‘ล้ง’ผลไม้ปัญหาระดับชาติ ลามชิปปิ้ง-พืชและธุรกิจอื่น

18 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
จากที่ประเทศไทยได้มีความตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ในหลายกรอบ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ รวมถึงการลงทุนเสรีให้กับประเทศคู่สัญญามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ โดยการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนน ทางรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างกัน รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ค่อนข้างเสรีมากขึ้น ส่งผลให้เวลานี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับสินค้าหลายรายการของไทย ดังกรณีในสินค้าพืช ผัก ผลไม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกที่กำลังกลายเป็นปัญหาระดับชาติ "ฐานเศรษฐกิจ"ฉบับนี้สัมภาษณ์ "สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์" ประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ ในคณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรมและบริการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

 ขั้นตอนแยบยลฮุบผลไม้ไทย

"สายัณห์" ระบุว่า ระบบโลจิสติกส์สินค้าพืช ผัก ผลไม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกไม่เพียงแต่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศด้วย โดยได้ไล่เลียงให้เห็นภาพว่า ต่างชาติจะเริ่มต้นจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทประกอบธุรกิจในประเทศไทย ผ่านทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวง โดยบริษัทต่างชาติจะใช้เทคนิคในการจ้างคนไทยเป็นตัวแทนหรือนอมินี คือเป็นกรรมการบริษัทที่ถือหุ้นลม จากนั้นก็ไปขอจดทะเบียนตั้งบริษัท

"บริษัทที่ว่านี้ก็เป็นบริษัทไทยตามกฎหมาย แต่รูปแบบการบริหาร เงินลงทุน การโอนเงิน และกิจกรรมต่างๆ ล้วนดำเนินการโดยคนต่างชาติ ทั้งนี้หลังจากจดทะเบียนตั้งบริษัทได้แล้วเมื่อคนต่างชาติจะทำงานในประเทศไทย จะต้องขออนุมัติทำงาน โดยการขอ WORK PERMIT จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อได้ใบอนุญาตทำงานจึงจะทำงานได้ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะจ้างคนชาติเดียวกันเป็นพนักงานบริษัทให้ทำงานทุกอย่างโดยจะมีคนไทยบ้าง แต่งานสำคัญๆ จะบริหาร ควบคุมโดยชาวต่างชาติ บริษัทและคนต่างชาติเหล่านี้มีจำนวนมากที่อำเภอเชียงแสน และเชียงของ ของจังหวัดเชียงราย ที่จังหวัดเชียงใหม่ และตลาดไท ซึ่งมีคนพูดว่า หากโยนหินขึ้นไปในอากาศ 1 ก้อน จะตกใส่หัวคนต่างชาติ"

ในส่วนของการตั้ง "ล้ง" หรือการตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ (โดยสัดส่วนมากกว่า 50% เป็นของชาวจีน) กลุ่มชาวต่างชาติจะรวมตัวกันเข้าไปติดต่อชาวสวนที่ปลูกผลไม้ โดยประเมินผลผลิตในแต่ละฤดูกาล แล้วเสนอราคารับซื้อในราคาตามที่ "ล้ง" กำหนด ส่วนใหญ่จะให้ราคาสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับราคาตลาด เมื่อเจ้าของสวนตกลง "ล้ง" ก็จะจ่ายเงินมัดจำส่วนหนึ่งให้แก่เจ้าของสวน ขั้นตอนนี้ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นการ "ตกเขียว"

"ผู้ปลูกลำไยในภาคเหนือบอกว่า การกำหนดราคารับซื้อในแต่ละวัน กำหนดโดยชาวต่างชาติ เจ้าของสวนไม่สามารถกำหนดราคาได้ ซึ่งผู้ประกอบการปลูกมังคุดและทุเรียนในระยองกล่าวในที่ประชุมเมื่อคราวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติไปร่วมประชุมว่า คนต่างชาติจะให้ราคารับซื้อสูงในต้นฤดู ชาวสวนก็จะเร่งผลผลิต เมื่อคนต่างชาติเห็นว่ามีผลผลิตมาก ก็จะกำหนดราคารับซื้อต่ำ ทำให้ชาวสวนต้องจำใจขาย"

แล้วคนรับซื้อไทยหายไปไหน ? คำตอบก็คือ คนรับซื้อไทยสู้ไม่ได้ ด้วยเงินทุนและราคารับซื้อ ขณะที่เจ้าของสวนก็พอใจได้เงินครบตามเวลาที่กำหนดกัน และไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเพราะ "ล้ง" จะจัดคนของตนเองเข้าไปควบคุมบริหารการจัดเก็บผลไม้ในสวนเอง ขนส่งเอง ผู้ปลูกมังคุดรายหนึ่งในจ.ระยองเล่าว่า มังคุดเกรดดีๆ จะถูกคัดไปขายที่จีน เกรดระดับรองลงมา จะขายในไทย

