อึ้ง "การบินไทย" เจ้าหนี้ฝูงบิน ฟันหัวคิวอื้อ

30 พ.ค. 2563 | 09:27 น.

เปิดรายชื่อ 19 เจ้าหนี้โนเนมให้ การบินไทย เช่าซื้อเครื่องบิน 32 ลำ เผยจำนวนหนึ่งจดทะเบียนอยู่เกาะเคย์แมน ทั้งผ่านหลายขั้นตอน กินหัวคิว ทำต้นทุนพุ่ง ด้าน “ศักดิ์สยาม” ยุติการตั้งคณะกรรมการสอบแอร์บัสเอ 340 หลังหลุดพ้นการกำกับดูแล ด้านหุ้น THAI ชนชิลลิ่งถี่ท่ามกลางการยื่นเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

จากภาระหนี้สินของ การบินไทย ร่วม 3.54 แสนล้านบาท ตามการขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย ในจำนวนนี้ เจ้าหนี้รายใหญ่ จะอยู่ที่การเช่าซื้อเครื่องบิน โดยเป็นสัญญาเช่าซื้อ (Financial Lease) รวมกว่า 32 ลำ และสัญญาเช่าดำเนินการ (Operating Lease)อยู่ที่ 42 ลำ ได้แก่ แอร์บัสเอ 320-200 จำนวน 15 ลำ แอร์บัสเอ350-900 จำนวน 8 ลำ โบอิ้ง777-300ER จำนวน 11 ลำ โบอิ้ง 787-8 จำนวน 6 ลำ และโบอิ้ง 787-9 จำนวน 2 ลำ

โดยมีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าเช่า 3,587.67 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ(114,805.44 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อเช่ามาทำการบินครบกำหนดก็จะต้องส่งเครื่องบินคืนให้กับผู้ให้เช่า โดยมีเครื่องบินครบกำหนดสัญญาเช่าดำเนินการในปี 2563-2567 จำนวน 6 ลำ และเครื่องบินครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาในปี2568-2573 จำนวน 36 ลำ

แต่ภาระหนักที่สุดของการบินไทยจะอยู่ที่การเช่าซื้อ (Financial Lease) ซึ่ง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2562 การบินไทยมีสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน 32 ลำ ต้องใช้เวลาผ่อนนานหลายปี กว่าเครื่องบินจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ การบินไทย โดยลำที่มีการผ่อนค่าเช่าซื้อเครื่องบินนานที่สุดคือสิ้นสุดในปี2576 คือแอร์บัสเอ 350-900 ลำที่ 9

ทั้งนี้ขบวนการจัดหาฝูงบินของการบินไทย จะไม่ได้ดำเนินการเช่าดำเนินการหรือเช่าซื้อตรงจากผู้ผลิตเครื่องบินอย่างแอร์บัส และโบอิ้ง แต่อย่างใด แต่จะเป็นการเช่าซื้อผ่านผู้ให้เช่าหรือ Lessor ซึ่งทำการบินไทยมีค่าใช้จ่ายในการเช่าซื้อเครื่องบินที่สูงขึ้น จากการกินหัวและแบ่งเปอร์เซ็นเตอร์กันเกิดขึ้นเป็นทอดๆ

 

19 ลิซซิ่งให้เช่าเครื่อง

จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าใน สัญญาเช่าซื้อเครื่องบินทั้ง 32 ลำของการบินไทย การเช่าซื้อไม่ได้ดำเนินการผ่านบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบินรายใหญ่ของโลก อาทิ บริษัท GECAS ซึ่งมีเครื่องบินให้1,300 ลำ บริษัทILFC ที่มีเครื่องบินให้เช่า 1,800 ลำ บริษัทRBS Aviation ที่มีเครื่องบินให้เช่า 1,500 ลำ

ตรงกันข้ามกลับพบว่าเครื่องบินทั้ง 32 ลำของการบินไทย เป็นการเช่าซื้อผ่านผู้ให้เช่าหรือ Lessor โนเนม ซึ่งก็วนเวียนอยู่กับ 19 บริษัท (ตารางประกอบ) ซึ่งจำนวนหนึ่งจดทะเบียนอยู่ในหมู่เกาะเคย์แมน โดยบริษัทผู้ให้เช่าเหล่านี้ จะไปกู้ยืมเงินจากสถาบันต่างๆ และไปซื้อเครื่องบินโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน หรืออาจจะไปเช่าซื้อมาต่อบริษัทผู้ให้เช่ารายใหญ่ระดับโลกอีกทอด เพื่อมาปล่อยให้การบินไทยเช่าซื้อต่ออีกทอด กินค่าหัวคิว ทำต้นทุนพุ่ง

