ทุนจีนรุก‘เมียวดี’ ผุดอาคาร-คอนโดฯริมเมยไม่ยั้ง

12 ก.ค. 2563 | 05:36 น.

กลุ่มทุนจีนดาหน้าผุดอาคารที่พัก คอนโดมิเนียม โรงแรม อพาร์ตเมนต์ ริมแม่น้ำเมยฝั่งเมียนมา รอบเมืองเมียวดีไม่หยุด เพื่อเตรียมรองรับชาวจีนมาอาศัยหลายแสนคน

 

กลุ่มทุนจีนปักหมุด"เมียวดี"  ดาหน้าผุดอาคารที่พัก คอนโดมิเนียม โรงแรม อพาร์ตเมนต์ ริมแม่น้ำเมยฝั่งเมียนมา รอบเมืองเมียวดีไม่หยุด ตามรอยกลุ่ม"หย่าไถ้"ผุดโครงการพัฒนาครบวงจร"เมืองใหม่ชเวโก๊กโก่" ตรงข้ามอำเภอแม่สอด หรือโครงการวาเล่ย์ใหม่ ตรงข้ามเขตอำเภอพบพระ คาดพร้อมรองรับคนจีนเข้าพักได้นับแสนคน ปลุกเศรษฐกิจแนวแม่น้ำเมยเคลื่อนไหวคึกคัก

การรุกคืบของทุนจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่เช่าจากทางการเมียนมาตามแนวแม่น้ำเมย เส้นกั้นเขตแดนด้านตะวันตกของไทยเขตจังหวัดตาก นับวันจะปรากฏชัดขึ้นเป็นลำดับ นอกจากเขตพื้นที่เช่าขนาดใหญ่เพื่อทำโครงการพัฒนาครบวงจร อาทิ โครงการพัฒนาเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ของกลุ่มหย่าไถ้ (YATAI International Holding Group) ด้วยงบลงทุนกว่า 1,5OO ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คืบหน้าไปมากแล้ว ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด หรือโครงการวาเลย์ใหม่ ที่ทำฐานรากอาคารพาณิชย์แล้ว ที่ฝั่งตรงข้ามอำเภอพบพระ จังหวัดตาก แล้ว กลุ่มทุนจีนอื่นๆ ก็เร่งผุดอาคารที่พักคอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงานใหม่ๆ รอบเมืองเมียวดีกันหนาตา

 

ผุดคอนโดรอบเมียวดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนมานี้ กลุ่มทุนจีนไม่น้อยกว่า 6-7 กลุ่ม ได้มีการทำสัญญาเช่าพื้นที่จากทางการเมียนมาและชนกลุ่มน้อย จำนวนไม่น้อยกว่า 20-30 โครงการ และได้ทำการเนรมิต สร้างอาคารอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายในสิ้นปี 2563 หรือต้นปี 2564 จะมีชาวจีนเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการก่อสร้างดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันหลายพันล้านบาท ทุนจีนรุก‘เมียวดี’  ผุดอาคาร-คอนโดฯริมเมยไม่ยั้ง

โดยมีทั้งอาคารที่พักแบบคอนโดมิเนียม (Condominium) โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ และศูนย์การค้า ผุดขึ้นหลายแท่งแถบชานเมืองเมียวดี ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซ้ายและขวา ซึ่งอาคารที่พักที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ สามารถรองรับคนจีน ที่จะเดินทางมาอาศัยอยู่จำนวนหลายแสนคน

การเคลื่อนตัวเข้ามาของกลุ่มทุนจีนริมฝั่งแม่น้ำเมยในเมียนมา ตลอดแนวพรมแดนตะวันตกของไทยในเขตจังหวัดตาก จากความสอดคล้องของนโยบายการพัฒนา 2 ชาติ ในเมียนมาต้องการพัฒนาพื้นที่หลังจากรัฐบาลกลางตกลงหยุดยิง และจับมือกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยพัฒนาพื้นที่ ขณะที่ทางจีนก็ส่งเสริมนักธุรกิจจีนให้ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ (หรือ Belt & Road Initiative)

 

บุกเบิกเมืองใหม่“โก๊กโก่”

เริ่มจากโครงการพัฒนาเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ ที่ทางการเมียนมาโดยกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ของชนกลุ่มน้อย ให้กลุ่มหย่าไถ้ (YATAI International Holding Group) เช่าพื้นที่ในเขตเมืองเมียวดี พัฒนาโครงการ ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเมยตรงข้ามท่าพ่อเลี้ยงคำ บ้านวังแก้ว ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ตามแผนงานเมืองใหม่โก๊กโก่จะพัฒนาบนพื้นที่ 30,000 เอเคอร์ (กว่า 80,000 ไร่) เป็นเมืองใหม่ครบวงจร คือมีทั้งอาคารที่พักทุกรูปแบบ ตั้งแต่บ้านเดี่ยวถึงคอนโดมิเนียม โรงงาน คลังสินค้า ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรมแรม เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ พื้นที่พัฒนาการเกษตร การท่องเที่ยว ด้วยงบลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการก่อสร้างคืบหน้าไปมาก

นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวเมืองใหม่อีก 1 แห่ง เพื่อขยายเศรษฐกิจ การค้า-การท่องเที่ยว ที่ตลาดเมืองใหม่
อ.วาเล่ย์ใหม่ จ.เมียวดี ตรงข้ามชายแดนไทย ที่ท่าข้ามบ้านวาเล่ย์-บ้านวาเล่ย์เหนือ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก โดยมีกลุ่มทุนชาวจีน ได้ขอเช่าพื้นที่จากสหภาพเมียนมา ขยายเมืองและศูนย์การค้าแห่งใหม่ เพื่อแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจชเวโก๊กโก่ของกลุ่มหย่าไถ้ ทุนจีนรุก‘เมียวดี’  ผุดอาคาร-คอนโดฯริมเมยไม่ยั้ง

นอกจากลุ่มหย่าไถ้แล้ว ยังมีโครงการลงทุนของนักธุรกิจจีนหลากหลายกลุ่มรอบๆ เมืองเมียวดี อาทิ กลุ่มเฮงเชง กลุ่มหัวเฮี่ยน ฯลฯ เป็นต้น ทำให้เมืองเมียวดีขยายตัวพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สร้างที่อยู่อาศัย บ้านเรือน ที่พัก โรงแรม อาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า จนถึงการพัฒนาสาธารณูปโภค ทำให้เศรษฐกิจแนวชายแดนฝั่งเมียนมาคึกคักอย่างยิ่ง คาดจะกลายเป็นเมืองที่มีคนจีนนับล้านเดินทางมาติดต่อทำธุรกิจการค้า และพักอาศัยนับล้านคนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

 

เร่งนำเข้า“วัสดุก่อสร้าง”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางฝั่งเมียนมา นายพลหม่องชิดตู่ เลขาธิการกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ได้เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการบริหารกองกำลัง BGF และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม กว่า 40 คน ที่สำนักงานประสานงานบริษัท ฉ่วยโก๊ะโก่ (MU.511590) อำเภอเมียวดี จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สหภาพเมียนมา ด้านตรงข้ามบ้านวังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก

โดยที่ประชุมได้สรุปสาระสำคัญ ในการประชุมฝ่ายบริหาร BGF ประกอบด้วย

1. การนำสินค้าเข้าผ่านช่องทางท่าข้ามให้ชะลอไว้ก่อน จนกว่ารัฐมนตรีพาณิชย์เมียนมา จะเดินทางมาจังหวัดเมียวดี เพื่อประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย

2. ในขั้นต้นจะขอให้เปิดสินค้านำเข้าอุปกรณ์การก่อสร้าง (เป็นบางจุด) เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก

3. รถยนต์ (ญี่ปุ่น) ที่นำเข้ามาจังหวัดเมียวดี จะนำเสนอประสานขอทางฝ่ายเมียนมา ต่อไป

4. นายพลหม่องชิดตู่ เลขาธิการ BGF จะขอให้เปิดท่าข้ามขนส่งสินค้าท่า 34 กับ ท่าข้ามขนส่งสินค้าท่า 9 โดยให้จะให้เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรฝ่ายเมียนมามาควบคุมสินค้าที่นำเข้าเฉพาะอุปกรณ์ก่อสร้างไปก่อน ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค และการพัฒนาเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองใหม่โก๊ะโก่ ในสหภาพเมียนมา

ส่วนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและอื่นๆ จะมีการเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหภาพเมียนมาร์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยให้เสร็จสิ้นและได้ข้อสรุปก่อน

