‘มหาดไทย-เอ็นจีโอ’ เบียดไหล่ ปั้นผลงาน ‘งบหมู่บ้าน’

18 เม.ย. 2559 | 08:00 น.
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกออกอาการหนืดเกินคาด กระทั่งสำนักวิจัยตั้งท่าปรับลดเป้าเติบโตปีนี้ลง ขณะทีมเศรษฐกิจรัฐบาลงัดแผนกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนอีกระลอก นอกจากแพลตฟอร์มแล้ว อีกมาตรการ ครม.อนุมัติเติมเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ใส่เข้าหมู่บ้านทั่วประเทศซ้ำเข้าไปอีกโครงการ ทำให้เวลานี้มีแผนงานโครงการที่ลงพื้นที่ระดับหมู่บ้านเดินควบคู่กันหลายแผนงานจนดูเหมือนแข่งสร้างผลงานอยู่ในที

[caption id="attachment_45304" align="aligncenter" width="700"] โครงการลงพื้นที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกรัฐเปรียบเทียบภาคประชาชนสังคม-ธุรกิจ โครงการลงพื้นที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกรัฐเปรียบเทียบภาคประชาชนสังคม-ธุรกิจ[/caption]

  ไฟเขียวงบหมู่บ้านละ2แสน

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่ออังคารที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ หมู่บ้านละ 2 แสนบาท รวมวงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ต่อเนื่องจากโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ที่ไปทำโครงการที่เป็นความต้องการของพื้นที่ เช่น ลานตากมัน สระน้ำ หรือถนน ส่วนโครงการใหม่จะขยายต่อถึงเศรษฐกิจพอเพียงเรื่องการเกษตร ดูแลเรื่องสาธารณประโยชน์ โดยเน้นทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป

ส่วนวิธีดำเนินการนั้น จะเริ่มจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่จะประชุมหาข้อสรุปกัน ก่อนเสนอโครงการขึ้นมาภายใต้การแนะนำของผู้ใหญ่ กำนัน หรือเกษตรตำบล เป็นต้น แล้วส่งโครงการมาพิจารณาตกลงใจและเห็นชอบที่คณะกรรมการอำเภอ ส่วนงบประมาณภาครัฐจะสั่งจ่ายผ่านกระทรวงมหาดไทย ไปยังระดับอำเภอจนถึงหมู่บ้าน เริ่มโครงการได้ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ และให้สามารถเบิกจ่ายงบให้เสร็จสิ้นใน 3 เดือน หรือภายใน 31 กรกฎาคม 2559 นี้

 เติมเต็มงบตำบลละ 5 ล.บาท

ทั้งนี้ โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท หรือมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล วงเงินรวม 3.627 หมื่นล้านบาท เป็นหนึ่งในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรก ของทีมเศรษฐกิจชุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่อนุมัติพร้อมกับการเติมเงินกองทุนหมู่บ้านเกรดเอ-บี 6 หมื่นล้านบาท และเร่งรัดโครงการเล็กของหน่วยราชการให้ลงมือทันที รวมวงเงิน 1.36 แสนล้านบาท

อันที่จริง"กฤษฎา บุญราช" ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับตำบล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นวงเงินรวม 3.974 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ

1.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (โครงการตำบลละ5 ล้านบาท) เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ให้แก่ 7.255 พันตำบลทั่วประเทศ ตำบลละ 5 ล้านบาท รวมเป็น 3.627 หมื่นล้านบาท 2.วงเงินที่จัดสรรตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทยอีก 6.54 พันล้านบาท และ3.โครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร อีก 490 ล้านบาท

โดยโครงการตำบลละ5ล้านบาท เป้าหมายต้องการให้เป็นโครงการที่เสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ มีการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ชดเชยภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และบรรเทาผลกระทบภัยแล้งอาทิ การจัดสร้างหรือซ่อมแซมเหมืองฝาย การจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำ เช่น บ่อน้ำหลุมขนมครก จัดทำตลาดสินค้าชุมชน รวมถึงขยายผลโครงการในพระราชดำริ

ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานนั้น คณะกรรมการระดับหมู่บ้านเป็นผู้พิจารณาในระดับพื้นที่ ผ่านความเห็นชอบผ่านตำบล อำเภอ เพื่อเสนอโครงการให้คณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พิจารณาร่วมกับกรรมการจากส่วนราชการ ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด

กฤษฎา บุญราช ซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้ตั้งแต่ยังเป็นอธิบดีกรมการปกครอง โครงการนี้เสนอโดยประชาชน และมีการควบคุมโดยประชาชน และสังคมจับจ้องมาตั้งแต่เริ่มต้น เราจะทำให้โปร่งใสที่สุด ถือเป็นการวัดใจกัน งานนี้เป็นการเดิมพันระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับรัฐบาล ระหว่างสถาบันกำนันผู้ใหญ่บ้านกับนายอำเภอ ว่ายังใช้ได้ไหม ยังเป็นกลไกของรัฐในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขได้หรือไม่

 ประชารัฐใส่อีกเม็ดเงินลงตำบล-หมู่บ้าน

ก่อนใส่งบหมู่บ้านละ2แสนบาทครั้งนี้ รัฐบาลอนุมัติมาตรการที่เป็นการใส่เม็ดเงินเข้าพื้นที่ถึงระดับตำบลหมู่บ้านต่อเนื่องเป็นระลอก โดยในยุทธศาสตร์สานพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ให้เชื่อมต่อกับเศรษฐกิจชาติและการส่งออกสู่ตลาดโลก มีอีกอย่างน้อย 2 แผนงานหลัก

