เซ็ต ซีโร่ ‘ธุรกิจแฟชั่น’  ต่อยอดสร้างมูลค่า เจาะตลาดจีน 

12 ส.ค. 2563 | 06:40 น.

ชี้พิษโควิด-19 เซ็ต ซีโร่ธุรกิจแฟชั่น แนะผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มจากงานครีเอทีฟผนวกแฟชั่น พร้อมขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนหลังพบตลาดแฟชั่นลักชัวรีโตแรง

     พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อเทรนด์ของแฟชั่นให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ขณะที่กระแส New Normal,Work From Home ทำให้แบรนด์แฟชั่นต้องมีการปรับตัว ซึ่งมองว่าตลาดจีนน่าสนใจมากในโลกของแฟชั่น เนื่องจากกำลังซื้อมีมหาศาล ขณะเดียวกันตัวเลือกก็มีมหาศาลเช่นกัน และไทยก็ถือว่าไม่ใช่ประเทศลำดับต้นๆของการเป็นตัวเลือกในสินค้าหมวดแฟชั่นลักชัวรี ฉะนั้นการที่จะทำให้คนจีนรู้จักต้องมาให้ถูกทาง

     นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจแฟชั่นกลับมาเริ่มต้นใหม่ (Set Zero) ซึ่งในวงการแฟชั่นมีการดิสรัปชั่นของปัจจัยต่างๆเข้ามาสักระยะหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย เทรนด์ ผู้เล่นหน้าใหม่ และความต้องการที่ส่งผลให้โลกแฟชั่นเปลี่ยนแปลง ทั้งการใช้ชีวิตและการแต่งตัว ซึ่งก่อนการระบาดของโควิด-19 เรียกว่าเป็นยุคของการเปลี่ยนถ่ายในโลกแฟชันอยู่แล้ว ซึ่งการเข้ามาของโควิด-19 ส่งผลให้โลกแฟชั่นถูกเขย่าและเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น LVMH ฯลฯ ที่ต่างหาทิศทางการทำตลาดที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากที่สุด”

เซ็ต ซีโร่ ‘ธุรกิจแฟชั่น’   ต่อยอดสร้างมูลค่า เจาะตลาดจีน 

     ทั้งนี้หลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไปโลกแฟชั่นจะเปลี่ยน แปลงในหลายด้าน ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากนี้จะใช้คำว่า “แฟชั่น” อย่างเดียวไม่ได้แต่จะกลายเป็น “ธุรกิจแฟชั่น” ซึ่งจะทำอย่างไรให้แฟชั่นหรือความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นมูลค่าขึ้นมาได้ และแน่นอนว่าตลาดจีนถือเป็นตัวแปรที่สำคัญของโลกแฟชั่น เนื่องจากปัจจุบัน 30% ของตลาดแฟชั่นลักชัวรี่ในโลกมาจากประเทศจีน และสิ่งที่น่าสนใจคือจนถึงปัจจุบันสินค้าในกลุ่มแฟชั่นลักชัวรีของจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะวิกฤติของโควิด-19 และสินค้าบางรายการเติบโตขึ้นถึง 20% ในกลุ่มแฟชั่น

     “คำแนะนำจากคุณณรงค์ เจียรวนนท์ เคยให้เป็นข้อคิดว่าในการเข้าไปทำตลาดสินค้ากลุ่มแฟชั่นลักชัวรีว่า คนจีนทุกวันนี้เขาเลือกคบแต่ช้าง ต่ำกว่าช้างเขาไม่คบ เนื่องจากประชาชนเขามีอำนาจและกำลังซื้อและถ้าคุณมาจากประเทศไทยคุณต้องเป็นช้างเผือกเท่านั้น ถึงจะมีคนคบค้าสมาคมด้วย ดังนั้นการเข้าไปทำตลาดให้ถูกวิธีคือเราต้องมองตัวเองเป็นช้างเผือก เข้าให้ถูกช่องทาง เลือกวิธีการสื่อสารให้ถูกต้อง พาร์ตเนอร์ถึงจะยอมเจรจากับเรา เพราะถ้าหากคุณไปผิดเพียงครั้งเดียวโอกาสที่มีอยู่อาจจะเลือนหายไปทันที”

