ธ.ก.ส.เหนือเตรียม500ล้านปล่อยกู้ไปซื้อ"ลำไย"

04 ก.ค. 2563 | 09:51 น.

    ธ.ก.ส. เตรียมวงเงินกว่าพันล้าน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมผลไม้ปี 2563 คาดแบ่งให้ภาคเหนือประมาณ500 ล้าน ดูดซับและกระจายผลผลิตลำไย ลิ้นจี่ ที่กำลังออกมากกว่าปีก่อนและเจอปัญหาโควิด-19

ธ.ก.ส. หนุนเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดำเนินธุรกิจ รวบรวมผลไม้ ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง เพื่อดูดซับปริมาณและกระจาย ผลผลิตผลไม้ในช่วงฤดูกาลไปยังตลาดในจุดต่าง ๆ เตรียมวงเงินสินเชื่อกว่า 1,000 ล้านบาทรองรับ โดยมีกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชดเชยดอกเบี้ยให้อีกร้อยละ 3 ต่อปี ในช่วง 6 เดือนแรก เปิดจ่ายเงินกู้แล้วตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2563
    

นายภูมิ เกลียวสิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคเหนือมีผลไม้หลากหลายชนิดที่เป็นอาชีพหลักของพี่น้องเกษตรกรทางภาคเหนือ โดยเฉพาะช่วงนี้ลำไยกำลังจะออกสู่ท้องตลาด ในเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้ ทาง ธ.ก.ส.ร่วมกับทางราชการทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และภาคเอกชน รวมทั้งตลาด จึงได้จัดให้มีการสัมมนา โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมผลไม้ ปี 2563 ที่ โรงแรมเมอร์เคียวเชียงใหม่ 
    

การสัมมนานี้เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผลผลิตลำไย ซึ่งจะออกสู่ท้องตลาดในเร็ว ๆ นี้ และปีนี้มีแนวโน้มว่าปริมาณผลผลิตจะสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าราคาจะมีผลกระทบบ้าง เนื่องจากปัญหาเรื่องของไวรัสโควิด 2019 ที่จะทำให้การส่งออกอาจจะมีปัญหา จึงประชุมและสัมมนาขึ้นมาโดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจลำไยมาพูดคุยปรึกษาหารือกันว่า ทิศทางของลำไยปีนี้ของภาคเหนือจะไปอย่างไร 
   ธ.ก.ส.เหนือเตรียม500ล้านปล่อยกู้ไปซื้อ"ลำไย"    

ในส่วนของ ธ.ก.ส.บทบาทสำคัญเรื่องของการสนับสนุนเงินทุน โดยในช่วงที่ลำไยออกสู่ท้องตลาดจำนวนมาก ๆ ถ้าหากว่าเกษตรกรระบายขายให้กับพ่อค้าพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนสิงหาคม มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการรวบรวมลำไยต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ถ้าธนาคารสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการกลางน้ำ ในการจะรวบรวมผลผลิตลำไยไว้ในมือ มีเงินทุนเพียงพอที่จะไปรับซื้อลำไยจากพี่น้องเกษตรกร และส่งต่อให้กับผู้ประกอบการที่ทำลำไยอบแห้ง หรือ ผู้ส่งออก หรือขายปลีกที่ห้างท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็จะเป็นการช่วยเหลือพยุงราคา โดยที่ ธ.ก.ส. เป็นผู้เติมเงินเข้าไป 
    

ทั้งนี้ ของกระทรวงพาณิชย์จะมีกองทุนชดเชยให้กับราคาผลผลิต หรือ คชก.เดิม ในการให้สินเชื่อครั้งนี้ก็จะมีเงินชดเชยจากกระทรวงพาณิชย์ให้ร้อยละ 3 จากที่ธนาคารคิดจากผู้ประกอบการในอัตรา MLR  ปัจจุบันอยู่ที่ 4.875
    

 ธ.ก.ส.เหนือเตรียม500ล้านปล่อยกู้ไปซื้อ"ลำไย"

