ร้องตั้งเรกูเลเตอร์ คุมบริการขนส่ง

12 ส.ค. 2563 | 08:00 น.

ศึกบริการขนส่งพัสดุเดือด ปณท. ร้องตั้งเรกูเลเตอร์คุมธุรกิจโลจิสติกส์ หลังคู่แข่งเอกชนทุ่มตลาด หวังสร้างมาตรฐานระบบขนส่งแบบเป็นธรรม พร้อมเดินหน้าสู่ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มแฟลช เดินหน้าทุ่ม 4.5 พันล้านรองรับการเติบโตอี-คอมเมิร์ซ ขยายศูนย์บริการครบ 10,000 แห่ง

      นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า การแข่งธุรกิจขนส่งพัสดุ มีการแข่งขันสูง โดยมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังขาดการกำกับดูแล โดยควรมีองค์กรเข้ามากำกับดูแลการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม โดยขณะนี้มีผู้เล่นในตลาดที่เข้ามาแข่งขันด้วยราคา โดยไม่มีกฎระเบียบหรือการควบคุมจากเรกูเลเตอร์

     “การแข่งขันนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้ธุรกิจเกิดการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ปณท เป็นรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับตามมาตรฐานต่างๆ ต่างจากเอกชน ที่ไม่มีการควบคุมใดๆ และไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นควรมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเบื้องต้นมองว่าอยากให้ร่วมกับทาง กสทช. เนื่องจากเป็นองค์กรด้านการสื่อสารเช่นเดียวกัน”

      นายก่อกิจ กล่าวต่อไปอีกว่า วันนี้บอร์ด ปณท มีหน้าที่ อนุมัติแสตมป์ การเปิดสาขา ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ไปรษณีย์ไทย ขณะที่คู่แข่งจะเปิดสาขาที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ สำหรับการแข่งขันรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นยอมรับได้ แต่ที่ไม่ได้คือถ้ามีเจ้าใหม่มาแล้วดัมพ์ราคาลงไปอีกแต่ไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น หากองค์กรขาดทุนแล้วปิดหนีไปใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เหมือนกับการนำขนมหวานมาล่อ ด้วยราคาถูกเมื่อเจ้าหลักในตลาดอยู่ไม่ได้หลังจากนั้นเค้าจะคิดราคายังไงก็ได้”

     ปัจจุบัน ปณท เน้นการให้ บริษัทลูก หรือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด เพื่อแข่งขันกับตลาดโดยการลงทุนในปีนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตามแผนธุรกิจใหม่ และการมองหาองค์กรที่มีจุดแข็งเป็นพันธมิตร ซึ่งแผนครึ่งปีแรกจะลงทุนในระบบการคัดแยกพัสดุเพื่อการนำจ่ายที่รวดเร็วขึ้นลดจำนวนคนและ Re-Skill ให้สามารถทำงานอื่นที่ยังต้องการทักษะของคน โดยในครึ่งปีแรก ปณท. มีรายได้ 12,937.57 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 864.99 ล้านบาท

ร้องตั้งเรกูเลเตอร์  คุมบริการขนส่ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก.เกษตรฯจับมือไปรษณีย์ไทย ส่ง EMSผลไม้แค่ 8 บาทต่อกิโลฯ

     โดยยังเป็นเบอร์ 1 ในการครองส่วนแบ่งตลาด อยู่ที่ 58% ขณะที่ในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 นั้นจำนวนการส่งจดหมายและพัสดุระหว่างประเทศ ไปกว่า 100 ล้านชิ้น และมียอดส่งอยู่ที่ 8 ล้านชิ้นต่อวัน ขนส่งไปแล้วกว่า 4 ล้านกิโล ทั้งนี้ในปี 2563 คาดการณ์รายได้รวมอยู่ที่ 27,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,600 ล้านบาท ขณะที่งบลงทุนที่ตั้งไว้ในปีนี้จากเดิมประมาณ 3-4 พันล้าน จะมีการปรับลดลงราว 50%

      ทั้งนี้ ปณท มีแผนที่จะขับเคลื่อนสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้นด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยี อาทิ ตู้ชาญฉลาดที่ลักษณะเหมือน ibox รับฝากสิ่งของเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคในจุดต่างๆ อาทิ รับฝากยาโดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องมารับเองที่โรงพยาบาลโดยตั้งเป้าติดตั้ง 30,000 กล่อง ภายใน 3 ปี

     นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ แฟลช ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร กล่าวว่าพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยต่างเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เรียกว่า New Normal ที่เน้นการช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีตัวเลขเติบโตสูงกว่า 35% ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลต่อธุรกิจขนส่งทำให้ยอดส่งพัสดุสูงขึ้น โดยแฟลช เอ็กซ์เพรส ครึ่งปีแรกมียอดส่งพัสดุรวมกว่า 100 ล้านชิ้น เฉลี่ยต่อวันมากกว่า 1 ล้านชิ้นหรือเติบโตขึ้นกว่า 3,000% ทำให้มีรายได้ต่อเดือนมาก กว่า 1,000 ล้านบาท

      ครึ่งปีหลัง แฟลช เอ็กซ์เพรส เตรียมใช้งบลงทุนเพิ่ม 4,500 ล้านบาท เสริมศักยภาพทางธุรกิจให้สอดรับกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และเตรียมขยายบริการไปยัง 3 ประเทศกลุ่ม AEC ในไตรมาส 4 ทั้งยังเตรียมขยายศูนย์บริการในประเทศเพิ่มอีก 5,000 แห่ง รวมเป็น 10,000 แห่งทั่วประเทศ และเพิ่มรถขนส่งพัสดุอีกราว 30% จากเดิมที่มีรถขนส่ง 15,000 คัน

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,599 วันที่ 9 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563