เลือกประธาน ส.อ.ท.18 เม.ย.นี้ ปลอดการเมืองแทรกครั้งแรกในรอบ 20 ปี

16 เม.ย. 2559 | 07:00 น.
เป็นที่รู้กันว่าหลายปีที่ผ่านมารัฐมนตรีและนักการเมืองต่างเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งกรรมการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ทำให้เกิดศึกชิงเก้าอี้ประธานส.อ.ท.มา เกือบทุกสมัย สุดท้ายกลายเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเองภายใน ใครแพ้เสียงโหวตก็แทบจะไม่ได้เข้ามาร่วมบริหารงานด้วย

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งกรรมการ ส.อ.ท. หลังจากนั้น 30 วัน หรือในวันที่18 เมษายน ที่จะถึงนี้ จะมีการเลือกตั้งประธานส.อ.ท. ทำไมปีนี้ไม่มีวาทะร้อนที่ออกมาระเบิดศึกชิงเก้าอี้ก่อนการเลือกตั้งเหมือนเช่นทุกครั้ง ไม่มีแม้แต่ชื่อคู่แข่ง เพื่อวัดพลังเสียงข้างมากในการโหวตประธานส.อ.ท. ข้อสงสัยเหล่านี้หาคำตอบได้ที่ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ผ่าน"ฐานเศรษฐกิจ"ก่อนอำลาเก้าอี้ครบเทอมวาระแรกที่นั่งบริหารส.อ.ท.มา 2 ปีเต็ม!!!

 ยันปลอดการเมืองภายในไม่ต่อสมัยที่ 2

สุพันธุ์ กล่าวว่าตอนเข้ามาใน ส.อ.ท.ก็มีปัญหาค่อนข้างเยอะ มองว่าน่าจะแก้ไขได้ตามประสบการณ์ที่นั่งทำงานให้กับ ส.อ.ท.มาเกือบ 20 ปี ส่วนใหญ่จะอยู่เบื้องหลังการทำงาน ประกอบกับ ส.อ.ท. ก่อนหน้านี้มีปัญหาการเมืองภายใน ก็ไม่ได้รับมอบหมายงานต่อเนื่อง เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งก็ได้แก้ไขปัญหาการเมืองภายในให้ดีขึ้น มีการประสานให้ทีมเก่า ทีมใหม่ทำงานร่วมกันได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการ ส.อ.ท.ได้ดีตลอด 2 ปี มาถึงวันนี้ ก็มั่นใจว่า ปัญหาการเมืองใน ส.อ.ท.แทบจะไม่มีแล้ว เพราะผมสามารถประสานได้ทุกกลุ่ม และทุกกลุ่มก็ให้ความร่วมมือดี

"ถ้าเป็นเมื่อก่อนใกล้เลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ก็เริ่มมีการแข่งขันเพื่อชิงเก้าอี้กัน นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่ไม่มีการมาแข่งชิงเก้าอี้กันเอง"

ทำให้การเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ที่จะมีขึ้นวันที่ 18 เมษายนนี้ จะไม่มีการเมืองแทรกแซง ไม่มีการแข่งขัน คนใหม่(ตามโผคือนายเจน นำชัยศิริ รองประธานส.อ.ท.ว่าที่ประธานส.อ.ท.คนที่16)ที่เข้ามาก็มีความสามารถ อยู่ในส.อ.ท.มานานก็น่าจะบริหารส.อ.ท.ได้ ผมเองก็ไม่ลงแข่ง มันเป็นสัญญาใจ นั่งสมัยเดียว 2 ปีและกรรมการชุดใหม่ส่วนใหญ่ก็เป็นชุดเดิม มีการปรับเปลี่ยนบ้างเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นคนที่ชำนาญเฉพาะด้าน ผมก็ยังช่วยงานอยู่ห่างๆ ในบทบาทประธานกิตติมศักดิ์ ยังช่วยวางกลยุทธ์ของส.อ.ท.

