สบส. แนะผู้สูงอายุ เลี่ยงดื่ม ! “4 เครื่องดื่ม” ช่วงอากาศร้อนอบอ้าว 

08 เม.ย. 2559 | 06:40 น.
นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนทุกปี นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดี อยู่ในครอบครัวและชุมชนอย่างมีความสุข รายงานผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2557 ไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคน ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ขอให้ลูกหลาน ผู้ดูแล หรือญาติใส่ใจดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง พิการ หรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ควรดูแลระบบการระบายอากาศภายในบ้านที่เหมาะสม เช่น พัดลม พัดลมระบายอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น และสังเกตอาการผิดปกติของผู้สูงอายุเป็นพิเศษ โดยโรคที่อาจเกิดกับผู้สูงอายุในช่วงอากาศร้อนได้คือโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก(Heat Stroke) แม้ว่าโรคนี้พบได้ไม่บ่อย แต่เมื่อเป็นแล้ว มักรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ กรมสบส.ได้ขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ให้เพิ่มการดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้านชุมชนที่รับผิดชอบ เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีอากาศร้อนจัด ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ตาก เลย หนองคาย สกลนคร กาญจนบุรี นครสวรรค์ เป็นต้น

ในการป้องกันโรคลมแดด ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงอยู่ในที่มีความร้อนสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ให้สวมเสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบา สีโทนอ่อนๆ เนื้อผ้าไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี ให้จิบน้ำเปล่าทีละน้อยแต่บ่อยๆ รวมแล้วให้ได้ 6-8 แก้วต่อวัน หรือวันละประมาณ 1,500 ซีซี. ประการสำคัญในสภาวะอากาศร้อน ผู้สูงอายุไม่ควรปล่อยให้ตนเองรู้สึกกระหายน้ำเป็นเวลานานเป็นอันขาด จะต้องดื่มน้ำเพิ่มเติมทันที เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย กรณีที่เดินทางขอให้พกน้ำสะอาดติดตัวไปด้วยเพื่อใช้จิบระหว่างทาง

“เครื่องดื่มคลายร้อนที่ผู้สูงอายุไม่ควรดื่มในช่วงอากาศร้อน เนื่องจากจะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้ มี 4 ชนิด ได้แก่น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โดยสารคาเฟอีนและแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นไห้ไตขับน้ำออกจากร่างกายมากกว่าน้ำที่ดื่มเข้าไปทำให้ปัสสาวะบ่อยและสูญเสียน้ำในร่างกายจะยิ่งขาดน้ำรุนแรงขึ้นไปอีก” นายแพทย์ภานุวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงเป็นโรคลมแดด ได้แก่ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน เป็นต้น สัญญาณอาการเฉพาะที่สังเกตได้ง่าย คือ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน อาการจะแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วไปซึ่งมักจะมีเหงื่อออกด้วย

นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า หากพบผู้สูงอายุเป็นโรคลมแดด การช่วยเหลือเบื้องต้น ขอให้นำตัวเข้าไปในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตามร่างกายให้ทั่วหรือใช้น้ำเย็นหรือน้ำธรรมดา ราดลงบนแขนขาไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายแล้วช่วยบีบนวด กระตุ้นการไหลเวียนเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ ไม่แนะนำให้นำผ้าเปียกห่มทับบนตัวผู้ป่วย เนื่องจากจะขัดขวางการระเหยของเหงื่อได้ช้าลง หากเป็นไปได้ให้ใช้ปรอทวัดไข้    วัดอุณหภูมิร่างกายเป็นพักๆ หากอุณหภูมิลดลงถึง 38-39 องศาเซลเซียส ให้ค่อยๆ ชะลอการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หากผู้ป่วยมีสติแล้วให้ดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำเย็นเป็นระยะๆ และหากยังไม่ดีขึ้นให้โทรแจ้งหน่วยแพทย์กู้ชีพหมายเลข 1669