พลิกปูม ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ รู้ไหมใครเป็น เจ้าของ

02 ก.ค. 2563 | 11:00 น.

พลิกปูม ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ ตลาดสดใหญ่ติด 1 ใน 5 ตลาดน่าเดินของ กทม. โดย นางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ เป็นผู้ก่อตั้งตลาด ถือฤกษ์โสภณี วันเริ่มต้นกิจการ ปัจจุบันส่งต่อให้ทายาทรุ่นที่ 7 บริหารงาน

เหตุการณ์ไฟไหม้ ตลาดยิ่งเจริญ ที่เกิดขึ้นช่วงเช้าของวันที่ 2 ก.ค.2563 ได้สร้างความเสียหายมูลค่านับหลายร้อยล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ถึงสาเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น ตลาดยิ่งเจริญ ถูกจัดอันดับเป็น 1 ใน 5 ตลาดน่าเดินของกทม. 

ตลาดยิ่งเจริญ หรือ ที่ชาวบ้านร้านตลาดเรียกกันติดปากว่า ตลาดสะพานใหม่ ตั้งบนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ก่อตั้งขึ้นโดย นางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ มารดาของ นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ อดีตนักการเมืองชื่อดัง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2498 ตลาดยิ่งเจริญ ผ่านร้อนผ่านหนาว มาจนถึงปีนี้ 2563 เป็นปีที่ 65 แล้ว ปัจจุบันถูกส่งต่อให้ คุณณฤมล ธรรมวัฒนะ และคุณคนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ ทายาทของตระกูลเป็นผู้บริหารตลาดแห่งนี้

ข้อมูลจากเว็บไซต์  www.yingcharoen.co.th  ตอนหนึ่ง เล่าว่า นางสุวพีร์ ซึ่งเป็นมารดาและผู้ก่อตั้งตลาดยิ่งเจริญแห่งนี้ มีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องล้มลุกคลุกคลานสู้ชีวิตมาตลอด ต้องดิ้นรนหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ทำหนักเพื่อลูกๆจะได้สบาย เป็นคนที่มีความเข้มแข็ง อดทน มุมานะ ไม่ย่อท้อ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความเป็นผู้นำ และเชื่อมั่นในตนเอง

คุณณฤมล ประธานกรรมการบริหาร ตลาดยิ่งเจริญ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อตอนหนึ่งว่า คุณแม่ (นางสุวพีร์) ทำมาหลายอาชีพ ทั้งช่างเสื้อ ขายข้าวแกง เฟอร์นิเจอร์และรับจ้าง เพราะเรียนจบเพียง ป.4 กระทั่งวันหนึ่งมีนายทหารอากาศไปกินข้าวแกงที่สมัยนั้นขายอยู่ย่านเกียกกายจึงออกปากชวนว่า แถวกองทัพอากาศไม่มีแหล่งอาหาร จึงชวนให้มาซื้อที่ดินในที่ตั้งตลาดปัจจุบันเพื่อทำตลาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ไฟใหม้ตลาดยิ่งเจริญ” ลุ้นทอง 10 ล้านบาทในตู้เซฟเสียหายหรือไม่

ไฟไหม้ “ตลาดยิ่งเจริญ” สะพานใหม่

คุณแม่ดิ้นรนทุกวิถีทาง โดยการกู้ยืมเงินจากหลายสถาบันการเงินเพื่อซื้อที่ดินแปลงนี้ ชำระเงินเป็นส่วนน้อยและนำเอาโฉนดที่ดินจำนองไว้ก่อน โดยกู้จากสำนักพระคลังข้างที่

หลังจากซื้อที่ดินแปลงนี้แล้ว ประกอบกับกิจการร้านอาหาร “ศรีฟ้า” ก็ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากทหารซึ่งมีรายได้น้อย และรับประทานอาหารเป็นเงินเชื่อเป็นประจำ เป็นเหตุ ทำให้สภาพคล่องหมุนเวียนทางการเงินไม่คล่องตัวจึงได้ริเริ่มที่จะทำตลาดสด ให้เหมือนกับ "ตลาดบางลำพู" โดยพยายามติดต่อประสานงานเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตในการสร้างตลาดแห่งนี้

ส่วนชื่อของตลาดยิ่งเจริญ นั้น หลวงปู่บุ่ง วัดใหม่ทองเสน ให้ฤกษ์เกรียกว่า ฤกษ์โสภณี ในวันที่ 11 สิงหาคม 2498 เป็นวันเปิดตลาด โดยให้เหตุผลว่า ฤกษ์โสเภณีนั้นแม้จะขวากหนามขนาดไหน ก็ยังมีผู้คนพยายามไปให้ได้ ซึ่งเป็นเช่นนั้น เพราะการประกอบกิจการตลาดนั้น ไม่ง่ายอย่างที่คิด ความสำเร็จไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น

จากนั้นได้ทำการโปรโมทตลาดซึ่งนอกจากต้องใช้แรงกายแรงใจและทุนทรัพย์จำนวนมากแต่ยังไม่สามารถที่จะเก็บผลประโยชน์มากินมาใช้ได้ ต้องเปิดให้บริการฟรีมาตลอด เป็นเหตุให้หนี้สินเพิ่มรัดตัวมากขึ้นเพราะไม่มีดอกเบี้ยเพื่อไปผ่อนชำระเมื่อถึงปีก็ต้องไปจดเพิ่มหนี้สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ด้วยความพยายามที่จะดำเนินกิจการให้ประสบความสำเร็จให้ได้ พยายามทำทุกวิถีทางแต่เหตุการณ์ดูเหมือนจะมืดมนเพราะเจ้าหนี้ทุกรายได้เร่งรัดหนี้สิน จนถูกศาลบังคับให้ขายทรัพย์สินทอดตลาด เพื่อนำมาใช้หนี้ก็ได้ใช้วิถีทางที่จะนำพา ตัวรอดมาได้ กระทั่งต้องรวบรวมข้าวของเข้าโรงรับจำนำเพื่อยับยั้งการขายทอดตลาดจึงได้รอดพ้นมาจนถึงทุกวันนี้ และได้ ชะลอการชำระหนี้ไว้ได้หลายปีเมื่อสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปสามารถปลดหนี้ได้เมื่อประมาณปี 2523

ตลาดยิ่งเจริญ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากหน่วยงานต่างๆมากมาย เช่น รางวัลสุดยอดตลาดต้นแบบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย ผู้ว่าราชการ กทม., รางวัลความร่วมมือระดับดีเยี่ยม โครงการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ จากกรมปศุสัตว์, รางวัลตลาดที่ได้มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ "ระดับดีมาก" จาก กรมอนามัย, รางวัลตลาดสดที่ประชาชนประทับใจ โดย กระทรวงสาธารณสุข และรางวัลสุดยอดตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข รางวัลมาตรฐานรับรองอาหารปลอดภัย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ตลาดยิ่งเจริญ ได้รับความนิยมมีผู้ค้าและผู้จับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนในพื้นที่นับหมื่นรายต่อวัน ลูกค้าหลัก คือ กองทัพอากาศ สถาบันการศึกษาบริเวณใกล้เคียงและร้านอาหารต่างๆรวมถึงกลุ่มประชาชนทั่วไปที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดแห่งนี้

นับเป็นเรื่องน่าเศร้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะอีกเพียงเดือนกว่าๆก็จะถึงวันครบรอบ 66 ปีของ "ตลาดยิ่งเจริญ" แล้ว 

ข้อมูลจาก www.yingcharoen.co.th