‘พิษลิง’ฉุดมะพร้าวเหลือ15บาท คู่ค้าอังกฤษชะลอส่งมอบ

11 ก.ค. 2563 | 07:45 น.

ผู้ดีแบนกะทิไทย ทุบราคามะพร้าวร่วงเหลือลูกละ 15 บาท ผู้ส่งออกงานเข้า ลูกค้าเลื่อนชิปเมนต์ส่งมอบ ยุโรปแห่ขอหนังสือยืนยันไม่ใช้แรงงานลิง ผสมโรงพิษโควิด-บาทแข็งค่า คาดปีนี้ตัวเลขส่งออกยังติดลบ

ผลจากซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในเมืองผู้ดีอังกฤษได้ แบนกะทิและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทย โดยนำออกจากชั้นวางจำหน่าย อ้างเหตุ ใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตามคำเรียกร้องขององค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (PETA) ซึ่งภาครัฐและเอกชนของไทยได้เร่งทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาแล้วนั้น ล่าสุดผลพวงยังส่งผลกระทบต่อ ราคามะพร้าว วัตถุดิบที่ใช้แปรรูปส่งออกที่เกษตรกรขายได้ลดลงตามไปด้วย

 

นายวิโรจน์ สว่างงาม เจ้าของจุดรับซื้อมะพร้าว อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคารับซื้อมะพร้าวผลแห้งขนาดใหญ่ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 1,500 บาทต่อร้อยผล หรือ 15 บาทต่อผล ลดลงจากเดือนมีนาคมซื้อที่ 20 บาทต่อผล โดย ราคามะพร้าวที่อ่อนตัวลง เวลานี้ เป็นผลจากเข้าหน้าฝนผลผลิตมีมาก ส่วนกรณีการถูกโจมตีเรื่องใช้ลิงเก็บมะพร้าวที่ทำให้ไทยถูกแบนสินค้าในอังกฤษอาจมีผลด้านจิตวิทยาและเป็นปัจจัยซ้ำเติมทำให้ราคามะพร้าวปรับตัวลดลง จากมีความกังวลหวั่นการถูกแบนจะลามไปในยุโรป

 

สอดคล้องกับนายพงษ์ศักดิ์ บุตรรัตน์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่กล่าวว่า ราคามะพร้าวผลเวลานี้ลดลงเหลือ 15-16 บาทต่อผล จากผลผลิตในประเทศมีมาก จากราคาก่อนหน้าเคยขึ้นไปสูงถึง 18-19 บาทต่อผลในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ต้องจับตาการถูกแบนผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในอังกฤษจะมีผลทำให้ราคามะพร้าวลดลงหรือไม่ จากปกติเดือนสิงหาคมราคามะพร้าวจะปรับตัวสูงขึ้น จากจะมีผลผลิตที่ลดลง

 

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การที่กะทิและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทยถูกแบน มีผลกระทบทางตรงต่อผู้ส่งออกคือ ลูกค้าเลื่อนชิปเมนต์การนำเข้า และนำสินค้าออกจากชั้นวางจำหน่าย ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือ ลูกค้าในอังกฤษและหลายประเทศในยุโรปได้ขอหนังสือยืนยันจากผู้ส่งออกว่าไม่ได้ใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว

 

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายเกรงการแบนสินค้าจะขยายวงไปยังตลาดอื่นๆ ของไทย เรื่องนี้มองว่าจะสามารถชี้แจงให้ประเทศคู่ค้าเข้าใจได้ทันในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ขณะที่ผู้ส่งออกจะเร่งทำความเข้าใจกับผู้นำเข้า และผู้ค้าปลีกปลายทางว่าไทยไม่ได้ใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

3 แนวทาง แก้ปัญหา "ลิงเก็บมะพร้าว"

ปม "ลิงเก็บมะพร้าว" เดือด "ปองพล" ขุดคดี PETA ย้อนถามรักลิงจริงหรือ

"ลิงเก็บมะพร้าว" สะเทือนกะทิ "ชาวเกาะ" ยอดขายร่วง​​​​​​​

“ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว 5,522 ล้านบาท ลดลง 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อลดลงจากการระบาดของโควิด-19 และการกลับมาแข็งค่าของเงินบาท และล่าสุดมีประเด็นการถูกโจมตีเรื่องการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว คาดจะทำให้ช่วงครึ่งแรกปีนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวในภาพรวมยังติดลบ และคาดทั้งปีก็จะยังอยู่ในแดนลบ”

 

นายเอกศักดิ์ เทพผดุงพร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกะทิและผลิตภัณฑ์มะพร้าว ตราชาวเกาะ เผยว่า ปกติบริษัทมีซัพพลายเออร์ช่วยตรวจสอบผู้ส่งมอบผลผลิตมะพร้าวให้กับบริษัท โดยไปตรวจที่สวน แล้วให้เซ็นรับทราบว่าไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว อย่างไรก็ดีล่าสุดมีข่าวเริ่มหนาหูว่าอาจจะมีการชะลอออร์เดอร์จากคู่ค้า แน่นอนว่าเมื่อคำสั่งซื้อลดลง การสั่งซื้อมะพร้าวย่อมจะลดลงตามไปด้วย ในอนาคตหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ย่อมจะส่งผลกระทบต่อชาวสวนตามกลไกตลาด

 

ขณะที่นางศศิวรรณ นวลศรี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดอาวุโส บริษัท ไทยอกริ ฟู้ดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิต จำหน่าย และส่งออกกะทิตราอร่อยดี กล่าวว่า บริษัทส่งออกกะทิไปหลายสิบประเทศทั่วโลก และส่วนหนึ่งมีตลาดหลักที่อังกฤษ การถูกนำสินค้าออกจากชั้นวางจำหน่ายจึงได้รับผลกระทบเพราะเป็น 1 ในผู้ส่งออกรายใหญ่ ที่ผ่านมาบริษัทได้ทำเอ็มโอยูกับเกษตรกรและผู้ส่งมอบวัตถุดิบไม่ใช้มะพร้าวที่มาจากการเก็บผลผลิตโดยลิงแล้ว

 

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563