เมื่อพ้นจากเก้าอี้ประธานส.อ.ท.ก็ยังช่วยประเทศทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมอยู่ทั้งในบทบาทประธานกิตติมศักดิ์ในส.อ.ท. รับบทสนช. และประธานอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรมในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเป็นหัวหน้าทีม 1 ใน 12 คณะประชารัฐ ดูแลด้านเอสเอ็มอี สตาร์ต อัพ และโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์

 2 ปีภารกิจที่ทำสำเร็จ

ประธานส.อ.ท. เขากล่าวถึงผลงานในช่วง 2 ปี กับบทบาทประธาน ส.อ.ท.ว่า ตอนเข้ามาก็เร่งผลักดันให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีขับเคลื่อนได้ ได้รับการยอมรับ ผลักดันเป็นระบบบัญชีเดียว มีความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น เพราะสมาชิกใน ส.อ.ท. 90% ขึ้นไปเป็นเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมในประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นเอสเอ็มอี ดังนั้นถ้าเอสเอ็มอีสะเทือนก็กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ รวมไปถึงการทำให้ส.อ.ท.เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนเป็นที่ยอมรับของภาครัฐและเอกชน และได้รับการยอมรับจากภาครัฐมากขึ้น ได้รับความร่วมมือกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้เราพัฒนาระบบสื่อสารภายใน ส.อ.ท.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบโมบายแอพ การค้าชายแดน เน้นเรื่องดูแลสิ่งแวดล้อม เรื่องอีโคโปรดักต์เพื่อให้อุตสาหกรรมเป็นที่ยอมรับในภาคสังคม

 ฝากงาน 3 ส่วนที่ต้องสานต่อ

ส่วนงานที่ประธานส.อ.ท.คนใหม่จะต้องมาสานต่อ มี 3 ส่วนหลักคือ 1.ทำงานร่วมมือกับภาคการศึกษา เน้นงานนวัตกรรม งานวิจัยมากขึ้น โดยเน้นที่ 1 อุตสาหกรรม 1 นักวิจัย และ1 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดและ1สถาบันการศึกษา เพื่อมาทำงานร่วมกันในงานวิจัย งานนวัตกรรม เพราะต่อไปต้องแข่งขันกันในด้านนี้ ถ้านวัตกรรมไม่มีโอกาสแข่งขันจะลำบาก ต้องไปเน้นขายถูก ลดต้นทุนมากๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการค้าขายในเวทีโลก

2.เน้นการบริหารจัดการคนให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในภาคธุรกิจ เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นทีมงานรุ่นใหม่ที่มาร่วมมือกับ ส.อ.ท.เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย 3.จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ของสภาอุตสาหกรรมฯ ให้เข้ายุค เข้าเหตุการณ์มากขึ้น และทำให้ส.อ.ท.แตกแยกน้อยลงในแง่ของระบบการเลือกตั้ง เพราะระบบปัจจุบันถ้าเกิดการแข่งขันก็ทำให้ฝั่งที่แพ้เลือกตั้งไม่กลับมาร่วมงานกับทีมใหม่ ทำให้ส.อ.ท.ต้องสูญเสียบุคลากรไปพอสมควร ซึ่งตรงนี้จะขึ้นอยู่ที่ตัวประธาน ส.อ.ท.คนนั้นๆ ด้วย เพราะประธานส.อ.ท บางท่านไม่ดึงกลับมาร่วมงาน แต่เลือกที่จะใช้บุคลากรในกลุ่มของตนเองร่วมกันขับเคลื่อน จึงไม่อยากให้มีระบบแบบนี้เกิดขึ้นอีก จึงต้องไปปรับพ.ร.บ.ให้ทันสมัยขึ้น

 ยุทธศาสตร์ 5 ข้อยังต้องทำต่อเนื่อง!

ต้องยอมรับว่าภาคอุตสาหกรรมเราอยู่ในโหมดที่ยังไม่ทันสมัยมากนัก จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ยังต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ผมเข้ามานั่งเป็นประธานส.อ.ท.ก็เดินยุทธศาสตร์ 5 ข้อ เป็นยุทธศาสตร์ที่คณะกรรมการชุดใหม่ควรสานต่อ ที่เราทำตั้งแต่ 1. ทำให้ ส.อ.ท.มีความเป็นเอกภาพ 2.เน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเอสเอ็มอีให้เกิดความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)

