“พิสิฐ”ห่วงพรก.เงินกู้ “คนตัวเล็ก” ไม่ได้ประโยชน์

27 พ.ค. 2563 | 13:22 น.

“พิสิฐ ลี้อาธรรม”ห่วงผู้ประกอบการรายเล็กไม่ได้ประโยชน์จาก “พ.ร.ก.เงินกู้” ทั้งกลัวว่า “ก.ก.กลั่นกรองอนุมัติเงินกู้”จะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่ส.ส.ลำพูนผวา “ฮั้วประมูล” 

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา “พ.ร.ก.เงินกู้” ในช่วงค่ำ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ อภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท โดยแสดงถึงข้อกังวลต่อการปฏิบัติและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งต้องการให้รัฐบาลระมัดระวังต่อการใช้เงินกู้ทั้งด้านการเงิน และการคลัง โดยเฉพาะกรณีของการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ

ปัจจุบันพบว่าธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับลูกค้าที่มีเรตติ้งดี และปิดโอกาสบริษัทรายเล็กไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของรับ ทั้งที่การช่วยเหลือดังกล่าวไม่ใช่การลงทุน ดังนั้น ไม่ควรกังวลต่อประเด็นเรตติ้ง

นอกจากนั้นแล้ว กรณีที่ พ.ร.ก.เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาก่อนอนุมัติเงินกู้ก่อนนั้น กังวลว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกรรมการที่แต่งตั้งนั้นมีตำแหน่งเป็นกรรมการกองทุน หรือมีส่วนในการบริหารของธนาคารพาณิชย์

“แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกนโยบายเพื่อผ่อนปรนดอกเบี้ย ไม่เพียงพอต่อความรุนแรงของสถานการณ์ อีกทั้งดอกเบี้ยที่ลดลงนั้นไม่ส่งผ่านไปยังระบบเท่าที่ควร ดังนั้น ต้องคำนึงถึงการลดดอกเบี้ยให้กับรายย่อย และคุมดอกเบี้ยส่วนต่าง”

นอกจากนั้น นายพิสิฐ ยังเป็นห่วงด้านนโยบายการคลัง ที่แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม จะย้ำถึงตัวเลขหนี้สาธารณต่อจีดีพี อยู่ที่ 57.96% เมื่อสิ้นปี 64 และเป็นไปตามการรักษาวินัยการเงินการคลังที่คุมตัวเลขไม่ให้สูงเกิน 60% แต่วิกฤตโควิด-19 รุนแรงมาก และเป็นเพียงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงต้นเท่านั้น

ดังนั้น อาจมีปัญหาเกิดขึ้น คือ ตัวเลขหนี้สาธารณะอาจจะสูงกว่าตัวเลขที่นายกฯ ระบุ เพราะหากกระทรวงการคลังคาดการณ์จีดีพีปีนี้ติดลบ 5.3% ขณะที่ปีหน้า จีดีพีจะโต 3% นั้น อาจประเมินดีเกินไป เพราะหากไม่โตตามที่ประเมินอาจทำให้ตัวเลขที่นายกฯ​ระบุนั้นผิดได้

นายพิสิฐ กล่าวว่า การเสนอ “พ.ร.ก.กู้เงิน” ขาดรายละเอียดชัดเจน มีเพียง 3 ตัวเลขทำให้ส.ส.ไม่สามารถตรวจสอบได้ และประชาชนเป็นห่วง ทั้งนี้หากขาดรายละเอียดจะทำให้การตรวจสอบยาก ดังนั้น เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายกระทรวงการคลังควรนำรายละเอียดชี้แจงต่อสังคม ขณะเดียวกัน ขอให้สภาฯ ได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบการใช้เงินกู้ โดยเฉพาะเงินจำนวน 4 แสนล้านบาท ว่า จะใช้ หรือจ่ายให้กับบุคคลใด

“วิกฤติโควิด ทำให้ประเทศไทยสูญเสียยรายได้ โดยเฉพาะจากการจัดเก็บภาษี ที่คาดว่า 7 เดือนที่ผ่านมา ทำให้สูญเสียรายได้ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะกระทบต่อหน่วยงานท้องถิ่นด้วย ที่ใช้เงินพัฒนาพื้นที่จากการจัดเก็บภาษี ดังนั้น เงินที่กู้ได้นั้นควรสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบด้วย

ขณะที่การดูแล “เกษตรกร” ผมขอเสนอให้ใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง แทนการใช้เงิน 4 แสนล้านบาทแบบเบี้ยหัวแตก และรัฐบาลถูกมองว่าของบประมาณไม่ได้ ต้องมาขอจากตรงนี้ ซึ่งผมว่าน่าเสียดาย”

ด้านนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่ง แสดงความกังวลว่า การใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้พิจารณาอนุมัตินั้น อาจทำให้เกิดประเด็นของการฮั้วประมูลขึ้นได้ เพราะตามระเบียบของคณะกรรมการฯ มีบทยกเว้นการใช้ข้อบังคับตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 109 ว่าด้วยการงดเว้นบทลงโทษผู้ที่ทิ้งงาน และการงดเว้นการใช้ระบบอีบิดดิ้ง ซึ่งถือว่าเป็นการออกระเบียบเพื่อเอื้อต่อการฮั้วประมูล

ทั้งนี้ข้อสังเกตของตนนั้นเคยเกิดขึ้นแล้ว กับการประมูลในพื้นที่ภาคใต้ ที่พบการใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ขอร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม  ขอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองโครงการตามเงินกู้ อีก 4 คน ที่เป็นภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมถึงให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้ายยและการบริหารพัสดุภาครัฐ