"สสว.” คาด "GDP SME" ทั้งปีหดตัว 9.5%

15 ก.ย. 2563 | 07:15 น.

สสว.คาด GDP MSME ปี 63 หดตัวถึง 9.5% เหตุการณ์บริโภคชะลอลงกว่าเดิมทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่ไตรมาส 2 หดตัว 17.2%

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อม (GDP MSME) ปี 63 จะหดตัวถึง 9.5% ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของการบริโภค ทั้งภาครัฐและเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลงกว่าเดิม และทิศทางการบริโภคภายในประเทศยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ชะลอตัวลง อีกทั้งในภาคการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ GDP MSME หดตัวลง 9.5% จากเดิมที่ประมาณการไว้อยู่ที่ 7.858 ล้านล้านบาท หดตัวลงมาอยู่ที่ 7.113 ล้านล้านบาท โดยเป็นการหดตัวของ GDP ภาคการเกษตร 9.43% , GDP ภาคการผลิต หดตัว 9.30% , GDP ภาคการก่อสร้างหดตัว 5.47% , GDP ภาคการค้าส่งค้าปลีกหดตัว 10.38% และ  GDP ภาคการบริการหดตัว 9.49%

ด้าน สาขาในภาคการผลิตที่มีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ สาขาการทำเนื้อกระป๋อง เนื้อแปรรูปอื่นๆ สาขาการผลิตอาหาร สาขาการผลิตปลากระป๋องและสัตว์น้ำอื่นรวมการแปรรูปอื่นๆ ส่วนสาขาในภาคการบริการที่มีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สาขากิจการโรงแรมและที่พักอื่นๆ และสาขาการบริการเกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง นำเที่ยว  สาขาการขนส่งและการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางน้ำ

นายวีระพงษ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มปี 64 สสว. ได้กำหนดสมมติฐานไว้ 3 แบบ 1. จากสมมติฐานที่ว่า แนวโน้ม MSME ปี 2564 ในการรักษาการระบาดโรคโควิด 19 เริ่มมีทางออกมากขึ้นจากการมีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ภายในประเทศ อีกทั้งภาครัฐมีการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 1% ประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจรายย่อย (Micro) วิสาหกิจขนาดย่อม (SE) มากขึ้น เพื่อเยียวยาและประคองเศรษฐกิจระดับฐานรากให้มากขึ้น และที่สำคัญควรสร้างการพัฒนาทักษะแรงงาน และสร้างอาชีพให้มากขึ้น

ซึ่งจากการประมาณการ GDP MSME ของ สสว. คาดว่า GDP MSME ปี 2564 จะสามารถขยายตัวได้ถึง 7.81% เป็นผลมาจากภาครัฐอัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนการลงทุนภาครัฐ  มีการลงทุนมากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็มีทิศทางขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ GDP MSME มาอยู่ที่ 8.472 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวของ GDP ภาคการเกษตร ประมาณ 6.25% GDP ภาคการผลิต  ขยายตัว 7.05% GDP ภาคการก่อสร้างขยายตัว 13.69% GDP ภาคการค้าส่งค้าปลีกขยายตัว 6.93% และ GDP ภาคการบริการขยายตัว 8.90%

"สสว.” คาด "GDP SME" ทั้งปีหดตัว 9.5%

โดยสาขาในภาคการผลิตที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ คือ สาขาการผลิตเครื่องสำอาง สาขาเครื่องดื่ม สาขาการผลิตอาหาร สาขาการผลิตเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ เป็นต้น ส่วนสาขาในภาคการบริการที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สาขาการบริการเกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง นำเที่ยว สาขาการก่อสร้าง สาขาการขนส่งและการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางน้ำ สาขากิจการโรงแรมและที่พักอื่นๆ เป็นต้น