3.การพัฒนาคนรุ่นใหม่ทั้งภายใน ส.อ.ท.และคนภายนอก ส.อ.ท.เองในภาคธุรกิจ 4.เรื่องธรรมาภิบาล ที่เราพยายามผลักดันให้บริษัทเอกชนโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ดูแลเรื่อง ซีเอสอาร์ เรื่องสิ่งแวดล้อม มีเรื่องอีโค โปรดักต์ 5.เรื่องนวัตกรรม ที่เราทำได้ระดับหนึ่งแล้ว เช่น คูปองนวัตกรรมที่ร่วมกับกระทรวงวิทย์ รวมถึง1 อุตสาหกรรม 1 นักวิจัย และ 1 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดและ 1 สถาบันการศึกษาก็อยู่ในโครงการตรงนี้ด้วย หรือว่า 1 กลุ่มอุตสาหกรรม 1กลุ่มนักวิจัย เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนใช้นักวิจัยจากภาครัฐได้ เหล่านี้ก็อยู่ระหว่างขับเคลื่อน ส่วนใหญ่ยุทธศาสตร์ที่เดินนี้ทำได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังต้องทำต่อเนื่องต่อไป

 มาตรการกระตุ้นศก.รัฐมาถูกทางแล้ว

ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ง่ายที่จะแก้ปัญหา แต่ส่วนใหญ่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ช่วยชะลอความเสียหายได้ระดับหนึ่ง และต้องยอมรับว่าตอนนี้รากหญ้า เอสเอ็มอียังไม่ดี ถ้ากระตุ้นตรงนี้ได้ก่อนก็จะช่วยได้ ดังนั้นรัฐก็ต้องใช้วิธีการกึ่งๆ ประชานิยมลงไปช่วยด้วยในระยะสั้นนี้ โดยผ่านหน่วยงานประชารัฐ เช่นเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนชาวรากหญ้าให้มากขึ้น โดยที่ระบบตรวจสอบไม่ควรเข้มงวดเกินไป เพราะจะทำให้เงินลงระบบช้ามาก เพื่อทำให้เศรษฐกิจลดความเสียหายลงและสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ในระยะยกลาง-ยาวรัฐบาลควรจะมีแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนแต่ไม่ใช่ประชานิยม ทำให้ประชาชนแข็งแกร่งเอง และสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ หลักก็คือรัฐบาลจะต้องดูระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ดี

ส่วนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนตกผลึกและต้องเน้นการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมมือกัน แต่เผอิญว่าตอนนี้เศรษฐกิจโลกมันแย่เลยทำให้การขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถทำได้เร็ว เวลานี้พื้นที่การค้าชายแดนดีอยู่แล้ว แต่การเข้าไปลงทุนในพื้นที่เกิดขึ้นช้าเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี รวมถึงการบูรณาการของภาครัฐและเอกชนยังขับเคลื่อนช้าไป

ส่วนที่มีการเสนอให้จังหวัดระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นเห็นด้วย เพราะจะเป็นซัพพลายเชนซึ่งกันและกันได้ ซึ่งระยองก็เป็นศูนย์กลางการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่แล้ว มีท่าเรือ ชลบุรีก็มีท่าเรือขนาดใหญ่รองรับ ฉะเชิงเทรา ก็น่าจะเป็นอุตสาหกรรมซัพพลายเชน มีศูนย์ทดสอบรถอยู่ เป็นเมืองยานยนต์ ก็น่าจะต่อยอดด้วยอุตสาหกรรมไฮเทคได้ดี

 มองภาพรวมเศรษฐกิจ

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในเวลานี้ ผ่านไปแล้ว 1 ไตรมาส เศรษฐกิจโลกยังไม่ดี เศรษฐกิจในประเทศก็ยังเปราะบาง เรายังต้องพึ่งพางบการลงทุนของภาครัฐ การขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐ และวันนี้สิ่งที่ดีคือการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรยังต้องได้รับการช่วยเหลือมากกว่านี้ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่านี้ ดังนั้นตอนนี้มี เครื่องมือ 2 ตัวที่ช่วยได้คือ ภาคท่องเที่ยว และการพึ่งพางบลงทุนจากภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์รัฐด้านโครงสร้างพื้นฐาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559