"เอสเอ็มอี"เอ็นพีแอล ลุ้นสสว.ชงแสนล้านอุ้ม

20 มิ.ย. 2563 | 11:45 น.

กระทรวงด้านเศรษฐกิจ แห่ทึ้งงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน 4 กระทรวง 1 สำนักนายกฯ 1,699 โครงการ วงเงิน 4.5 แสนล้าน สสว.ขอใช้ 1.5 แสนล้าน ช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ที่เป็นเอ็นพีแอล 1.1 แสนราย ส่วนกระทรวงเกษตร งบส่วนใหญ่ นำไปพัฒนาแหล่งนํ้า

ปิดรับความเห็นรอบแรกไปแล้ว สำหรับการยื่นข้อเสนอโครงการเบื้องต้น ภายใต้การใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่หน่วยงานต่างๆ ได้ เสนอเข้ามา 34,263 โครงการ วงเงิน 841,269 ล้านบาท 

ส่วนโครงการจะใดจะได้รับอนุมัติหรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ หากมาพิจารณาการยื่นของบของกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจพบว่า 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และสำนักนายกรัฐมนตรี มีการเสนอโครงการเข้ามารวม 1,699 โครงการ รวมวงเงิน 4.51 แสนล้านบาท

จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโครงการขนาดใหญ่ พบว่า หน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่น่าสนใจเป็นโครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว. โดยเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีสถานะเป็น NPL ให้สามารถฟื้นธุรกิจได้ โดยให้กู้ยืมเงินไปปรับปรุงกิจการ มีเป้าหมาย 1.1 แสนราย

นอกจากนี้ ยังมีโคงการฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการให้โอกาสและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพ 5.5 หมื่นราย ที่มีทุนไม่เพียงพอ และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ โดยสนับสนุนด้านการเงินให้กับธุรกิจ ผ่านรูปแบบความช่วยเหลือ เช่น สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนระยะสั้น หรือ การร่วมทุนในรูปแบบ Venture Capital ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านการเงินและช่วยเพิ่มโอกาสความอยู่รอด และสำนักคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เสนอของบโครงการไทยเที่ยวไทยในอีอีซี มาถึง 2.62 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมต่างในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ราว 12 ล้านคน เป็นต้น

 

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการที่เสนอเข้ามา 71 โครงการ รวมวงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ นำไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี อย่างโครงการย่อย พลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอี สู่วิถีความปกติใหม่ วงเงิน 3.8 พันล้านบาท ที่จะเข้าไปช่วยยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการจำนวน 9,150 กิจการ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ 4.04 แสนราย ก่อให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจ คิดเป็นมูลค่าราว 1.22 หมื่นล้านบาท

รวมถึงโครงการพัฒนาธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมสู่โอกาสวิถีปกติใหม่ วงเงิน 3.3 พันล้านบาท ที่จะเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินการจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ราว 2 แสนราย และยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม 1.15 หมื่นราย เป็นต้น

"เอสเอ็มอี"เอ็นพีแอล ลุ้นสสว.ชงแสนล้านอุ้ม

สำหรับกระทรวงการคลังเสนอเข้ามา 2 โครงการ รวมวงเงิน 5.52 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการเศรฐกิจพอเพียงสร้างไทย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้ในการพึ่งพาตนเองระดับครัวเรือน ด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ผ่านระบบ E-Learning ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน จำนวน 3 แสนราย และพัฒนาศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน จำนวน 1,200 แห่ง เป็นต้น

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการเสนอมาราว 809 โครงการ รวมวงเงิน 1.62 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ของกรมชลประทาน วงเงิน 4.22 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายที่จะพัฒนา /ปรับปรุง/ ซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบชลประทาน 1,1873 แห่ง ระบบการกระจายน้ำสู่แปลงเกษตรกรรม 52 แห่ง ถนนยางพารา ระยะทาง 506 กิโลเมตร เครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่นอ 159 แห่ง เครื่องจักร 991 คัน รวมถึงโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด วงเงิน 2.04 หมื่นล้านบาท โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 14,315 ล้านบาท และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรขนาดมากว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร วงเงิน 13,423 ล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่กระทรวงคมนาคม เสนอเข้ามาจำนวน 760 โครงการ วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการที่ใช้เงินไม่สูงมากนัก ส่วนใหญ่เป็นโครงการพัฒนาเส้นทางขนส่งผลผลิตทางการเกษตร โครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหลักของพื้นที่เป็นต้น 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563