โรงแรมฮึดสู้ ต้าน“กลุ่มเถื่อน” รับอุดหนุน40%

07 ส.ค. 2563 | 04:00 น.

สมาคมโรงแรมไทยค้านรัฐผ่อนปรนให้ที่พักและโรงแรม ไม่มีใบอนุญาตแต่เสียภาษีถูกต้อง เข้าร่วมขายห้องพัก ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ยันเป็นดาบสองคม หนุนธุรกิจผิดกฏหมาย จี้ปรับแก้ 2 เงื่อนไข ดันยอดจองเพิ่ม

     จากกรณีที่ ภาครัฐ อยู่ระหว่างการหารือ ถึงแนวคิดที่จะออกมาตรการ ผ่อนปรนให้ที่พักและโรงแรมขนาดเล็กตั้งแต่ 1 ดาวขึ้นไปโฮมสเตย์ โฮสเทล บูทิค โฮเทล ที่มีการชำระภาษีอย่างถูกต้อง แม้จะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ให้สามารถเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ได้ ซึ่ง โรงแรมจะได้รับเงินค่าห้องพัก 40% จากเงินที่รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย 40% ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยหวังเพิ่มจำนวนโรงแรม ให้เข้าร่วมโครงการ เป็น 10,000 แห่งจาก ปัจจุบันที่มีโรงแรมเข้าร่วมโครงการ 6,684 แห่ง ทั้งๆที่ในไทยมีโรงแรมราว 5-6 หมื่นแห่ง เพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เนื่องจากพบว่าโครงการนี้มีประชาชนมาลงทะเบียนร่วม 4.7 ล้านคน แต่มีเข้ามาจองห้องพักราว 3.5 แสนห้องเท่านั้น

    แนวคิดดังกล่าว สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ที่รัฐจะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของโรงแรมที่ผิด กฎหมาย ขณะที่ในกลุ่มโรงแรมระดับเอสเอ็มอี ต่างก็ขานรับในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมา แม้ไม่มีใบอนุญาตประกอบการ แต่ก็เสียภาษีถูกต้อง

อุดม ศรีมหาโชตะ

    นายอุดม ศรีมหาโชตะ กรรมการสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขอเรียกร้องให้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ธนาคารกรุงไทย และกระทรวงมหาดไทย ได้ทำการวิเคราะห์และพิจารณาในเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง

     เนื่องจากมองว่าจะเป็นดาบสองคม ที่ภาครัฐจะสนับสนุนผู้ประกอบการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร, พ.ร.บ.โรงแรม และ พ.ร.บ. สาธารณสุข โดยเฉพาะการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการปรับหลักเกณฑ์ของโรงแรมที่พักที่จะเข้าร่วมมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว หรือเราเที่ยวด้วยกัน

     ทั้งนี้ภาครัฐควรต้องมาวิเคราะห์ว่าทำไมคนมาใช้สิทธิน้อยประมาณ 350,000 ห้อง (ณ วันที่ 2 สิงหาคม2563) อาจจะเป็นเพราะโครงการนี้ห้ามเปลี่ยนแปลงการจองของวันที่เข้าพักและลดหรือเพิ่มจำนวนห้องพักเมื่อได้ทำการจองและจ่ายเงินผ่านระบบเป๋าตังแล้ว และต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันก่อนการเข้าพักดังนั้นถ้าสามารถแก้ไขเงื่อนไขและหลักเกณท์สองอย่างนี้ได้ อาจจะมีการจองใช้สิทธ์มากขึ้นได้

โรงแรมฮึดสู้  ต้าน“กลุ่มเถื่อน”  รับอุดหนุน40%

     นอกจากนี้ยังต้องยอมรับว่าที่คนมาใช้สิทธิ จองห้องพักน้อย มาจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวพยายามที่จะลดการใช้จ่ายหรือจำนวนวันเข้าพัก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“เราเที่ยวด้วยกัน” ดันโรงแรมขนาดเล็กเข้าโครงการ
อัพเดต "เราเที่ยวด้วยกัน" โรงแรมชลบุรีฮิตสุด เช็กอิน 14,338 ห้อง
4 กลุ่มต่างชาติจ่อเข้าไทย รับคลายล็อกเฟส 6 ดันต่อ ‘Travel Bubble’
ททท.พลิกวิกฤติโควิด รีแบรนด์ภาพลักษณ์ใหม่ท่องเที่ยว
หวั่นโควิด ระลอก 2  ท่องเที่ยวโลก ชู 5 สเต็ปฟื้นธุรกิจรอ 3 ปีกลับสู่ปกติ