 ธ.ก.ส.เหนือเตรียม500ล้านปล่อยกู้ไปซื้อ"ลำไย"

ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมผลไม้ ปี 2563 เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนและสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจรับซื้อรวบรวมผลไม้ของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร เป็นการช่วยดูดซับปริมาณผลไม้ในช่วงฤดูกาลไม่ให้ราคาตกต่ำ และเพิ่มทางเลือกในการกระจายผลไม้ไปยังแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ อีกทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกร ผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ปี 2563 กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเน้นผลไม้หลัก 7 ชนิด ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง วงเงินสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2563
    

สำหรับผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อต้องเป็นเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชน ที่มีประสบการณ์ในการรวบรวมผลไม้ กำหนดวงเงินกู้กรณีเป็นเกษตรกรสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตรา ดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) กรณีกลุ่มเกษตรกร สูงสุดไม่เกิน 30 ล้านบาท กรณีสหกรณ์การเกษตร สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท และกรณีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสูงสุดไม่เกิน 20 เท่า ของเงินทุนตนเองและไม่เกิน 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี) โครงการดังกล่าวกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3.00 ต่อปี ในช่วง 6 เดือนแรกนับจากวันที่จัดทาสัญญาเงินกู้ โดยกำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่จัดทำสัญญาเงินกู้ และไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
    

นอกจากนี้ธนาคารยังสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อลำไยจากเกษตรกร เพื่อนำไปรวบรวมหรือแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยพร้อมสนับสนุนสินเชื่อ SME เกษตร อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ในระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR หรือ MLR แล้วแต่กรณี
    ธ.ก.ส.เหนือเตรียม500ล้านปล่อยกู้ไปซื้อ"ลำไย"  

 ธ.ก.ส.เหนือเตรียม500ล้านปล่อยกู้ไปซื้อ"ลำไย"

โครงการนี้ทั่วประเทศเตรียมเงินไว้สำหรับผลไม้ 1,000 ล้านบาท ก็คิดว่าน่าจะเพียงพอ เนื่องจากมีส่วนของเงินทุนส่วนตัวสมทบด้วย ส่วนผลผลิตลำใยปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ  6 แสนตัน แเพิ่มขึ้นประมาณ 6-7 ทำให้แนวโน้มราคาน่าจะลดลง ตามหลักของตลาดดีมานด์และซัพพลาย จึงพยายามที่จะส่งเสริมให้ผลิตลำไยที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นเกรดที่ไม่ต้องห่วงเรื่องราคา แต่เกษตรกรเรายังทำได้ไม่ถึงขั้นนั้น อาจจะต้องใช้ความรู้ความสามารถมากขึ้น
    

นโยบายธ.ก.ส.ปีนี้ เน้นส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมได้ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการคิดค้นเรื่องของนวัตกรรม รวมทั้งเอาเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าไปศึกษาเรียนรู้ เพื่อค้นหาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียกว่านิวเจนให้เข้ามาสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น เพื่อที่จะใช้องค์ความรู้ในการปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเชื่อว่าในระยะยาวเราจะสามารถก้าวตามทันสิ่งเหล่านี้ได้
   ธ.ก.ส.เหนือเตรียม500ล้านปล่อยกู้ไปซื้อ"ลำไย"    

นายภูมิกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ซึ่งดูแล 8 จังหวัดภาคเหนือ ตอนบน(เชียงราย แพร่ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน พะเยา ลำพูน และแม่ฮ่องสอน) ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมทุกโครงการแล้วกว่า 100 ราย วงเงินที่ขอกู้กว่า 400  ล้านบาท คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินกู้เพื่อไปดำเนินการรับซื้อลำไยได้เร็วที่สุดภายในไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจสามารถ สอบถามรายละเอียดและติดต่อขอเข้าร่วมโครงการได้ที่ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนทุกสาขาได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 ธ.ก.ส.เหนือเตรียม500ล้านปล่อยกู้ไปซื้อ"ลำไย"