,2. จากสมมติฐานที่ว่า แนวโน้ม MSME ปี 2564 จากการที่นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศตั้งแต่ตุลาคม 2563 ทำให้ในปี 2564 สสว. คาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น 50% ของนักท่องเที่ยวปี 2562 ส่งผลให้มีรายได้เข้าประเทศถึง 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลโดยตรงต่อ GDP MSME อย่างมาก ซึ่งจากการประมาณการ GDP MSME ของ สสว. คาดว่า GDP MSME ปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 7.98% เป็นผลมาจากการขยายตัวอย่างมากของภาคบริการ ทำให้ทุกสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งภาคผลิต การค้า และบริการได้รับอานิสงส์โดยตรง ส่งผลให้ GDP MSME มาอยู่ที่ 8.485 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวของ GDP ภาคการเกษตร ประมาณ 6.19% GDP ภาคการผลิต ขยายตัว 7.08% GDP ภาคการก่อสร้างขยายตัว 13.75% GDP ภาคการค้าส่งค้าปลีกขยายตัว 6.95% และ GDP ภาคการบริการขยายตัว 9.40%

สาขาในภาคการผลิตที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ สาขาการผลิตเครื่องสำอาง สาขาการผลิตเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ สาขาการผลิตสิ่งทอผืนสำเร็จรูป สาขาการผลิตการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น ส่วนสาขาในภาคการบริการที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สาขาการขนส่ง และการบริการที่เกี่ยวเนื่อง สาขากิจการโรงแรมและที่พักอื่นๆ สาขาภัตตาคาร และร้านขายเครื่องดื่ม เป็นต้น

3.จากสมมติฐานที่ว่า แนวโน้ม MSME ปี 2564 ทั้งภาครัฐมีการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 1% ประมาณ 5 แสนล้านบาท และเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น 50% ของนักท่องเที่ยวปี 2562 ส่งผลให้มีรายได้เข้าประเทศถึง 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลโดยตรงต่อ GDP MSME อย่างมาก ซึ่งจากการประมาณการ GDP MSME ของ สสว. คาดว่า GDP MSME ปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 8.63% เป็นผลมาจากการกระตุ้นภาครัฐให้มีการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

และมีการขยายตัวอย่างมากของภาคบริการ ทำให้  ทุกสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งภาคผลิต การค้า และบริการได้รับอานิสงส์โดยตรง ส่งผลให้ GDP MSME มาอยู่ที่ 8.536 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวของ GDP ภาคการเกษตร ประมาณ 7.01% GDP ภาคการผลิต ขยายตัว 7.57% GDP ภาคการก่อสร้างขยายตัว 13.82% GDP ภาคการค้าส่งค้าปลีกขยายตัว 7.51% และ GDP ภาคการบริการขยายตัว 10.43%

สาขาในภาคการผลิตที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ คือ สาขาการผลิตเครื่องสำอาง สาขาการผลิตเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ สาขาการผลิตการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น ส่วนสาขาในภาคการบริการที่มีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สาขาการขนส่ง และการบริการที่เกี่ยวเนื่อง สาขากิจการโรงแรมและที่พักอื่นๆ สาขาภัตตาคาร และร้านขายเครื่องดื่ม เป็นต้น
              นายวีระพงษ์ กล่าวต่อไปว่า GDP MSME ไตรมาสที่สองของปี 2563 ลดลง 17.2% เป็นการลดลงต่อเนื่องจากที่ในไตรมาสแรกลดลง 3.1% โดยมีมูลค่า 1,445,258 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศเท่ากับ 32.9% ลดลงจากสัดส่วน 34.9% ในไตรมาสที่แล้ว ส่งผลให้ GDP MSME ในครึ่งปีแรกของปี 2562 ลดลง 9.9% บาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศเท่ากับ 34.0%

ขณะที่ GDP ของประเทศตามการประกาศของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลดลง 12.2% โดยเมื่อพิจารณาตามขนาดวิสาหกิจ พบว่าวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด คือ ลดลงถึง 21.6% สำหรับวิสาหกิจขนาดย่อม (SE) และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ลดลง 17.9% และ 15.6%

