‘เมกาบางนา’ ซุ่มเนรมิตโฉมใหม่

30 พ.ค. 2563 | 03:17 น.

“เมกาบางนา” พร้อมเดินหน้าลงทุน “เมกาซิตี้” แม้ผลกระทบโควิด-19 ต้องปิดนานเกือบ 2 เดือน เผยใช้โอกาสปิดห้าง เร่งรีโนเวตพื้นที่ภายใน-นอก ก่อสร้างอาคารจอดรถใหม่ ด้วยงบเกือบ 2,000 ล้าน เล็งเปิดแผนลงทุนต่อในครึ่งปีหลัง

นางสาวปพิตชญา สุวรรณดี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเมกาบางนา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบทำให้ศูนย์ต้องปิดให้บริการราว 2 เดือน ตามมาตรการของภาครัฐ แต่นโยบายของบริษัทยังคงเดินหน้าขยายโครงการเมกาซิตี้ ในรูปแบบของมิกซ์ยูส บนถนนบางนา-ตราด ให้ศูนย์รวมการใช้ชีวิตครบวงจรทั้งที่อยู่อาศัย สำนักงาน โรงเรียน และสวนสาธารณะ โดยมีเมกาบางนาเป็นศูนย์กลางต่อไป

ปพิตชญา สุวรรณดี

 

“ในช่วงที่ศูนย์ปิดทำการ ก็ใช้เวลานี้ในการรีโนเวตพื้นที่ภายใน ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อให้โครงการเมกาซิตี้เดินหน้าต่อได้”

 

โดยเบื้องต้นบริษัทได้รีโนเวตสถาปัตยกรรมภายในอาคารศูนย์การค้าจนแล้วเสร็จในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมปรับภายนอกอาคารบริเวณโซนเมกา ฟู้ดวอล์ก ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2560 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Scandinavian Playground โดยนำเสนอสนามเด็กเล่นธรรมชาติขนาดใหญ่ พร้อมพื้นที่ธรรมชาติ สายน้ำ (stream valley) และบ่อทราย (sand dune) สวนต้นไม้มารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงไปแล้วกว่า 50% พร้อมจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายนนี้ โดยใช้งบลงทุนในการรีโนเวตทั้ง 2 ส่วน กว่า 800 ล้านบาท

‘เมกาบางนา’ ซุ่มเนรมิตโฉมใหม่

ขณะเดียวกัน ยังได้ทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารจอดรถแห่งใหม่ จำนวน 8 ชั้น เพิ่มที่จอดรถมากกว่า 2,000 คัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีที่จอดรถรวมกว่า 1.2 หมื่นคัน นอกจากนี้ในครึ่งปีหลัง บริษัทยังมีแผนลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะการร่วมกับพันธมิตรเปิดตัวแม็กเนตใหม่ที่จะมาตอกย้ำความเป็น มีตติ้งเพลส และรองรับ New Normal ของลูกค้าด้วย

อย่างไรก็ดี หลังจากกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง พบว่า มีร้านค้าที่เปิดให้บริการได้จำนวน 612 ร้านค้าจากจำนวนผู้เช่าทั้งสิ้น 652 ร้านค้า เหลือเพียงธุรกิจที่รัฐยังกำหนดให้ปิดบริการ เช่น โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส สถาบันกวดวิชา เป็นต้น หลังจากเปิดให้บริการพบว่า มีลูกค้ากลับเข้ามาใช้บริการคิดเป็น 80-85% ของช่วงเวลาปกติ

‘เมกาบางนา’ ซุ่มเนรมิตโฉมใหม่

“ช่วงที่ต้องชัตดาวน์ พบว่ามีร้านค้าที่สามารถเปิดให้บริการได้ เช่น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพียง 20% ลูกค้าทั้งหมด ขณะที่ผลกระทบต่างๆ ทำให้ศูนย์ต้องออกมาตรการช่วยเหลือผู้เช่า ทั้งการงดเก็บค่าเช่า สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้เปิดบริการ และการลดค่าเช่า ฯลฯ”

นางสาวปพิตชญา กล่าวอีกว่า เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคและ New Normal ศูนย์จึงร่วมกับร้านค้าผู้เช่า ปรับกลยุทธ์การดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งการต่อยอดความร่วมมือกับ Food Online Delivery Platform ทุกแพลตฟอร์ม สำหรับร้านค้าผู้เช่าในกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่ม เมกาบางนาเป็น “ฟู้ด เดสติเนชัน” ซึ่งปัจจุบันมีร้านอาหารกว่า 165 ร้าน นอกจากนี้ยังเน้น Omni Channel เชื่อมช่องทางออนไลน์และหน้าร้าน เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าแบบไร้รอยต่อ สำหรับร้านค้าผู้เช่าในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเมกาบางนาสนับสนุนบริการ Click & Collect เป็นการต่อยอดทางธุรกิจในการรวม retail และ logistics เข้าด้วยกัน

‘เมกาบางนา’ ซุ่มเนรมิตโฉมใหม่

“ในไตรมาสแรก พบว่าผลประกอบการของเมกาบางนาไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยมีการเติบโตคงที่ ไม่ได้ติดลบ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย อีกทั้งมีแผนเตรียมพร้อมรับมือ และด้วยมาตรการต่างๆ เชื่อว่าจะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น และกลับเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง เห็นได้จากช่วง 7 วันที่ผ่านมา หลังเปิดให้บริการ”

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563