แนวทางฝ่าวิกฤติ  ของธุรกิจครอบครัว มัลติเจนเนอเรชั่น 

05 ก.ค. 2563 | 04:12 น.

บิสิเนส แบ็กสเตจ  รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์  และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ([email protected])

การหยุดชะงักของภาคธุรกิจจากผลกระทบการระบาดของ COVID-19 นั้นมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัวชี้ว่าปรากฎการณ์ในครั้งนี้ทำให้ตระหนักว่าความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นเป้าหมายที่ไม่อยู่กับที่และการจะทำให้ได้ตามเป้าหมายต้องใช้ฐานความรู้ที่กว้างขวางอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในวิกฤตถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้เพื่อการเติบโต จากการศึกษาพบบทเรียนมากมายจากบริษัทที่อยู่ภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 3 หรือ 4 ในธุรกิจที่มีอายุหลายศตวรรษซึ่งเคยรอดพ้นจากช่วงเวลาวิกฤติที่คล้ายคลึงกันมาแล้ว บริษัทเหล่านี้มีรูปแบบบางอย่างที่ชัดเจน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวให้ผ่านช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตไปได้ ดังนี้

พลวัตรที่สอดคล้องกัน ธุรกิจครอบครัวมัลติเจนเนอเรชั่นที่ประสบความสำเร็จ มักจะมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าของหลัก บ่อยครั้งที่พวกเขารวมตัวกันด้วยเป้าหมายร่วมกันนอกเหนือจากความสำเร็จทางการเงิน ค่านิยมร่วมหลอมรวมพวกเขาเข้าด้วยกันและเป็นเข็มทิศให้เดินตาม เพราะต้องการส่งต่อธุรกิจและความมั่งคั่งไปสู่ลูกหลานของตน พวกเขามักจะมีมุมมองระยะยาวที่สร้างขึ้นจากค่านิยมร่วมมากกว่ามุ่งทำเงินเพียงอย่างเดียว

สร้างผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปแล้วคนรุ่นหลังของธุรกิจครอบครัวมัลติเจนเนอเรชั่นที่ประสบความสำเร็จจะสร้างความมั่งคั่งอย่างแข็งขันมากกว่าที่จะใช้เงินอย่างเดียว คนรุ่นต่อไปจะมุ่งมั่นมองหาวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างโอกาสของครอบครัวให้เกิดประโยชน์ โดยคนรุ่นที่ 2 หรือ 3 มักจะสะสมความมั่งคั่งได้มากกว่าที่คิดและพวกเขาก็มักเริ่มตั้งคำถามที่มีคุณค่า เช่น สิ่งนี้มีไว้เพื่ออะไร เราต้องการทำอะไรกับสิ่งนี้บ้าง การลงทุนเพื่อสร้างครอบครัวที่ยอดเยี่ยมหมายความว่าอย่างไร เป็นต้น

แนวทางฝ่าวิกฤติ   ของธุรกิจครอบครัว มัลติเจนเนอเรชั่น 

การคิดระยะยาว มีคำกล่าวว่าธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ที่จะมีเหตุผลให้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงการมองในแง่ “ธุรกิจอย่างเคร่งครัด” แทนที่จะมอง “ครอบครัวมาก่อน” ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการมองหาผลกำไรระยะสั้นซึ่งไม่มีให้เห็นแล้วในศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่สามารถเรียนรู้ได้จากธุรกิจครอบครัวในเรื่องของการพัฒนาการคิดระยะยาวมากขึ้น จากการที่พวกเขาสามารถนำเงินไปลงทุนซ้ำได้ และสามารถเห็นภาพค่านิยมด้านการเงินที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

การสร้างพันธมิตรระหว่างรุ่น คนแต่ละรุ่นมีจุดแข็งที่คนรุ่นก่อนไม่จำเป็นต้องมี เช่น ผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ยอดเยี่ยม แต่ต้องดิ้นรนเพื่อปรับธุรกิจให้เข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัล บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่เชื่อในการปฏิบัติที่ไม่เคยทำมาก่อนในธุรกิจและสิ่งนี้อาจสร้างความขัดแย้งระหว่างรุ่นภายในธุรกิจครอบครัวได้ ผู้เชี่ยวชาญพบว่าการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการหาวิธีรวมจุดแข็งของคนแต่ละรุ่นเอาไว้ ซึ่งเรียกว่า Generative Alliance ทั้งนี้คนแต่ละรุ่นไม่เพียงนำความแข็งแกร่งมาสู่พันธมิตร แต่พวกเขายินดีที่จะร่วมมือกัน  ซึ่งใน Generative Alliance ส่วนใหญ่มักจะเห็นผู้ก่อตั้งที่ประสบความสำเร็จนำเงินที่ได้มาลงทุนใหม่

ในขณะที่คนรุ่นที่ 2 จะใช้เงินในการวัดความเป็นนวัตกรรม โดยคนรุ่นที่ 2 เชื่อมจะช่องว่างระหว่างรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 3 ซึ่งหลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของการนำนวัตกรรมมาปรับให้เข้ากับแนวธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่านวัตกรรมที่นำโดยธุรกิจครอบครัวจะมีความสำคัญเป็นพิเศษเมื่อโลกถูกรีเซ็ตหลังจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในครั้งนี้ 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563