ยกตัวอย่างเช่น แอร์บัสเอ 320-200 ที่การบินไทยได้เช่าซื้อ และปล่อยให้ไทยสมายล์เช่าดำเนินการต่อ มี บริษัทไฮเออะ เพอร์เชส แอลแอลซี เป็นผู้ให้เช่า จำนวน 2 ลำ ส่งมอบเครื่องบินในช่วงปี 2557 ครบสัญญาในปี 2569 ซึ่งทางผู้ให้เช่าได้ กู้ยืมเงินจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ สาขาที่ประเทศสิงคโปร์ หรือแอร์บัสเอ 330-300 ป่าสัก ลีสซิ่ง ลิมิเต็ด เป็นผู้ให้เช่าจำนวน 6 ลำ มีการรับมอบเครื่องบินในปี 2552 และ 2553 ครบสัญญาในปี 2563 โดยกู้ยืมเงินจาก BNP PARIBAS

โบอิ้ง777-300ER มี บริษัทราชเทวี ไฮเออะ เพอร์เชส แอลแอลซี เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบิน 3 ลำ ส่งมอบช่วงปี2557 ครบสัญญาปี2569 โดยมี ING สาขาสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน แอร์บัสเอ380-800 มี คีรี ราชไฮเออะ เพอร์เชส ลิมิเต็ด เป็นผู้ให้เช่า ส่งมอบเครื่องบินปี 2555 ครบสัญญาปี 2567 โดยกู้ยืมเงินต่อจากซิตี้แบงก์, Bayerische Landesbank เป็นต้น

อย่างไรก็ตามนอกจากเจ้าหนี้ลิซซิ่งเครื่องบินซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของการบินไทยแล้ว ก็ยังมีเจ้าหนี้อีกหลายล้านรายอย่างสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัส(ROP) รวมถึงผู้โดยสารอีกหลายล้านราย ที่อยู่ระหว่างการขอคืนเงินค่าตั๋วโดยสาร ที่ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายกลางแล้ว บริษัทฯ จึงถูกบังคับด้วยข้อกฎหมายทำให้ยังไม่สามารถชำระคืนเงินค่าบัตรโดยสารได้ในขณะนี้เป็นการชั่วคราว


อึ้ง "การบินไทย" เจ้าหนี้ฝูงบิน ฟันหัวคิวอื้อ

ล้มสอบจัดซื้อA 340

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า หลังจากการบินไทยหลุดพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ส่งผลให้การตั้งกรรมการสอบการจัดซื้อแอร์บัสเอ 340-500 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัสเอ 340-600 จำนวน 6 ลำ เมื่อปี 2546 ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการสอบมาตั้งแต่เดือนก.พ. 2563 เนื่องจากมีการใช้งานเครื่องบินดังกล่าวได้ไม่คุ้มค่า และท้ายสุดก็ต้องจอดทิ้งรอการขาย จากนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็จะยุติการตรวจสอบ เนื่องจากพ้นอำนาจการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม และการบินไทยเป็นบริษัทไปแล้ว

ส่วนการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ก็จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือใหญ่ ส่วนคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีรองนายกวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และมีตัวแทนจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังร่วมเป็ฯคณะกรรมการ ก็เป็นเพียงแต่การติดตาม และประสานงานเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทที่จะสั่งการใดๆได้ทั้งสิ้น

หุ้น THAI ชนชิลลิ่งถี่

ขณะที่การซื้อขายหุ้นของ บมจ.การบินไทย หรือ THAI ท่ามกลางการยื่นเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง แต่กลับพบว่า คึกคักขึ้นทันตา โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)พบว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2563 ราคาหุ้นปรับลดลงต่ำสุดที่ 2.74 บาทเมื่อวันที่ 24 มีนาคม และปรับขึ้นสูงสุด 7.85 บาท เมื่อวันที่ 20 และ 29 เมษายน นอกจากนี้ ยังทำราคาชนซิลลิ่งติดต่อกัน 5 วัน เมื่อวันที่ 3 และ 7-10 เมษายน เพิ่มขึ้น 3.15 บาท หรือ 98.43% มูลค่าซื้อขายรวม 131.06 ล้านบาท ก่อนจะมีแรงขายในวันที่ 13 เมษายน ลดลง 0.80 บาท หรือ 12.60% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 347.23 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม – 28 พฤษภาคม 2563 รวมมูลค่า 8,118.03 ล้านบาท โดยมูลค่าซื้อขายต่อวันสูงที่สุดอยู่ที่ 823.33 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งมูลค่าซื้อขายเริ่มหนาแน่นตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน อยู่ที่ 347.22 ล้านบาท จากมูลค่าซื้อขายวันก่อนหน้าอยู่ที่ 29.58 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสข่าวว่า จะมีกลุ่มบุคคลเข้ามาทำราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับราคา 8-10 บาท

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,579 วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563