โชว์"สุราษฎร์โมเดล"แก้ปาล์มยั่งยืน     

19 มิ.ย. 2563 | 08:34 น.

จังหวัดสุราษฎร์ธานีเดินหน้าแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน  ภายใต้โครงการสุราษฎร์ฯ โมเดล กวดขันมาตรฐานตั้งแต่สวนปาล์ม ลานเท จนถึงโรงงาน ยกระดับเปอร์เซนต์การสกัดได้สูงเกินเป้า 18% 

 

วันที่ 19 มิ.ย.2563   พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  พร้อมคณะ  เดินทางมามอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี  กระบี่  พังงา  นครศรีธรรมราช  และ จ.ชุมพร  ณ ห้องประชุมกองบิน 7 อ.พุนพิน  จ.สุราษฎร์ธานี  ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันและแก้ไขปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ  ก่อนเดินทางไปสหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด (โค-ออฟ)  เพื่อพบปะเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  และมอบถุงยังชีพแก่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม จำนวน 2,000 ชุด จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์ม บริษัท นิวไบโอดีเซล จำกัด  ตำบลเสวียด  อำเภอท่าฉาง 
   โชว์"สุราษฎร์โมเดล"แก้ปาล์มยั่งยืน          

ในโอกาสนี้ พล.อ.ประวิตร  วงศ์สุวรรณ  ได้กล่าวแสดงความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้  คือ จ.สุราษฎร์ธานี   กระบี่  พังงา  นครศรีธรรมราช  และ จ.ชุมพร  ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ร้อยละ75 ของประเทศ  จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปาล์มมีราคาลดลง  แต่รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้วจำนวน 1,400 ล้านบาทเศษ  ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกมาตรการ  ด้านการผลิต  การตลาด และพลังงาน  โดยยึดหลัก "ปาล์มคุณภาพ  ราคาที่เป็นธรรม  ผลักดันไบโอดีเซล  ลดมลภาวะ"  ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  ได้คาดการณ์ว่าในปี 63  ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวน17 ล้านตัน  จึงต้องเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ  โดยเน้นมาตรการด้านพลังงาน การนำไปผลิตไฟฟ้า  และส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล บี10  ให้ได้ตามเป้าหมาย  ก็จะทำให้ราคาปาล์มน้ำมัน เฉลี่ยทั้งปีไม่ต่ำกว่า 4 บาท/ก.ก.  ซึ่งจะเพียงพอต่อการดำรงชีพของเกษตรกร  
    

นอกจากนี้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าทีม ในการสร้างการรับรู้แก่เกษตรกร  ให้ปลูกฝังการตัดปาล์มที่มีคุณภาพ/สุกเต็มที่  กวดขันการรับซื้อผลปาล์มที่ได้เกณฑ์มาตรฐาน  ตามที่กรมการค้าภายในกำหนด   กำกับโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 18 และกวดขันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม โดยผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด 
   โชว์"สุราษฎร์โมเดล"แก้ปาล์มยั่งยืน      

  โชว์"สุราษฎร์โมเดล"แก้ปาล์มยั่งยืน      

ด้านนายวิชวุทย์  จินโต  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  กล่าวรายงานสถานการณ์ปาล์มน้ำมันต่อพลเอก ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและพบปะเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน  ณ ห้องประชุมกองบิน 7 สุราษฎร์ธานีในวันนี้(19 มิ.ย.63)  ว่า  จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีเกษตรกรชาวสวนปาล์มกว่า 66,714 ครัวเรือน  มีพื้นที่ปลูกประมาณ 1.3 ล้านไร่  เนื้อที่ให้ผล 1.2 ล้านไร่  ผลผลิต 4.10 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,160 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 2.97 บาทต่อกิโลกรัม  มีลานเท 710 แห่ง กระจายอยู่ทุกอำเภอ  ยกเว้นอำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน  โรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน 33 แห่ง  รับซื้อปาล์มน้ำมันเข้าสู่ระบบการผลิต ประมาณ 6.02 ล้านตัน เป็นผลผลิตในจังหวัดเอง และจังหวัดใกล้เคียง  เมื่อเทียบความต้องการผลผลิตของโรงงานกับความต้องการแล้ว  พบว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ยังผลิตปาล์มน้ำมันได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานฯ  ยังมีส่วนขาด ประมาณ 1.92 ล้านตัน 
      

นายวิชวุทย์ กล่าวว่า  จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีปัญหาสำคัญของการผลิตปาล์มน้ำมัน ได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ราคาตกต่ำ และเปอร์เซ็นต์การสกัดน้ำมันของโรงงานสกัด ต่ำกว่า 18%  โดยจังหวัดมีแนวทางในการบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน  ดังนี้  
    

1.ด้านการผลิตปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์ม  ให้เกษตรกรปลูกปาล์มในพื้นที่เหมาะสม โดยใช้ Agrimap ส่งเสริมการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต เช่น ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการจัดการสวน ใช้ปาล์มพันธุ์ดีทดแทนปาล์มเดิม ส่งเสริมการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่  มีระบบชลประทานน้ำดี  ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้ทราบต้นทุนการผลิตที่ชัดเจน ส่งเสริมการทำอาชีพเสริมในสวนปาล์ม รณรงค์ให้เกษตรกรตัดปาล์มสุก  เพื่อทำปาล์มคุณภาพเข้าสู่โรงงาน และกำหนดให้โรงงานสกัดและลานเทต้องปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งให้รางวัลและประกาศเกียรติคุณแก่โรงงานสกัดและลานเท ที่สามารถควบคุมเปอร์เซ็นต์น้ำมันให้สูงกว่า 18% ได้ 2 ปีซ้อน  
    

