว็บไซต์จองทัวร์และรถเช่า), HandiGo (แอปพลิเคชั่นช่วยนักท่องเที่ยวเข้าถึงบริการท้องถิ่น)
V SO TOUR (จองที่พักออนไลน์ ทัวร์นำเที่ยว ทริปเดินทางครบวงจร), Rent Connected  (แอปพลิเคชั่นจองรถเช่า), zwiz.Ai  (ระบบเอไอแชทบอท และวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับธุรกิจ), UTU (แพลตฟอร์มการสะสมคะแนนและแลกคะแนน), Event Banana  (เว็บค้นหาสถานที่จัดงาน), FIND FOLK (เว็บและแอปพลิเคชันเพื่อช่วยเหลือชุมชนในเรื่องการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว) Local Alike (แพลตฟอร์มเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยชุมชน)

     “ททท. คาดว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว จะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้นวัตกรรม (Innovative Learning Environment) และส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมทางธุรกิจ (Business Innovation Ecosystem) ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของ
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้แข็งแกร่งขึ้นต่อไป”
       นางสาวฐาปนีย์ ยังกล่าวต่อว่า เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลดลง 70%  และรายได้จากการเดินทางเที่ยวภายในประเทศ ลดลง 30%
     ดังนั้นในเดือนตุลาคมนี้ หากไทยมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเข้ามาเที่ยวไทยได้บ้าง ก็จะทำให้ตัวเลขขยับขึ้นมาได้บ้าง

      ขณะเดียวกันเราก็ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มการท่องเที่ยวในประเทศ โดยดึงคนไทยที่ปกติไปเที่ยวต่างประเทศ หันกลับมาท่องเที่ยวภายในประเทศแทน และเรายังได้เล็งเห็นถึงกลุ่มสตาร์ตอัพ ที่จะเป็นวัคซีนตัวนึง กระตุ้นทำให้เกิดการตัดสินใจที่จะท่องเที่ยวภายในประเทศได้ง่ายขึ้น
      อีกทั้งพลังของการใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆมาใช้ในการโปรโมตท่องเที่ยวของไทย ก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้น นับจากเมื่อปี 54  ททท.เริ่มนำเอา Google Street View มาใช้งาน ซึ่งเราได้คุยกับ Google แล้ว ว่าจะทำ Google  overview และ (Google and culture, Giga Pixel ซึ่งเป็นระบบเสริม ที่มีความคมชัดสูง เพื่อเป็นตัวสนับสนุนกับสตาร์ตอัพ
        รวมทั้งในขณะนี้รัฐบาลจะเริ่มรีสตาร์ททยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นำร่องด้วย “ภูเก็ต โมเดล” ซึ่งททท.อยากให้ทั้งภาคเอกชนและสตาร์ตอัพ รุ่นใหม่ ทั้ง 17 ราย แอคทีฟในจุดนี้ด้วย

หน้า 21-22  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,605 วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ.2563 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงครม.ออกวีซ่านักท่องเที่ยวแบบใหม่ 90วัน รับลองสเตย์ต่างชาติ

ททท.ผุด 4 โครงการออนไลน์ บูมเที่ยวในประเทศ