เปิดใจ"ชาญศิลป์" ฟื้นการบินไทย ศึกหนักคนภายใน

04 ก.ค. 2563 | 20:15 น.

การบินไทย เผยเจ้าหนี้ต่างชาติรายใหญ่ หนุนทีมทำแผนฟื้นฟู หลังเจรจาไปแล้วไม่ตํ่ากว่า 21 ราย แลกกับการทยอยชำระหนี้  ทั้งจ้างอีวาย รวมถึงสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบิน เข้ามาร่วมกันจัดทำแผนธุรกิจใหม่ กำหนดกลยุทธ์ในการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆทั้งจ่อร้องขอศาลใช้ทรัพย์สินคํ้าประกันเงินกู้ เสริมสภาพคล่อง ด้าน “ชาญศิลป์” เปิดใจนำองค์กรฝ่าวิกฤติ

ปัจจุบันการบินไทย อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้  เพื่อให้สนับสนุนการบินไทยทำแผนฟื้นฟูกิจการ  เพราะในวันที่ 13 ส.ค.นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่เจ้าหนี้ผู้คัดค้าน มีสิทธิ์ยื่นคำคัดค้านขอฟื้นฟูกิจการ ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ซึ่งปัจจุบันการบินไทยมีภาระหนี้อยู่ที่ 352,484 ล้านบาท  

ขณะนี้การบินไทยได้ดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่ และเจ้าหนี้ให้เช่าเครื่องบิน (Lessors) ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 21 ราย ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและยินดีสนับสนุนการบินไทยในการฟื้นฟูกิจการ ขั้นตอนต่อไปการบินไทย จะต้องเสนอจำนวนเงินที่จะทยอยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้พิจารณา เพื่อออกหนังสือยินยอมให้การบินไทยใช้เครื่องบินต่อไป

ส่วนเจ้าหนี้สถาบันการเงินในประเทศ ได้เริ่มนัดเจรจาไปแล้ว 16 สถาบันการเงิน ส่วนเจ้าหนี้หุ้นกู้ ยังไม่ได้เริ่มกระบวน การเจรจา เนื่องจากอยู่ภายใต้สภาวะพักการชำระหนี้ชั่วคราว ตามกระบวนการฟื้นฟู และต้องรอความชัดเจนของแผนธุรกิจใหม่ (new Business Plan) เพื่อกำหนดกรอบในการเจรจาต่อไป

โดยการจัดทำแผนธุรกิจใหม่ เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นที่จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งการบินไทย จะจ้างบริษัทสำนักงานอีวาย จำกัด และสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบิน เข้ามาร่วมกันจัดทำแผนธุรกิจใหม่ ร่วมกับการปรับปรุงเส้นทางบิน เพื่อนำไปสู่การกำหนดประเทศปลายทางที่จะทำการบิน การกำหนดเครื่องบินที่จะใช้ การเจรจากับเจ้าหนี้ การประมาณการทางการเงิน และการกำหนดกลยุทธ์ในการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆที่ชัดเจน

อีกทั้งการบินไทยยังอยู่ระหว่างการขอรับคำรับรองการฟื้นฟูกิจการของไทยในต่างประเทศ (Recognition) เพื่อให้ทรัพย์สินหรือเครื่องบิน ของการบินไทยปลอดภัยจากการถูกยึดขณะให้บริการในต่างประเทศ โดยจะดำเนินการใน 7 ประเทศ โดยประเทศที่ศาลรับรองแล้ว คือ เยอรมนี ส่วนที่รอฟังคำสั่งศาลอยู่ คือ สมาพันธ์รัฐสวิส และประเทศที่จะยื่นคำร้องต่อ คือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเบลเยี่ยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัพเดท "การบินไทย" ภายใต้แผนการฟื้นฟูกิจการ คลิกอ่านได้ที่นี่

ตั้ง “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร”รักษาการดีดี "การบินไทย"

งัด6กลยุทธ์ ฟื้น "การบินไทย" ขายตั๋วราคาเดียว ดึงต่างชาติร่วมทุน

ขอศาลกู้เงิน

นอกจากนี้การบินไทย ยังมีแผนจะขออนุญาตศาลเพื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินโดยใช้ทรัพย์สินของการบินไทย ค้ำประกัน เนื่องจากแม้การบินไทยจะพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้จำนวนหนึ่ง แต่หากกระบวนการพิจารณารับคำร้องของศาลล้มละลายกลางล่าช้าออกไป อาจจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง อีกทั้งการบินไทยยังไม่เริ่มดำเนินการลดจำนวนพนักงานในขณะนี้ โดยจะเริ่มดำเนินการโดยอาศัยความสมัครใจของพนักงานเป็นอันดับแรก แล้วจึงใช้มาตรการการประเมินจากประสิทธิภาพและสมรรถนะของพนักงานในลำดับต่อไป