    อย่างไรก็ตามวันนี้ ตลาดจีน ที่หลายผู้ประกอบการอยากจะเข้ามาแข่งขันกลับกลายเป็นตลาดที่ไม่ง่ายเหมือนดังเช่นอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นประชาชนมีฐานะมากขึ้น ส่งผลให้มีทางเลือกมากขึ้น ทำให้ตลาดมีความยากมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเริ่มต้นจากในประเทศไทยเอง คือเมื่อคนจีนมาท่องเที่ยวไทย ทำให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นนึกถึงว่ามาไทยจะต้องซื้ออะไรและมีสินค้าอะไรที่โดดเด่นในการซื้อกลับประเทศนั้นคือการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ไอ.ซี.ซีฯ’ เดินเครื่อง  กระทุ้งยอดแฟชั่นฟื้น
ตลาดแฟชั่นโคม่า “สหพัฒน์”ยอดร่วง40%
แฟชั่นโลกหลังยุคโควิด ชุดทำงานสไตล์ลำลองมาแรง​​​​​​​
“อินดิเท็กซ์” ยักษ์ใหญ่แฟชั่นโลกพร้อมทุ่ม 9.4 หมื่นล้าน เดินหน้าฝ่าโควิด​​​​​​​​​​​​​​

 

     ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และผู้ก่อตั้ง Asava Group นายพลพัฒน์ กล่าวว่า มีการปรับทิศทางการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับ เทรนด์และโลกแฟชั่นหลังยุคโควิด-19 ผ่านแผนงานหลักในการโฟกัสการทำตลาดในประเทศเป็นหลักเพื่อสร้างฐานที่แข็งแกร่งให้กับแบรนด์ก่อนขยายไปตลาดต่างประเทศ อื่นๆ ผ่านนำเรื่องของ IT และ Digital Marketing มาใช้ในการสร้างแบรนด์ทั้งในช่องทางออนไลน์ และหน้าร้านทั้ง 10 สาขาของบริษัท ซึ่งแม้ว่าภาพรวมตลาดแฟชั่นปีนี้จะยังไม่สามารถฟื้นกลับมา ณ จุดเดิมก่อนการระบาดได้แต่เชื่อว่าสถานการณ์ในครึ่งปีหลังหากไม่มีเรื่องของการระบาดระลอก 2 เข้ามาเกี่ยวข้องภาพรวมตลาดน่าจะสามารถฟื้นกลับมาได้ และคาดการณ์ว่าจะใช้เวลา 1 ปีตลาดจึงจะกลับมาสู่สภาพเดิม

   “ณ วันนี้ต้องยอมรับว่าตลาดต่างประเทศไม่ใช่รายได้หลักขององค์กร เนื่องจากบริษัทเพิ่มเริ่มมีการเข้าไปทำตลาดต่างประเทศได้ไม่นานมากนัก โดยเฉพาะในตลาดจีนที่แม้จะเห็นรายได้บ้างแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงของการสร้างแบรนด์ ซึ่งแผนงานในต่างประเทศนับจากนี้บริษัทจะโฟกัสไปที่จีนเป็นหลัก โดยวางเป้าติดท็อป 5 แบรนด์ Top Of Mind ในใจชาวจีน”

   อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการทุ่มงบประมาณรุกช่องทาง E-commerce ให้กับแบรนด์ในเครือ ไม่ว่าจะเป็น ASAVA, ASV, Uniform by ASAVA และ MOO เพื่อรองรับการเข้ามาของเทคโลโนลยี โดยในปีนี้ก็จะยังคงโฟกัสการทำตลาดในช่องทางออนไลน์ควบคู่กับออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังมีแผน เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ก่อนจะต่อยอดขยายสาขาร้านอาหารในเครือเพิ่มอีก 1 แห่งในช่วงปลายปี 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,599 วันที่ 9 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563