การประชุมของฝ่ายเมียนมาและ BGF เกิดขึ้นภายหลังจากการที่ฝ่ายไทยได้มีการเปิดท่าเรือ ท่าข้ามธรรมชาติ ตามท่าเรือขนส่งสินค้าริมแม่น้ำเมย ชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดตาก กับ จังหวัดเมียวดี รวม 33 แห่งริมแม่น้ำเมย ตั้งแต่ 6 กรกฎาคม 2563 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน แต่เนื่องจากทางฝั่งเมียนมายังไม่พร้อม จึงต้องมีการประชุม กำหนดแผนงานในเรื่องการนำเข้าสินค้าและการค้าขายกับฝ่ายไทยอีกครั้ง ก่อนมีการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน ตามท่าข้ามต่างๆ แต่เร่งให้ไฟเขียวนำเข้าวัสดุก่อสร้าง เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการลงทุนใหม่ๆ โดยเร็ว

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจฝั่งเมียวดี เป็นทั้งโอกาสและความกังวลสำหรับนักธุรกิจชายแดนแม่สอด ที่ต้องเร่งพัฒนาแม่สอดและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก (อำเภอแม่สอด พบพระ แม่ระมาด) ให้พร้อมรับการเติบโตทางเศรษฐกิจฝั่งเมียนมา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดโมเดลพัฒนา ‘โก๊กโก่’ มังกรผงาดที่ริมเมย

ทุนยักษ์จีนข้ามเมย เยือนแม่สอด ดึงลงทุนเชื่อม‘เมืองใหม่โก๊กโก่’

ทุนจีนทะลักริมเมย แข่งผุดเมืองใหม่‘บ้านวาเล่ย์ใหม่’ประกบ‘พบพระ’

ทุนจีนรุก‘เมียวดี’  ผุดอาคาร-คอนโดฯริมเมยไม่ยั้ง

 

ทุนจีนรุก‘เมียวดี’  ผุดอาคาร-คอนโดฯริมเมยไม่ยั้ง

จี้ปลดล็อกนครแม่สอด

เมื่อเดือนมกราคม 2563 พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่นวุฒิสภา นำคณะกมธ.ฯ ลงพื้นที่ดูงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ที่ อ.แม่สอด และศึกษาดูงานที่เทศบาลนครแม่สอด รวมทั้งร่วมประชุมกับทางจังหวัด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จากนั้นได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องแผนงานพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก โดยชี้ว่าอำเภอแม่สอดตั้งอยู่ชายแดนตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ตรงข้ามอำเภอเมียวดีของสหภาพเมียนมา อยู่บนทางหลวงหมายเลข 12 แนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก มีมูลค่าการค้าชายแดนปีละหลายหมื่นล้านบาท มีศักยภาพพร้อมรับการลงทุน

ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศให้จังหวัดตาก เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้มากมาย เช่น สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 อาคารที่พักสำนักงานและระบบรันเวย์สนามบินนานาชาติแม่สอด หลังใหม่ การพัฒนาสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา เทคโน โลยีสื่อสาร ด่านศุลกากรใหม่

แต่ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษตากล่าช้าและมีอุปสรรคมาก เพราะข้อจำกัดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่และท้องถิ่น ข้อกำหนดผังเมือง การขนส่งบข้ามแดน พื้นที่แลนด์มาร์กแห่งใหม่ ข้อกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน

ทำให้มีกลุ่มทุนจีนตัดสินใจไปลงทุนในเมียนมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเช่าพื้นที่ในสหภาพเมียนมา 500,000 ไร่ (เมืองใหม่โก๊กโก่) เป็นเมืองใหม่ที่ทันสมัยและสมบรูณ์แบบ ด้วยการลงทุนมหาศาล ไม่เกินปี 2570
จะมีชาวจีนเดินทางมาอยู่นับล้านคนรวมทั้งจะมีการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมกรุงย่างกุ้ง-คุนหมิง-เมืองใหม่ โก๊กโก่ เส้นทางมอเตอร์เวย์ เมืองใหม่โก๊กโก่ ไปเมืองมะละแหม่ง (เมาะลำไย) ฯลฯ

จึงมีความจำเป็น ที่รัฐบาลและภาครัฐ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากล่าช้า ให้กลับมารวดเร็วและเป็นรูปธรรม รวมถึงแผนที่จะผลักดันให้เทศบาลนครแม่สอด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภา จะได้ประสานแจ้งรัฐบาลต่อไป

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563