ททท.พลิกวิกฤติโควิด รีแบรนด์ภาพลักษณ์ใหม่ท่องเที่ยว

07 ก.ค. 2563 | 23:50 น.

ททท.ปรับกลยุทธ์หลังโควิด ชูแนวคิด “BEST” รับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนดันมาตรฐานSHA อาวุธลับทาง การตลาด ผุด “ไทยแลนด์ สมาร์ท ทัวริสซึม แพลตฟอร์มรีแบรนด์ภาพลักษณ์เมืองไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คุณไว้วางใจได้ 

โควิด-19 ไม่เพียงกระทบต่อ พฤติกรรมการท่องเที่ยว และการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง การส่งเสริมการท่องเที่ยว ของ ททท. หลังโควิด ก็ต้องปรับการทำงาน รับ New normal เช่นกัน 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่า การการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 การท่องเที่ยวแบบ New Normal เปรียบเสมือน วัคซีน ที่ไม่ต้องรอ ซึ่งททท.จะสร้างการรับรู้เรื่องมาตรการด้านความปลอดภัย สุขอนามัย ต่างๆ ทั้งในส่วนของการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยว และที่พัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ และเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางได้อย่างถูกต้อง และรองรับพฤติกรมของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยน แปลงไป ภายใต้แนวคิด “BEST”

ได้แก่ 1. Booking ซึ่งจะเห็นว่าจองและวางแผนล่วงหน้าเป็นสิ่งจำเป็น 2. Environmental Enthusiast ซึ่งจากธรรมชาติที่ฟื้นตัว ทำให้คนสนใจเดินทางเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น 3. Safety 4. Technology ซึ่งจะมีการใช้เทคโนโลยีให้มีคุณค่าเพิ่ม เช่น การตรวจสอบจดจำใบหน้า การนำเสนอข้อมูลเสมือนจริง ให้นักท่องเที่ยวได้เห็น ก่อนตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว

ททท.พลิกวิกฤติโควิด รีแบรนด์ภาพลักษณ์ใหม่ท่องเที่ยว

ในปีนี้โควิด-19 ส่งผลให้การท่องเที่ยวของไทยตกต่ำสุดนับจากการก่อตั้งททท.มาตั้งแต่ปี 2503 ซึ่งในปีที่ผ่านมา เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน ไทยเที่ยวไทย 170 ล้านคน สร้างรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท แต่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ต่างชาติลดลงมากกกว่า 60% จากการปิดน่านฟ้าตั้งแต่เดือนเม.ย.63 และยังไม่มีกำหนดของการเปิดน่านฟ้าที่ชัดเจนทำให้การท่องเที่ยวในปีนี้จะกระทบ 2 ใน 3 

ส่วน ไทยเที่ยวไทย หลังคลายล็อกดาวน์การเดินทางเที่ยวในประเทศในระยะทางไม่เกิน 200-300 กิโลเมตรก็ได้รับการตอบรับดีเพราะคนไทยกักตัวมานาน แต่ก็ต้องรอดูว่าจะเป็นดีมานต์เทียมหรือไม่ เพราะต้องคำนึงเรื่องภาวะเศรษฐกิจในประเทศด้วย ดังนั้นการออกมาตรการส่งเสริมไทยเที่ยวไทยของรัฐบาล คือ กำลังใจ และเราเที่ยวด้วยกัน ก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเที่ยวในประเทศต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนนี้

นอกจากนี้หลังโควิด-19 พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นสำคัญ ดังนั้นนอกจากประเทศไทย จะมีตราสัญลักษณ์ AMAZING THAILAND SAFETY AND HEALTH ADMINISTRATION หรือ SHA เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการใน 10 สาขาที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว สร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ซึ่งททท.มองว่า SHA จะเป็นอาวุธลับทางการตลาดในวิถีท่องเที่ยวแบบNew Normal แล้ว

ในขณะนี้ททท.ยังอยู่ระหว่างการเซ็ท ซีโร การปรับข้อมูลด้านการท่องเที่ยวชุดใหม่ เน้นเรื่องของความปลอดภัย และสุขอนามัย โดยนำเรื่องของเทคโนโลยี เข้ามาใช้ โดยการขับเคลื่อนโครงการ “ไทยแลนด์ สมาร์ท ทัวริสซึม แพลตฟอร์ม” ซึ่งจะการปรับชุดข้อมูลใหม่ ที่จะสร้างแพลตฟอร์มให้นักท่องเที่ยวรับรู้ว่าในการเดินทางไปท่องเที่ยวในแต่ละจุด มีความปลอดภัย มีข้อมูลการเดินทางแบบวิถีใหม่ การทำความสะอาดในแต่ละพื้นที่ที่เข้าไปเที่ยว

โดยจะนำร่องข้อมูลใหม่นี้ในพื้นที่ท่องเที่ยวฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาบาและเกาะรัตน์โกสินทร์ ที่จะต้องดึงผู้ประกอบการมาเข้าร่วมนำข้อมูลใหม่มาใส่ในแพลตฟอร์มนี้ เพื่อ “เซ็ตซีโร สู่วิถีใหม่ สู้ไปด้วยกัน” เพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวหลังโควิด

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาพของไทย ถือว่าเป็นภาพรวม ที่เราดูแลนักท่องเที่ยวตกค้าง และการแสดงน้ำใจของคนไทย ซึ่งทำให้แนวทางการสื่อสารการตลาดของททท.ในช่วงที่ผ่านมา จึงเน้นการโปรโมตในด้านของการแชร์ความรู้สึกดีๆร่วมกัน และทิศทางการสื่อสารการตลาดจากนี้ เราได้จัดทำแคมเปญพิเศษ ที่จะ รีแบรนด์ภาพลักษณ์ใหม่ ให้เห็นว่า ในยามวิกฤติ เมืองไทยก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คุณไว้วางใจได้ หรือ “Amazing Thailand trusted destination” ที่จะสื่อให้เห็นถึงการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีมาตรฐานด้านสุขอนามัย ซึ่งมีการเผยแพร่ทางออนไลน์ทั่วโลก

อีกทั้งจากวิกฤตโควิด-19 ททท.จึงเล็งเห็นศักยภาพและโอกาสในการขยายฐานตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563