      นายอุดม ยังกล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนโรงแรมที่เข้ามาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มี 6,684 แห่ง เทียบกับจำนวนโรงแรม ที่ถูกต้องทั้งหมด (รวมที่พักที่ไม่ใช่โรงแรมไม่เกิน 4 ห้อง และโฮมสเตย์ ที่ได้ทำการจดแจ้งขออนุญาตแล้ว) ว่าเป็นสัดส่วนกันเท่าไหร่ จากที่ได้ข้อมูลคร่าวๆ น่าจะมีโรงแรมที่ถูกต้องประมาณไม่ตํ่ากว่า15,000 แห่ง

     ภาครัฐควรที่จะนำมาจำแนกตามจังหวัดว่า ในแต่ละจังหวัดท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองนั้นมีมาเข้าร่วมโครงการแล้วเท่าไหร่ เพียงพอต่อนักท่องเที่ยวหรือไม่ แล้วต้องไปพยายามให้โรงแรมที่เหลือ (ที่ถูกต้อง) เข้ามาร่วมโครงการก่อนว่าเขาติดปัญหาอะไร หรือไม่ทำไมไม่มาเข้าร่วมโครงการ หรือถ้าจะผ่อนผันก็ควรผ่อนผันให้กับโรงแรมที่อยู่ในขั้นตอนการต่ออายุใบอนุญาตโรงแรม และโรงแรมที่ขอใบอนุญาตใหม่ (ที่ได้รับการตรวจสอบผ่านแล้ว) ได้เข้าร่วมโครงการ โดยทางอำเภอหรือจังหวัดเป็นผู้ออกเอกสารยืนยันการตรวจสอบว่าผ่านมาตรฐานความปลอดภัยและสาธารณะสุข

      ที่ผ่านมา สมาคมโรงแรมไทย ได้ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้มีการออก กฎกระทรวง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 ซึ่งมีอายุ 5 ปีนับแต่วันที่ประกาศ 11 ส.ค.59 เพื่อช่วยเหลือและผ่อนผันผู้ประกอบการในการแก้ไขและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารที่พักมาเป็นอาคารโรงแรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งควรที่จะต้องมีโรงแรมหรือที่พักที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อ 4 ปีที่แล้วสามารถดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ โรงแรม จนถึงปัจจุบันนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง โรงแรมบูติก และโฮสเทลที่ผ่านการแก้ไขถูกต้องตามกฎหมาย

     ดังนั้นการสนับสนุนธุรกิจที่ไม่มีอนุญาต เข้ามาร่วมโครงการ ภาครัฐ ก็ควรต้องวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมเพราะในส่วนของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจถูกต้องก็ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้นายอุดมกล่าวทิ้งท้าย

      อย่างไรก็ตามเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจองเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และมองว่าจะมีวงเงินเหลือ เพื่อไปทำโครงการเราเที่ยวด้วยกันระยะที่ 2 ที่จะกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พักและค่าใช้จ่ายในการเดินท่องเที่ยว จากเดิมสนับสนุนอยู่ 40% จะเพิ่มเป็น 60% สำหรับคนที่จองเดินทางท่องเที่ยวใน 55 เมืองรอง  และมีแผนจะขยายโครงการให้สิ้นสุดในช่วงสื้นปีนี้ 
        นอกจากโครงการนี้ ทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)อยู่ระหว่างจัดทำโครงการใหม่ มาเสริมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน  เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา เน้นให้คนไทย ที่ปกติเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศราว 12 ล้านคน หันมาเที่ยวในประเทศ การดึงกลุ่มคนต่างชาติที่ทำงานและพำนักในไทย ราว 2 ล้านคน และกลุ่มองค์กร เดินทางท่องเที่ยววันธรรมดา โดยททท.จะหารือกับผู้ประกอบการกระตุ้นการท่องเที่ยววันธรรมดา อาทิ  ให้ห้องพักฟรีวันพฤหัส เพื่อจูงใจให้จองห้องพักช่วงศุกร์-อาทิตย์เพิ่ม

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563