2.ด้านการแปรรูป จังหวัดสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี  วิจัยและการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ  จากปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกราคาลดต่ำลง  และมีอัตราการสกัดปาล์มน้ำมันน้อยกว่า 18%   จึงได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนพัฒนาปาล์มน้ำมันคุณภาพจังหวัดสุราษฎรธานีอย่างยั่งยืน (สุราษฎร์ฯ โมเดล)  โดยกำหนดเป็นมาตรการทางการบริหารและข้อตกลงร่วมกัน ให้โรงงานสกัดปาล์มต้องรับซื้อผลปาล์มที่คุณภาพ 18 %  เป็นอย่างต่ำ  (สุกทุกทะลาย/มีลูกร่วงประมาณ 3-5 ลูก)  ราคารับซื้อขึ้นลงตามคุณภาพอ้างอิงราคาน้ำมันดิบ(CPO)  โรงงานสามารถคัดปาล์มดิบไม่มีคุณภาพเพื่อทำปุ๋ย และมีคณะกรรมการระดับจังหวัด/ระดับอำเภอ/คณะทำงานประจำโรงงาน เพื่อกำกับ/ติดตาม/ประเมินผล 
    

 ผลการดำเนินการตามมาตรการสุราษฎร์ฯ โมเดล  ตั้งแต่พฤศจิกายน 2561 – สิงหาคม 2562  พบว่า  อัตราการสกัดของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นจากเดิม 16.90% เป็น 18.23 % ราคาซื้อขายเพิ่มขึ้น ประมาณ 300 บาท/ตัน  ซึ่งสูงกว่าจังหวัดใกล้เคียง โดยในช่วงดังกล่าวมีปริมาณการซื้อขาย 5,166,325.55 ตัน รายได้ของเกษตรกร เพิ่มขึ้น 1,539,897,663 บาท  ต้นทุนการผลิตของโรงงานลดลง ปัญหาการขโมยปาล์มลดลง โดยมีปาล์มที่ไม่ได้คุณภาพถูกคัดออก จำนวน  2,446 ตัน ผลิตปุ๋ยหมักได้ 1,200 ตัน  ได้จัดสรรคืนให้โรงงานสกัด/ลานเท/เกษตรกร ตามสัดส่วนที่คัดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป  โดยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ มีเป้าหมายที่ชัดเจน การมีส่วนร่วมของเครือข่าย  และการประสานสัมพันธ์และความยืดหยุ่นในการดำเนินการ
  

 อย่างไรก็ตาม จากผลสำเร็จตามมาตรการดังกล่าว จังหวัดสุราษฎร์ธานีขอเสนอแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาปาล์มคุณภาพอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดคุณภาพวัตถุดิบในการผลิตของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม พ.ศ. 2562 (ตามแนวทางสุราษฎร์ธานีโมเดล)  นั้น ควรมีข้อกำหนด ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยโรงงาน/ลานเท/ผู้เก็บเกี่ยว/เกษตรกร ในการพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน  ควรให้ความรู้จัดการสวนปาล์มแก่เกษตรกร โดยเก็บเกี่ยวปาล์มสุกเท่านั้น  ผู้เก็บเกี่ยว โดยเฉพาะผู้เก็บเกี่ยวอิสระ ต้องขึ้นทะเบียนและต้องผ่านการอบรม มีใบรับรองการเก็บเกี่ยวปาล์มที่ถูกต้องตามมาตรฐาน  โดยให้มีบทลงโทษหากเก็บเกี่ยวปาล์มดิบ เกษตรกรต้องยินยอมให้โรงงานหรือลานเทคัดและยึดปาล์มดิบ
   
โชว์"สุราษฎร์โมเดล"แก้ปาล์มยั่งยืน      

โชว์"สุราษฎร์โมเดล"แก้ปาล์มยั่งยืน        

ขณะที่ลานเท  ให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อควบคุมลานเทที่รับซื้อปาล์ม และควรให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งดำเนินการขึ้นทะเบียนอย่างชัดเจน  กำหนดข้อบังคับ เช่น ห้ามแยกลูกร่วง ห้ามรดน้ำ ห้ามมีตะแกรงร่อน และไม่บ่มปาล์ม  ให้ลานเทมีสิทธิคัดและยึดปาล์มดิบหากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ควรมีกฎหมายรองรับในการปิดลานเทชั่วคราวหรือหากผิดซ้ำซากอาจยึดใบอนุญาต  
    

ส่วนโรงงาน ต้องซื้อปาล์มตามเกณฑ์คุณภาพที่กำหนด โดยขั้นต่ำ 18 เปอร์เซ็นต์ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และราคารับซื้อต้องขึ้นลงตามคุณภาพอ้างอิงราคาน้ำมันดิบ (CPO)   หากโรงงานใดมีอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มไม่ถึง 18 เปอร์เซ็นต์  ควรว่ากล่าวตักเตือน/สั่งหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อปรับปรุง  หากปรับปรุงไม่ได้ให้หยุดจนกว่ามีอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มได้ 18% หรือหยุดถาวร
    

สำหรับมาตรการเชิงนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการมาแล้วนั้น  ส่งผลต่อการปรับสมดุลปาล์มในประเทศ ทั้งมาตรการนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตกระแสไฟฟ้า  การเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล (บี 10)  และการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ในรถบรรทุกและรถยนต์ขนาดเล็ก  รวมทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ที่ราคากิโลกรัมละ 4 บาท  ยังมีความสำคัญ และทำให้พี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมันมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับโอนเงินแล้ว 62,952 ครัวเรือน จำนวนเงิน  827.76 ล้านบาท

โชว์"สุราษฎร์โมเดล"แก้ปาล์มยั่งยืน