รวมถึงการขอให้รัฐบาลสนับสนุนสิทธิในการประกอบกิจการ หรือเช่าที่ดินจากบริษัท ท่าอากาศยายไทย จำกัด (มหาชน) สิทธิ์ในการเป็นผู้ประกอบการโรงซ่อมอากาศยาน (MRO) สนามบินอู่ตะเภาด้วย

 

เร่งเคลียร์เจ้าหนี้

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการทำแผนฟื้นฟู ตามกระบวนการในช่วงเวลานี้ เราอยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน,เจ้าหนี้หุ้นกู้, เจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้กับการบินไทย เพื่อไปเจรจาให้เขาเกิดความเข้าใจ เพราะการบินไทย จะได้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูหรือไม่ ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้เป็นสำคัญ

เปิดใจ"ชาญศิลป์" ฟื้นการบินไทย ศึกหนักคนภายใน

สำหรับลูกค้าของการบินไทย และสมาชิกสะสมไมล์ รอยัล ออร์คิด พลัส (ROP) การบินไทยมีความตั้งใจที่จะดูแลและรักษาสิทธิ์ของผู้โดยสารทุกคน แต่ขอเวลาให้เราได้เตรียมตัวในเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งมีความสำคัญมากในขณะนี้ก่อน

สยายปีกก.ย.-ต.ค.นี้

ส่วนการกลับมาเปิดทำการบิน และสร้างรายได้อีกครั้ง ประมาณการณ์ว่าน่าจะกลับมาบินในเส้นทางระหว่างประเทศได้ในช่วงเดือนก.ย.หรือต.ค.นี้ แต่จะทำการบินในลักษณะเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เพื่อรับผู้โดยสาร เพราะต้องพิจารณาให้สัมพันธ์กับแผนการควบคุมคนเดินทางเข้าประเทศของรัฐบาล ที่จะมีการเจรจาเป็นรายประเทศ ซึ่งการบินไทยก็คงจะทำการแบบได้ในลักษณะพ้อยท์ ทู พ้อยท์ ขณะที่จุดบินภายในประเทศ หลังจากไทยมีการควบคุมโควิดได้ดี ทางไทยสมายล์ ก็ได้กลับมาเปิดบิน แต่บางเส้นทางที่ไทยสมายล์อาจมีปัญหาบินไม่ได้ ทางการบินไทย ก็จะเข้าไปดำเนินการบินได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันเราก็ต้องพิจารณาว่าสิ่งไหนที่ไม่จำเป็นก็ต้องลดลงไป อะไรที่เป็นจุดรั่วไหล ก็ต้องไม่ให้มี ซึ่งผู้เข้ามาร่วมทำแผนฟื้นฟูการบินไทยรวมถึงผม ไม่ใช่ซุปเปอร์แมน การทำงานต้องได้รับความร่วมมือจากพนักงาน ถ้าคนการบินไทยมีความสามัคคี ผมก็มองว่าการแก้ไขปัญหาของการบินไทยมีโอกาสสูง เพราะกรรมการชุดนี้ต่างเป็นมืออาชีพ ที่ทุ่มเทที่จะเข้ามาช่วยการบินไทย

พนักงานต้องสามัคคี

“เราให้กำลังใจพนักงานที่เสียสละสมัครใจลดเงินเดือน และก็เข้าใจความจำเป็นของพนักงานที่ฐานเงินเดือนไม่มาก ที่อาจจะลดได้บ้างไม่ลดได้บ้าง ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย ก็เสียสละลดเงินเดือน 40-50% กรรมการเอง ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทน ทุกคนทำงานเต็มที่ ผมเองก็ชัดเจนว่าไม่มีนอกมีใน มีแต่มองที่ผลประโยชน์องค์กรเป็นหลัก โดยผมจะเข้ามาช่วยดูเรื่องของน้ำมัน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของการบินไทย และอยากเข้ามาช่วยทำให้เป็นระบบเกิดการบริหารงานที่เป็นมืออาชีพ สร้างให้แบรนด์การบินไทยเข้มแข็ง และฟื้นฟูให้กลับมาได้อีกครั้ง”

ความสามัคคีของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ เลิกทะเลาะกัน แบ่งพรรค แบ่งพวก เราเข้าใจได้ว่า เวลาสถานการณ์ไม่ดีทุกคนมีเกาะป้องกันตัวเอง เอาตัวรอด เลยทำให้เกิดการใส่ร้ายป้ายสี แต่วันนี้ต้องเลิก ความไม่สร้างสรรค์ อะไรที่เป็นจุดรั่วไหล ก็เลิกทั้งหมด ไม่งั้นการบินไทยไปไม่ได้ เจ้าหนี้หรือแม้แต่ผู้ให้กู้ต่อก็คงไม่ยอม และขณะนี้การบินไทย อยู่ระหว่างการทำแผนธุรกิจใหม่ และแผนบินใหม่ ซึ่งถ้านิ่งเมื่อไหร่ก็จะสรุปรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการได้ชัดเจน โดยน่าจะเปิดเผยได้บ้างหลังจากการเดือนส.ค.ไปแล้ว นายชาญศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563