1.โครงการกองทุนหมู่บ้านละ 5 แสนบาท หรือโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ที่ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 ตามที่กระทรวงคลังเสนอ เพื่อเพิ่มการลงทุนในระดับชุมชนผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนการดำเนินการให้เบิกจ่ายเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 7.95 หมื่นกองทุน กองทุนละไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจชุมชน อาทิ ยุ้งฉาง ลานตากพืชผล โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ย แหล่งน้ำ เครื่องจักรแปรรูปทางการเกษตร และกิจกรรมที่เสริมสร้างศักยภาพอาชีพและความเป็นอยู่ชุมชนให้ดีขึ้น โดยให้เบิกจ่ายภายใน 6 เดือน หรือภายในกรกฎาคมนี้

น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายประชารัฐ เผยว่า งบประมาณจะจ่ายผ่านไปทางกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แต่เป็นเงินให้เปล่าเพื่อไปทำโครงการพัฒนาในพื้นที่ จึงต้องตั้งบัญชีแยกออกมาต่างหาก

การเสนอโครงการให้มีประชาคมหมู่บ้านแล้วเลือกตัวแทนเป็นผู้รับผิดชอบอย่างน้อย 3 คน รวมทั้งประเทศ 2.4 แสนคน ในการระดมความคิดการทำประชาคม จะมีอาสาประชารัฐอำเภอละ 10 คน เป็นวิทยากรกระบวนการ ช่วยตระเวนจัดเวทีประชาคม โดยนำกรณีศึกษาต้นแบบในพื้นที่มาถอดรหัส แลกเปลี่ยนในพื้นที่ เพื่อจัดทำโครงการของตนเอง ทีมอาสาประชารัฐอำเภอมี 980 ทีม คิดเป็นอีก 9.8 พันคน

"การทำเวทีประชาคมศึกษาแลกเปลี่ยนจากกรณีศึกษาในโครงการนี้ จะเป็นการจัดการองค์ความรู้ครั้งใหญ่ อย่างไม่เคยมีมาก่อน"

ในระดับจังหวัดจะมีศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด ทำงานร่วมกับกรอ.จังหวัด โดยจัดเป็นกลุ่มจังหวัดรวม 18 กลุ่ม บวกกลับ 2 กลุ่มจากกรุงเทพฯ ทำหน้าที่เชื่อมประสานกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานพิจารณาอนุมัติโครงการขั้นสุดท้าย

ภายใต้การจัดองค์กรดังกล่าว น.พ.พลเดชชี้ว่า จะเป็นการจัดโครงสร้างเครือข่ายประชารัฐ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึงระดับชาติ ที่มีภาคประชาสังคมเข้าร่วมในแผนงานนี้ไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนคน ซึ่งจะมีการจัดทำฐานข้อมูลเชื่อมโยงถึงกันอย่างทั่วถึง และคาดหวังว่าจะได้ทำต่อเนื่อง 3 ปีจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างเห็นชัดแน่

 ปั้นเกษตรกรนักธุรกิจ

ส่วนมาตรการที่ 2 โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งเอสเอ็มอีเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกรให้สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่ตลาดได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากครั้งใหญ่ แต่แผนงานนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณภาครัฐในลักษณะให้เปล่า-จ่ายขาด แต่มอบนโยบายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดวงเงินสินเชื่อให้เกษตรกรที่อาจเป็นลูกค้าธ.ก.ส.อยู่แล้ว หรือรายใหม่ เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยพิเศษ 4% ในระยะ 7 ปีแรก

ต่อมาโครงการนี้มีสภาเกษตรกรแห่งชาติเข้าร่วมด้วย และได้ตั้งเป้าหมายให้มีการกระจายวงเงินสินเชื่อแก่เกษตรกร ผลักดันเป้าหมายธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตร ตำบลละ 10 ล้านบาท ให้กระจายทั่วถึงกว่า 7.2 พันตำบลทั่วประเทศ พร้อมเสนอให้มีฝ่ายงานที่เป็นศูนย์บ่มเพาะในการพัฒนาเกษตรกรขึ้นเป็นผู้ประกอบการใหม่ให้เข้มแข็งอีกด้วย

ทั้ง 2 โครงการนี้ใช้กระบวนการที่ไม่ได้อิงกับกลไกบริหารราชการ แต่เป็นกลไกใหม่ที่เริ่มเข้ามารับภาระในระดับประเทศแล้ว และมีวงเงินเกี่ยวข้องในระดับกว่าแสนล้านบาท

เท่ากับว่าเวลานี้มีโครงการภาครัฐ ทั้งที่ดำเนินการผ่านกลไกราชการส่วนภูมิภาค จากผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านลงไปถึงคณะกรรมการหมู่บ้าน แล้วยังมีโครงการที่เริ่มใช้กลไกที่เปิดให้ภาคประชาสังคมและเครือข่ายของธ.ก.ส. เข้าไปทำงานถึงระดับพื้นที่ตีคู่กันมาแล้ว

แม้อาจทำให้คนพื้นที่ในหมู่บ้านสับสนไม่น้อย เมื่อมีสารพัดโครงการลงมาถึงพื้นที่ และมีกระบวนการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน แต่ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่า กระบวนการไหนมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์พื้นที่ตรงเป้า และเป็นอนาคตมากกว่ากัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2559