กินโต๊ะ "การบินไทย" ที่ปรึกษาบ้าเลือด เสียค่าโง่จ้างอีวายทำแผนฟื้นฟู

13 ก.ค. 2563 | 04:20 น.

แผนฟื้นฟูการบินไทยวงแตก จ้าง “อีวาย”20 ล้านบาท แต่ทำไม่ได้จนบัดนี้ร่างแผนฟื้นฟูกิจการยังไม่คลอด ทั้งๆที่ศาลนัดไต่สวน 17 ส.ค.นี้ บอร์ดเข้าใจผิดนึกว่าจ้างอีวาย ตปท. พิลึกเสนอจ้างที่ปรึกษาเพิ่ม 80 ล้านบาท บอร์ดฟื้นฟูทนไม่ไหว ดึง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีร่วมทำแผนนอกรอบ 

การจัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งมีภาระหนี้สิน352,484 ล้านบาท มีทรัพย์สินอยู่ที่ 256,665 ล้านบาทกำลังเผชิญกับปัญหาอย่างหนักในเรื่องของการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาชุดต่างๆเข้ามาทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อนำพาองค์กรให้รอด โดยคณะกรรมการบริหารการบินไทย ได้ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาหลายชุด หลายบริษัทเข้ามาทำแผนไม่ว่าจะเป็นการจ้าง บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านกฏหมาย ซึ่งจะหมดภารกิจ เมื่อศาลล้มละลายกลาง ไต่สวนให้ การบินไทยเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้การบินไทยก็ได้ว่าจ้างบริษัทสำนักงานกฏหมายสากล สยามพรีเมียร์ จำกัด ของ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านกฏหมาย

รวมถึงว่าจ้าง บริษัทฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และว่าจ้าง บริษัทสำนักงาน อีวาย จำกัด เข้ามาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูร่วมกับกรรมการ 6 คนของการบินไทย แต่นับจากศาลล้มละลายกลาง ได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ของ การบินไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ค.63 จนถึงปัจจุบันกับพบว่าการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อใช้ประกอบการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลาง ได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องในวันดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 17 ส.ค.2563 จนถึงวันนี้แผนดังกล่าวก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างแต่อย่างใด

เข้าใจผิดจ้างอีวาย

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการจ้างอีวาย ประเทศไทย ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ทำให้อีวาย ไม่สามารถทำร่างแผนฟื้นฟูได้ และมีการผลักดันให้อีวาย ต่างประเทศ ที่มีประสบ การณ์ในการฟื้นฟูสายการบิน เข้ามาร่วมทำแผน แต่จะขอเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้น 4 อรหันต์บอร์ดการบินไทยที่เข้ามาร่วมทีมทำแผนฟื้นฟู ซึ่งนำทีมโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ,นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จึงมองว่าถ้าจะจ้างที่ปรึกษาเพิ่มก็ควรไปนำจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์จริงเข้ามา

ทำให้มีการผลักดันให้บริษัท Seabury ซึ่งเป็นพันธมิตรกับบริษัท ACCENTUR เข้ามารับงานการบินไทย โดยมีการเสนอให้บอร์ดอนุมัติจ้างเพิ่ม 80 ล้านบาท แต่ท้ายสุดบอร์ดได้ดึงบริษัทแมคคินซีย์ แอนด์ โค (ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินระดับโลก) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการทำแผนฟื้นฟูการบินไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัด6กลยุทธ์ ฟื้น "การบินไทย" ขายตั๋วราคาเดียว ดึงต่างชาติร่วมทุน

เปิดใจ"ชาญศิลป์" ฟื้นการบินไทย ศึกหนักคนภายใน

รื้อใหญ่ EVP "การบินไทย" สอยขาใหญ่ก่อนฟื้นฟู

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เรื่องการจ้างอีวาย ในไทย ความมาแตกตรง ที่เมื่อมีการประชุมร่วมกันระหว่างอีวาย มีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีการจ้างอีวาย เข้ามาทำแผน ซึ้งก็ได้รับการชี้แจงโดยอ้างว่าที่จ้างอีวาย เพราะ 1.อีวาย มีไลเซ้นท์ และ 2.อ้างว่าอีวาย มีประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการการบินของโลกมาแล้ว ซึ่งนับจากประชุมร่วมกันครั้งแรก ที่ประชุมก็ได้มอบหมายให้อีวายไปจัดทำเค้าโครงมาว่าจะทำแผนฟื้นฟูกิจการแบบไหนอย่างไร ทางอีวายขอเวลา 1 สัปดาห์ พอมีการประชุมครั้งที่ 2 แผนก็ยังไม่มีมาให้ จนประชุมครั้งที่ 3 อีวาย ยอมรับไม่เคยทำเรื่องการฟื้นฟูกิจการการบิน แต่คนที่เคยทำคืออีวาย ต่างประเทศ ซึ่งบอร์ดบางคนเข้าใจผิดนึกว่าจ้างอีวายต่างประเทศ     จากนั้นที่ประชุม จึงบอกว่าถ้าเป็นเครือเดียวกัน ให้ไปเอาอีวาย ที่ประสบการณ์ด้านฟื้นฟูการบินมาพรีเซ้นท์ สัปดาห์แรกก็ยังไม่มา พอมีการจี้ไป จึงไปเอามาพรีเซ้นท์ ซึ่งแผนที่อีวาย ต่างประเทศ นำมาพรีเซ้นท์ แสดงให้เห็นว่าสามารถทำแผนได้จริง แต่ปัญหาคือ การบินไทย ไม่ได้จ้างอีวาย ต่างประเทศ แต่คนที่รับจ้างการบินไทย คืออีวาย ประเทศไทย


กินโต๊ะ "การบินไทย" ที่ปรึกษาบ้าเลือด  เสียค่าโง่จ้างอีวายทำแผนฟื้นฟู

จ้างเพิ่มแมคคินซีย์

ทางออกในเรื่องนี้ จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการจ้างที่ปรึกษาเพิ่มอีกหนึ่งราย เพราะคนที่เป็นคู่สัญญากับการบินไทย ทำไม่ได้ ทั้งๆที่การบินไทย จ่ายค่าจ้างให้ไปร่วม 20 ล้านบาท และก็ไปเอาผิดอีวาย ประเทศไทย ก็ไม่ได้ เพราะอีวาย ยืนยันว่าทำงานตามกรอบการจ้างที่ระบุไว้ในสัญญา และอีวาย จะเริ่มทำงานในวันที่ 17 ส.ค.ในวันที่หากศาลสั่งให้การบินไทยเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู แต่ในทางปฏิบัติถ้าอีวาย จนถึงวันนี้ยังไม่เริ่มทำเค้าโครงแผนฟื้นฟูทางคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูจะนำแผนที่ไหนไปเสนอแก่ศาล

ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้ในวันนี้ จึงมี 2 ทาง ทางที่ 1 คือ ต้องจ้างเพิ่ม ทางฟินันซ่า ก็ผลักดันเสนอให้บอร์ดอนุมัติงบอีก 100 ล้านบาท เพื่อไปจ้างบริษัท Seabury ให้มาเป็นที่ปรึกษาเพิ่มในการทำแผนฟื้นฟู แทนอีวาย ที่ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งในที่ประชุม โดยเฉพาะนายพีระพันธุ์ มองว่าราคาแพงเกินไป โดยเฉพาะมีค่าคิดบริการเพิ่มอีก 5 % ทำแผน 7 ปี บริษัทนี้จะได้เงินไปกว่า 5-6 พันล้านบาท และจะไปอธิบายต่อสังคมได้อย่างไรว่าระหว่าง Seabury กับอีวาย ที่การบินไทย ประกาศออกไปแล้วว่าอีวาย เป็นทีมทำแผนฟื้นฟูการบินไทย และนอกจาก Seabury ก็ยังมี บริษัทแมคคินซีย์ แอนด์ โค (ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินระดับโลก) สนใจเสนอราคามา 35 ล้านบาท

แต่ด้วยเวลาที่กระชั้นชิด เพราะเป็นเดือนมิ.ย.แล้ว ที่ประชุมจึงให้มีการไปเสนอราคามาใหม่ โดยหลังจากการทบทวนราคา Seabury เสนอราคาลดเหลือ 80 ล้านบาท ส่วนแมคคินซีย์ เสนอราคามา 17.5 ล้านบาท ซึ่งด้วยราคาที่แม็คเค็นซี่ เสนอมาถูกกว่าห่างกันร่วม 62 ล้านบาท ประกอบกับแมคคินซีย์ เคยทำแผนฟื้นฟูให้อเมริกัน แอร์ไลน์ และไออาร์พีซี รวมถึงการเขียนแผนมาดี อาทิ ปัญหาการบินไทยคืออะไร ฝูงบินการบินไทยเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมก็เลยเลือกแมคคินซีย์

 

ตั้งทีมทำแผนธุรกิจ

ส่วนแนวทางที่ 2 คือ มีการไปทำแผนกันนอกรอบ ซึ่งมีแกนหลัก คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่เพิ่งเข้าไปนั่งเป็นรักษาการดีดีการบินไทย โดยได้ดึง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยทำแผนให้ ซึ่งเป็นการทำให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพื่อเดินคู่ขนานกันไป เพื่อให้ทางคณะผู้ทำแผนดำเนินการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ศาลนัดไต่สวน

ขณะเดียวกันล่าสุดรักษาการดีดี ยังได้ตั้งคณะทำงานSurvival Team เพื่อเข้ามาร่วมจัดทำแผนธุรกิจในระยะเร่งด่วน ของการบินไทย ในช่วง 4 เดือนนี้ (9ก.ค.-31ต.ค.63) โดยให้EVP ฝ่ายการพาณิชย์,ฝ่ายกลยุทธองค์กร,ฝ่ายปฏิบัติการ,ฝ่ายช่าง มาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งคณะทำงานชุดนี้มีพนักงานการบินไทยทั้งหมด 21 คนร่วมทำงาน โดยมีนายชาญ เอี่ยมศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายธุรกิจปิโตรเลียมประกันภัย และสิ่งแวดล้อมการบิน (D3) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563