              ส่วนของ GDP MSME ในสาขาธุรกิจที่ลดลงอย่างมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการบริการ ได้แก่ ธุรกิจบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ที่ลดลงถึง 50.2% ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ลดลง 38.9% และธุรกิจบริการด้าน ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ลดลง 46.0% ขณะที่ GDP MSME ในสาขาธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และสาขาอุตสาหกรรมลดลง 9.8% และ 14.4%

“สาเหตุที่ GDP MSME ไตรมาสที่สองของปี 63 ลดลงมากกว่าภาพรวมของประเทศ เป็นผลมาจากความรุนแรงของโรคโควิด-19 และมีการแพร่ระบาดทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจภาคการค้าและภาคบริการหลายประเภทที่มีความสำคัญต่อ MSME ทั้งในด้านจำนวนกิจการและจำนวนการจ้างงาน จำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว หรือแม้กระทั่งปิดกิจการ ทำให้รายได้ลดลง ทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการเองและในส่วนของผู้ใช้แรงงานที่ต้องขาดรายได้ ซึ่งรวมถึงรายได้จาก  การท่องเที่ยวที่หายไป จากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติตลอดทั้งไตรมาส”

สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 – 2564 นั้น แม้ว่าประเทศไทยจะควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดีอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ระบบเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก ซึ่งโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบ    อย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย และยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง เป็นต้น

“ถึงแม้ สสว. คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 63 เศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการบริโภคในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้บางส่วนในเดือนตุลาคม 2563 แต่ สสว. ประเมินว่าเศรษฐกิจ MSME ไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้”

นายวีระพงษ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมของสถานการณ์การส่งออกของ SME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – ก.ค.) มูลค่าการส่งออกของ MSME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 406,407.3 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.2% แต่เมื่ออยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะมีมูลค่า 15,290.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงเท่ากับ 17.4% และหากไม่รวมสินค้าในหมวดทองคำ (HS 7108) จะปรับตัวลดลง 17.2% โดย MSME มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อการส่งออกรวมเท่ากับ 11.5% ขณะที่การส่งออกรวมของประเทศมีมูลค่า 133,162.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.7%

ตลาดส่งออกหลักของ MSME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ยังคงปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด มีเพียงตลาดสหรัฐที่ขยายตัวได้ 19.9% สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของ MSME ในปี 2563 ที่ขยายตัวได้ ได้แก่ สินค้ากลุ่มผลไม้สด (+13.4%) สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+10.6%) และสินค้ากลุ่ม  ยานยนต์และส่วนประกอบ (+6.0%) ในทางกลับกันสินค้าส่งออกสำคัญที่ยังหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ คือ สินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่ปรับตัวลดลง 48.1%

ภาพรวมการส่งออกไปจีนของ MSME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 MSME มีการส่งออกไปยังประเทศจีนมูลค่า 2,585.0 คิดเป็นสัดส่วน 16.9% ของ MSME Export ทั้งหมด จึงนับเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับที่หนึ่งของ MSME โดยอัตราการขยายตัวลดลง 2.7% ซึ่งสาเหตุที่สำคัญมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเริ่มแพร่ระบาดในจีนตั้งแต่ต้นปี สินค้าส่งออกที่สำคัญของ MSME คือผลไม้ ซึ่งมีมูลค่า  การส่งออกไปยังจีนมากที่สุด คิดเป็น 75% ของมูลค่า MSME Export ไปยังจีนทั้งหมด และยังมีการเติบโตต่ออย่างเนื่องแม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

“MSME ส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปยังจีน 1,310 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 50.7% (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีสัดส่วน 44.5%) ของการส่งออกไปยังจีนทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวเท่ากับ 10.8% โดยสินค้าทางการเกษตรที่ MSME ส่งออกไปจีน ส่วนใหญ่ 84.5% เป็นสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูป ได้แก่ ผลไม้ ปลา และเนื้อสัตว์ และอีก 14.5% เป็นสินค้าเกษตรแปรรูป ได้แก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชและพืชผักแปรรูป”