กรุงเทพฯตะวันออกระอุ  ‘ค้าปลีก’ ชิงปักธง ดักกำลังซื้อ 

15 ก.ค. 2563 | 04:30 น.

บิ๊กเนมชิงธง “ค้าปลีก” กรุงเทพฯตะวันออกพาเหรด จองพื้นที่ ปักหมุดทั้งศูนย์การค้า/มิกซ์ยูส/พรีเมี่ยม เอาท์เล็ตชูแม็กเน็ต รับเศรษฐกิจขยายตัว ยกระดับกำลังซื้อเทียบเท่าคนเมือง

บางนา-ตราด กลายเป็นทำเลทอง เป็นย่านเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง เป็น Strategic Location ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีมากในอนาคต จากองค์ประกบรอบด้านทั้งระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคที่กำลังถูกพัฒนาหรืออยู่ในแผนพัฒนา ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้ารางคู่บางนา-สุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังเป็นหน้าด่านในการเดินทางเข้า-ออก CBD ของกรุงเทพฯ ผ่านทางถนนมอเตอร์เวย์ และ ถนนสุขุมวิท รวมทั้งยังเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญสู่ Eastern Economic Corridor (EEC) วันนี้จึงมีแรงซื้อมหาศาลเกิดขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร การชิงพื้นที่ปักธง  “ค้าปลีก” ในหลากหลายรูปแบบจึงเกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุนเมกาบางนา ที่เดินหน้าเพิ่มมิกซ์ ยูส สร้างอาณาจักร “เมกาซิตี้ บางนา” หรือการเปิดตัวค้าปลีกโมเดลเอาท์เล็ต อย่าง “เซ็นทรัล วิลเลจ” ของกลุ่มเซ็นทรัล และ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ” ของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ส่งผลให้แบรนด์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น “ซีคอนสแควร์” หรือ “เซ็นทรัล บางนา” ต้องเร่งปรับตัวรองรับการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น

กรุงเทพฯตะวันออกระอุ   ‘ค้าปลีก’ ชิงปักธง ดักกำลังซื้อ 

ยกระดับสู่เมืองเศรษฐกิจ

นางสาวปพิตชญา สุวรรณดี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเมกาบางนา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกมีการขยายตัวของเมืองอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในย่านบางนาที่เห็นการพัฒนาและการเติบโตแบบรวดเร็วผ่านกลุ่มธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ที่ผุดโครงการที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ มากมาย เพื่อรองรับการขยายตัวของคนเมืองที่ปัจจุบันนิยมออกมาอยู่อาศัยรอบนอกกรุงเทพฯ (Urbanization)

“กลุ่มครอบครัวในย่านนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงและมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเทียบเท่ากับคนที่อาศัยในเมือง ทำให้บรรดาธุรกิจค้าปลีกและกลุ่มรีเทลต่างๆ พากันเบนเข็มมาที่ย่านบางนา ปักหมุดธุรกิจของตัวเองเพื่อขยายฐานลูกค้า พร้อมทั้งปรับตัวและสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อครองใจลูกค้าในย่านนี้”

อย่างไรก็ดีโครงการค้าปลีกและธุรกิจรีเทลแต่ละโครงการต่างมีจุดเด่น และกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งขึ้นอยู่กับ Market
Segmentation ของแต่ละธุรกิจที่จับลูกค้าแต่ละกลุ่มแต่ละความต้องการแตกต่างกันออกไป หากมองภาพรวมจะพบว่า การแข่งขันของกลุ่มค้าปลีกหรือรีเทลในย่านบางนานี้ ยิ่งส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ ตะวันออกโดดเด่นชัดเจนยิ่งขึ้นในฐานะเมืองเศรษฐกิจสำคัญ

 

พลิกโฉมสู่ “มิกซ์ ยูส”

กรรมการผู้จัดการ เมกาบางนา กล่าวอีกว่า วันนี้เมกาบางนา เดินหน้าการเป็น มีทติ้ง เพลส ของคนกรุงเทพฯตะวันออกให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาเมกาบางนาเป็นศูนย์กลาง และแบ่งการพัฒนาออกเป็นหลายเฟส เพื่อให้สมบูรณ์แบบความเป็นมิกซ์ยูส แม้ในช่วงที่ผ่านมาโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนและเศรษฐกิจไทย แต่แนวโน้มที่คลี่คลายทำให้เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และภาคธุรกิจจะเริ่มปรับตัวรับเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

 

โดยเมกาบางนาได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของศูนย์เพื่อให้สอดคล้องกับสถาน การณ์ปัจจุบัน และพฤติกรรมลูกค้า ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนร้านค้า และบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เช่น การเพิ่มผู้เช่าหลักใหม่ อย่างห้างเซ็นทรัล และยังเพิ่มแบรนด์สินค้าอาทิ Dior และ YSL ฯลฯ และในไตรมาสที่ 3 จะมีร้านค้าและแบรนด์ใหม่ๆเพิ่มเข้ามาอีกมากมาย 

ทั้งนี้เมกาบางนา ยังเตรียมพัฒนาพื้นที่รองรับการเติบโตของชุมชนย่านบางนา และตอบรับความต้องการของไลฟ์สไตล์แบบต่างๆ ภายใต้โครงการเมกาซิตี้ ซึ่งจะตอบรับทุกความต้องการของผู้บริโภคตั้งแต่ตื่นนอน จนกลับบ้าน โดยจะรวบรวมโรงเรียน ออฟฟิต ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจรไว้ในที่นี่ด้วย

 

ด้านนางณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล กล่าวว่า ย่านบางนา-ตราด ถือเป็นทำเลทองที่มีศักยภาพสูง เห็นได้จากการเกิดขึ้นของอสังหา ริมทรัพย์จำนวนมาก และยังเป็นประตูสู่ภาคตะวันออก ทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายทั้งคนทำงาน ครอบครัว คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีกำลังซื้อสูง ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีการเติบโตสูงกว่าในเขตเมือง ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของห้างเซ็นทรัล ดังนั้นบริษัทจึงเลือกที่จะปรับเปลี่ยนจากห้างโรบินสัน เมกาบางนา เป็นห้างเซ็นทรัล เมกาบางนา เพื่อให้ตอบโจกย์ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างลงตัว

ขณะเดียวกันด้วยวิชันของกลุ่มเซ็นทรัลเอง มองว่าเซ็นทรัลพลาซา บางนา ก็ยังมีศักยภาพและยังรองรับกลุ่มลูกค้าได้ดี จึงมีแผนที่จะปรับโฉมสาขาบางนาให้เป็น Second Home ในอนาคตด้วย 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563