 เผยเส้นทางการขนส่ง

สำหรับผลไม้ไทยในจันทบุรี ระยอง ตราด ที่รับซื้อโดยล้งต่างชาติ ส่วนหนึ่งจะขนส่งไปที่ตลาดไท ซึ่งเป็นศูนย์รับ-ส่ง กระจายสินค้าของล้งต่างชาติ ส่วนหนึ่งจะขนส่งไปที่เชียงแสน เชียงของ เพื่อข้ามชายแดนไทยผ่านลาวไปเชียงรุ้งและคุนหมิง โดยการขนส่งบริษัทต่างชาติจะว่าจ้างรถขนส่งไทยบางส่วนจากภาคเหนือให้ไปรับผลไม้ที่บรรจุกล่องเรียบร้อยที่ตลาดไท ระยอง จันทบุรี ไปส่งที่เชียงของ หรือฝั่งห้วยทรายของลาว (ตรงข้ามเชียงของ) หรือที่บ่อเต็น เมืองชายแดนลาวติดกับบ่อหาน (โมฮั่น) เมืองชายแดนจีน จากนั้น คนงานต่างชาติหรือคนงานลาวที่บ่อเต็นที่จีนไปเช่าไว้เป็นเวลา 90 ปี เพื่อทำเป็น Logistics Park จะขนถ่ายผลไม้จากรถบรรทุกไทยไปที่รถบรรทุกของจีน เพื่อขนส่งต่อไปที่เมืองเชียงรุ้ง เมืองหล้า และคุนหมิงในจีนตอนใต้

 รถไทยแค่เอาต์ซอร์ส

"สำหรับรถบรรทุกไทยที่ขนส่งผลไม้ไทยไปใส่รถบรรทุกจีนที่บ่อเต็น ก็จะขนส่งผัก ผลไม้ ดอกไม้ของจีนกลับไปที่ตลาดไท หรือศูนย์รับ-ส่ง กระจายสินค้าในจุดต่างๆ ในภาคเหนือ เช่น ที่เชียงแสน เชียงของ เพื่อกระจายผลไม้ ผัก ดอกไม้ของจีนไปตามจังหวัดต่างๆ ส่วนผลไม้ ผัก กล้วยไม้ ที่ขนส่งไปตลาดไท ก็จะกระจายไปตามร้านค้าต่างๆ ต่อไป รูปแบบการขนส่งแบบนี้ เรียกว่า BACK-HAULING หรือ การไม่วิ่งรถเที่ยวเปล่า เพราะจะมีสินค้าทั้งขาไป-ขากลับ ทำให้ประหยัดค่าขนส่ง"

ขณะเดียวกันรถบรรทุกไทยจะทำยังไงต่อไป ?คำตอบก็คือ รถบรรทุกไทยจะเป็น Outsourceของบริษัทต่างชาติ เพราะบริษัทต่างชาติจดทะเบียนจัดตั้งให้บริการรถขนส่งด้วยชาวต่างชาติจึงได้ 2 เด้งคือ ทำธุรกิจรถขนส่งแข่งกับบริษัทรถบรรทุกไทย และว่าจ้างรถบรรทุกไทยเป็น Outsource ด้วย ดังนั้น รถบรรทุกสัญชาติไทยจะค่อยๆ สูญพันธุ์

 ลามยึดอาชีพชิปปิ้งภาคเหนือ

ไม่ใช่เพียงผลกระทบในสินค้าพืช ผัก ผลไม้ ยังมีอาชีพ "ชิปปิ้ง" หรือที่ศุลกากรเรียกว่า "ตัวแทนออกของรับอนุญาต" ซึ่งกรมศุลกากรกำหนดว่า ผู้ที่จะทำงานเป็นชิปปิ้ง ต้องมีใบอนุญาตที่ออกโดยกรมศุลกากร บริษัทที่จะทำธุรกิจชิปปิ้งต้องได้รับอนุญาต และต้องได้รับมาตรฐาน AEO (Authorized Economic Operator) หรือคือ มาตรฐานระดับสากลที่กำหนดให้ผู้นำเข้า-ส่งออก ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องได้รับมาตรฐาน AEO แต่ บริษัทต่างชาติกลับทำธุรกิจชิปปิ้งอย่างเปิดเผย จริงเท็จอย่างไรไม่แน่ชัด แต่ส่งผลให้ชิปปิ้งไทยหลายบริษัทต้องปิดกิจการ

 จี้หน่วยงานรัฐตรวจสอบ

จากเรื่องจริงข้างต้นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับระบบโลจิสติกส์ของไทย จึงเกิดคำถามว่า แล้วองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องทำอะไรกันบ้างกับปัญหาข้างต้น ? เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการตรวจสอบการจัดตั้งบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์หรือไม่ ทั้งในด้าน Nominee การตรวจสอบงบการเงิน งบกำไรขาดทุน เงินลงทุน เงินทุนจดทะเบียนว่ามีแหล่งและที่มาอย่างไร ระบบบัญชีถูกต้องมากน้อยแค่ไหน กรมสรรพากร ได้มีการตรวจสอบการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การจ่ายเงินเดือนหรือไม่อย่างไร กรมการจัดหางานและสำนักงานประกันสังคม ได้มีการตรวจสอบการออกใบอนุญาตการทำงานของคนต่างชาติในธุรกิจโลจิสติกส์หรือไม่ คนทำงานต่างชาติทั้งที่ตลาดไท เชียงแสน เชียงของ มีใบอนุญาตการทำงานหรือไม่ มีการเก็บเงินประกันสังคมหรือไม่ เป็นต้น

"หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาชีพการทำสวนผลไม้ของเกษตรกรของไทยอาจต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติด้านราคาและตลาดได้ เพราะต่อไปประเทศไทยจะอยู่ในฐานะผู้รับจ้างปลูกผลไม้ โดยมีต่างชาติเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงของประเทศ และอนาคตอาจลามไปถึงพืชชนิดอื่นๆ ได้ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559